ให้ประกัน “เพนกวิน-อั๋ว” ไม่ต้องวางหลักประกัน หลังอัยการยื่นฟ้อง 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #Saveวันเฉลิม – #24มิถุนา ปีที่แล้ว

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีจากการจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ทวงความเป็นธรรมให้กับการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 และคดีจากกิจกรรมการชุมนุม “อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ” เพื่อรำลึกอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน

สำหรับคดีแรกนั้น มีผู้ถูกดำเนินคดี คือ พริษฐ์, “อั๋ว” จุฑาทิพย์ สิริขันธ์​ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยจุฑาทิพย์เดินทางไปรับทราบข้อหาที่ สน.ปทุมวันในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

ภาพกิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม เมื่อ 5 มิ.ย. 63

ในคดีที่ 2 มีผู้ดำเนินคดี ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยทัตเทพเดินทางไปรับทราบข้อหานี้ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 และรายงานตัวกับพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63

ส่วนพริษฐ์นั้นถูกแจ้งข้อหาทั้ง 2 คดีนี้ ขณะถูกจับกุมในคดีจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก (18 ก.ค. 63) และสำหรับปนัสยาขณะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากทัณฑสถานหญิงกลางในคดีมาตรา 116 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังทั้งสองตัดสินใจอารยะขัดขืนการใช้กฎหมายในการปิดปากผู้เห็นต่างโดยไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก เมื่อเดือน มิ.ย. 63

สำหรับวันนี้ พริษฐ์และจุฑาทิพย์มารายงานตัวฟังคำสั่งอัยการ ส่วนปนัสยานั้น ยังไม่ได้รับหมายเรียกส่งตัวอัยการ แต่ในคำฟ้องกลับระบุไว้ว่า “ปนัสยานั้นหลบหนีและยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง” 

.

คดีที่ 1:  #Saveวันเฉลิม ทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า พริษฐ์ ชิวารักษ์ (จำเลยที่ 1) และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์​ (จำเลยที่ 2) กับนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พวกของจำเลยซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมา ได้ทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน

1. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีอยู่ได้ร่วมกันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่ออินเตอร์เน็ตที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้โพสต์เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย – Student Union Of Thailand ว่า “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #save วันเฉลิม, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนล่าสุดที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวานนี้ เขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายและยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้ชะตากรรมที่ไม่แน่นอน ผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นคนไทยและมีสิทธิ์ได้รับความเป็นธรรมเหมือนทุกคน เราจึงขอเชิญชวนทุกคนออกมาทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00-18.00 น. ณ skywalk หอศิลป์ โปรดเตรียมดอกไม้เพื่อร่วมทวงความเป็นธรรมให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน (มีมาตรการความปลอดภัยรองรับภายใต้โรคระบาดโควิด 19) #SUT #สนท”

ต่อมา ในวันที่ 5 มิ.ย. 63 เวลา 17.00-18.00 น. จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมวางแผ่นป้ายและถ่ายภาพ และกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ โดยเป็นการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้บุคคลตามภาพถ่ายที่ถูกวางไว้ดังกล่าว มีการชูป้ายข้อความและรูปนักกิจกรรม พร้อมตะโกน เซฟวันเฉลิม เชิญชวนผู้ร่วมชุมนุมวางดอกไม้แสดงความอาลัย ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงมีนักข่าว สื่อมวลชน ร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก ในลักษณะมั่วสุมประชุมกันและมีโอกาสสัมผัสติดต่อกันได้ง่าย อันเป็นการจัดกิจกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันหรือเจ้าพนักงานอื่นที่มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมาย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ระหว่างผู้ร่วมทำกิจกรรม นักข่าว และสื่อมวลชน อย่างน้อย 1 เมตร ไม่มีการจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดและวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าร่วม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค และใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลานาน

2. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 เวลา 17.00-18.00 น. จำเลยทั้งสองกับพวกได้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่เว้นระยะห่าง อันเป็นการมั่วสุมประชุมกันในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

3. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ร.ต.อ.ปรีชา เข็มศิริ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ขอให้จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษคดีอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานในการทำสำนวนการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 แต่จำเลยที่ 2 กลับฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานสอบสวน และไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ 

หากไล่เลียงข้อหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ทั้งคู่ถูกฟ้องใน 2 ข้อหา ได้แก่  จัดการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุม ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่จุฑาทิพย์ยังถูกฟ้องในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานด้วย

.

คดีที่ 2: “อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ” รำลึกอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพริษฐ์ ในฐานความผิด ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาด และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี​ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พวกของจำเลยซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมา ได้ทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 63 จำเลยและพวกได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาประเทศไทย – Student Union of Thailand เชิญชวนให้เข้าร่วมฟังประกาศคณะราษฎรอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย. 63 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน พร้อมระบุให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19

ในวันที่ 24 มิ.ย. 63 เวลาประมาณ 17.45 – 18.45 น. จำเลยกับพวกได้จัดกิจกรรมวางแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” พร้อมภาพประกอบ และกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และยังมีการชูป้ายข้อความต่างๆ พร้อมทั้งร่วมตะโกนว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร และเชิญชวนให้ประชาชนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ไปพร้อมกัน

ณ เวลาดังกล่าว มีประชาชนจำนวนมาก พร้อมกับนักข่าว สื่อมวลชนมาร่วมสังเกตการณ์ ในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย อันเป็นการจัดกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจําเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลปทุมวัน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมาย และไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วม ไม่มีการจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาด และวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื่อโรค อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลานาน

สำหรับเขตพื้นที่ที่จำเลยกับพวกจัดกิจกรรม ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ห้ามการชุมนุมและการทำกิจกรรมตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

2. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 เวลา 17.45 – 18.45 น. จำเลยกับพวกได้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่เว้นระยะห่าง อันเป็นการมั่วสุมประชุมกันในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

3. นอกจากนี้ จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันโฆษณา แสดงความเห็นแก่ประชาชน และเชิญชวนให้ประชาชนอ่านประกาศคณะราษฎร โดยใช้ไมโครโฟนลอยประกอบกับลำโพงขยายเสียง ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

4. จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันทิ้งและโปรยแผ่นกระดาษหรือใบปลิว ประกอบด้วยข้อความของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 บริเวณทางเดินสกายวอล์ค แยกปทุมวัน อันเป็นทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

หากไล่เลียงข้อหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องพริษฐ์ จะมีทั้งหมด 4 กรรม ใน 3 ข้อหา ได้แก่ จัดการชุมนุมและร่วมการชุมนุม ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10 

ก่อนการยื่นฟ้องคดีทั้งสองในวันนี้ คดีได้ขาดผัดฟ้องเนื่องจากรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม แต่รองอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยแล้ว 

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานอัยการระบุให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล และเนื่องจากพริษฐ์นั้นเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมหน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63, คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 63, คดีชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62 พนักงานอัยการจึงขอให้นับโทษจำคุกในทั้งสองคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกใน 3 คดีดังกล่าว

.

ศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมแต่งตั้งอาจารย์เป็นผู้กำกับดูแล

หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจุฑาทิพย์ในคดีกิจกรรม #Saveวันเฉลิม และพริษฐ์ในทั้งสองคดี พร้อมระบุเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวว่า พฤติการณ์ตามฟ้องถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สถานที่การชุมนุมนั้นมีลักษณะอากาศถ่ายเท ไม่มีความแออัด ไม่ใช่พฤติการณ์ที่เป็นการยุยง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งกิจกรรมยังมีมาตรการให้ใส่หน้ากากอนามัย 

คำร้องระบุอีกว่า จำเลยทั้งสองยังคงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าหากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะกระทบต่อการเรียน อีกทั้ง ปัจจุบัน ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำทั่วประเทศ หากจำเลยต้องถูกคุมขัง อาจกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของจำเลยได้ จึงขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน และจำเลยรับรองว่าจะเดินทางมาศาลตามนัดทุกนัด  

นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองได้ขอให้ศาลแต่งตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น ผู้กำกับดูแล ตามมาตรการของศาลในการปล่อยชั่วคราว โดยให้อาจารย์อดิศร จันทรสุข เป็นผู้กำกับดูแลของพริษฐ์ และอาจารย์อรอนงค์ ทิพย์พิมล เป็นผู้กำกับดูแลของจุฑาทิพย์ 

ต่อมา เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสอง โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกัน ถ้าหากผิดสัญญา ให้ปรับ 20,000 บาท พร้อมแต่งตั้งผู้กำกับดูแล และกำหนดเงื่อนไข ให้จำเลยรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุกเดือนโดยนัดหมายกันเอง

ศาลกำหนดนัดสอบคำให้การในคดีชุมนุม #Saveวันเฉลิม และคดีชุมนุม 24 มิ.ย. 63 ในวันที่ 1 ก.ค. 64 เวลา 10.00 น. 

สำหรับการจัดกิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉลิม หรือ #Saveวันเฉลิม เกิดขึ้นตั้งแต่มีข่าวการหายตัวไป ของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 โดยมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยใช้โบว์สีขาว เช่น กลุ่มสนท.ผูกโบว์ขาวที่รั้วกรมทหารราบที่ 11 และถูกเปรียบเทียบปรับข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาดในเวลาต่อมา, การจัดกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 และการยื่นจดหมายทวงถามความเป็นธรรมหน้าสถานทูตกัมพูชา โดย 4 นักกิจกรรมเครือข่าย People Go และ กป.อพช. และการชุมนุมทวงถามความเป็นธรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในวันที่ 8 มิ.ย. 63 อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีหน้าสถานทูตกัมพูชา อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดี แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี ทำให้ต้องมีการส่งสำนวนไปที่ทาง ผบ.ตร. เพื่อพิจารณามีความเห็นในคดีต่อไป 

ส่วนการจัดกิจกรรมรำลึกวันครบรอบ 88 ปีอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 มีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศไทย แต่มีความพยายามข่มขู่ และคุกคามผู้จัดกิจกรรมทั้งก่อนหน้าและจัดกิจกรรม และพบการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ถึง 2 คดี ได้แก่ กิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” ฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเช้ามืด และกิจกรรม  “อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้ง ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นเจ้าของประเทศ” ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ในช่วงเย็น สำหรับคดีแรกนั้น นักกิจกรรมทั้ง 7 ให้การรับสารภาพในชั้นศาล และถูกเปรียบเทียบปรับคนละ 500 บาท คดีจึงสิ้นสุดลง

>> ปรับ 7 นักกิจกรรมคนละ 500 กิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” ฉายโฮโลแกรมรำลึก88ปีอภิวัฒน์สยาม

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

88 ปี 24 มิ.ย.: ‘วันประวัติศาสตร์ชาติ’ที่ถูกห้ามรำลึกถึง กิจกรรม 21 จุดถูกปิดกั้นคุกคามทั่วไทย

X