8 เม.ย. 2565 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดพิจารณาคดีจากกรณีชุมนุม “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ซึ่ง 2 นักกิจกรรม ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ‘116’ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอีก 1 นักกิจกรรม “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา ‘112’ ด้วย โดยศาลนัดมาเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน
นอกจากนี้ อัยการยังนัด “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ มาส่งฟ้องต่อศาลใน 3 ข้อหา เหมือนปิยรัฐ ก่อนทนายความจะใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เพื่อขอประกันตัว หลังจากนั้นทั้งทนายจำเลยและอัยการต่างแถลงต่อศาลว่า เห็นควรให้รวมการพิจารณาคดีของพริษฐ์เข้าด้วยกันกับคดีของนักกิจกรรม 3 ราย ที่ฟ้องและศาลให้รวมพิจารณาคดีมาก่อนหน้านี้แล้ว ศาลจึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดี และนัดหมายทั้งสี่อีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค. 2565
.
.
นักกิจกรรมทั้ง 4 รายเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ 10.00 น. โดยพริษฐ์ต้องรออัยการมายื่นฟ้องก่อน ส่วนอีก 3 ราย ขึ้นไปห้องพิจารณาคดีที่ 3 ทั้งอัยการและทนายจำเลยต่างแถลงว่าวันนี้มีการสั่งฟ้องพริษฐ์ด้วย หากศาลรับฟ้อง เห็นว่าคดีนี้กับของพริษฐ์เกิดขึ้นในวันและเวลาเดียวกัน หากรวมการพิจาณาคดีน่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมากกว่า จึงขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน จนกว่ากระบวนการฟ้องคดีในส่วนของพริษฐ์จะเสร็จสิ้น จากนั้นปวีณา วิโรจน์ธนะชัย ผู้พิพากษา กล่าวว่า เมื่อคู่ความมีความประสงค์ให้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน จึงให้รอฟังผลการยื่นฟ่องคดีของพริษฐ์และให้คู่ความเข้าห้องพิจารณาคดีอีกครั้งในช่วงบ่าย
ระหว่างที่พริษฐ์รออัยการมายื่นฟ้องจนถึงราว 11.45 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ โทรศัพท์มาแจ้งทนายความว่า ให้พริษฐ์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ‘ดูหมิ่นศาล’ ที่มีเหตุจากการชุมนุม 22 ส.ค. 2563 เช่นเดียวกัน แต่ผ่านไปราว 5 นาที เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ กลับนำคำฟ้องมาถึงศาล วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความกล่าวว่า กระบวนการของทั้งอัยการและตำรวจค่อนข้างทำให้เพนกวินสับสนว่าจะทำอะไรก่อน และรู้สึกค่อนข้างเสียเวลาในการรอคำฟ้อง ทั้งๆ ที่สำนักงานอัยการและศาลจังหวัดอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร
.
.
หลังศาลรับฟ้องแล้ว พริษฐ์ต้องไปอยู่ในห้องควบคุมตัวของศาล ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เท่ากับเงินที่ใช้ประกันปิยรัฐในคดีนี้ พร้อมทั้งระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ปัจจุบันจำเลยเป็นนักศึกษา อยู่ระหว่างการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากไม่ได้เข้าเรียนหรือเข้าสอบ ย่อมส่งผลกระทบถึงสิทธิการศึกษาของจำเลยในการที่จะจบการศึกษาอย่างแน่นอน อีกทั้งจำเลยเคยถูกคุมขังในคดีของศาลอาญามาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 100 วัน รับรู้ถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตในเรือนจำ และความยากลำบากในการแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี ทำให้จำเลยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นไม่กระทำการใดอันเป็นการผิดเงื่อนไขของศาล
ในช่วงบ่ายระหว่างรอฟังคำสั่งประกันตัวของพริษฐ์ ศาลได้ออกพิจารณาคดีอีกครั้ง อัยการแถลงว่า ศาลรับฟ้องคดีของพริษฐ์แล้ว มีวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องในวันที่ 15 ส.ค. 2565 โจทก์จึงขอให้ศาลรวมพิจารณาคดีของพริษฐ์เข้ากับคดีของฉัตรชัย, วิศรุต และปิยรัฐ จึงขอเลื่อนการสอบคำให้การในนัดนี้ออกไป ส่วนจำเลยทั้งสามก็แถลงว่าต้องการให้รวมการพิจารณาคดีเช่นกัน ศาลจึงเห็นควรรวมการพิจารณาคดีและให้เลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 15 ส.ค. 2565 ตามที่คู่ความต้องการ ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัวพริษฐ์ในเวลา 15.45 น. โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ
สำหรับคำฟ้องที่วรสิทธิ์ วงค์บุญ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นฟ้องพริษฐ์ บรรยายเช่นเดียวกับคำฟ้องของปิยรัฐ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 พริษฐ์กับพวก ได้แก่ ฉัตรชัย, วิศรุต และปิยรัฐหรือโตโต้ จงเทพ ได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เพื่อการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ด้วยการโพสต์ส่งข้อมูลในเฟซบุ๊กเพจ “คณะอุบลปลดแอก” นัดหมายชุมนุมที่ศาลหลักเมือง
จากนั้น ในวันเกิดเหตุพริษฐ์และปิยรัฐได้ขึ้นปราศรัย มีการถ่ายทอดการปราศรัยทางเฟซบุ๊กเพจคณะอุบลปลดแอก โดยคำปราศรัยของพริษฐ์กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพและสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือฟ้องร้องมิได้ ทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง รวมทั้งกล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ
อัยการระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวมีลักษณะยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ประชาชนฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะก่อความไม่สงบและก่อความวุ่นวาย ทั้งยังน่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเป็นคําพูดปราศรัยในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันกษัตริย์
โดยโจทก์ถือว่าการกระทำของพริษฐ์เป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116(2)(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
ท้ายคำฟ้องระบุขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.283/2564 ของศาลอาญา (คดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) อีกด้วย
.
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112,116 พริษฐ์-ปิยรัฐ ชุมนุมอุบลฯ 22 สิงหา อีก 2 คน ถูกฟ้อง 116
.
เพิ่มอีกคดี ! ดูหมิ่นศาลฯ เพนกวินแจง เงื่อนไขศาลที่ให้ประกันตัว ไม่ควรอยู่เหนือกระบวนการต่อสู้ประชาธิปไตย
หลังจากพริษฐ์ได้ประกันตัวในคดี 112 ได้เดินทางพร้อมทนายความต่อไปที่ สภ.เมืองอุบลฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ดูหมิ่นศาล เมื่อไปถึงห้องสอบสวน คณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ว่า
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ผู้ต้องหากล่าวถ้อยคำให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่เวทีปราศรัย “เด็กพูด ผู้ใหญ่ฟัง” บริเวณข้างศาลหลักเมืองอุบลฯ ปรากฏตามคลิปวีดีโอการให้สัมภาษณ์และรายงานข่าวของสำนักข่าวเดลินิวส์ โดยตอบผู้สื่อข่าวในลักษณะยืนยันจะขึ้นปราศรัยบนเวที แม้ศาลมีเงื่อนไขการประกันตัว เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวขัดต่อสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการดังกล่าวและการต่อสู้ประชาธิปไตยสำคัญกว่าคำสั่งศาล และเมื่อนักข่าวถามอีกว่า เป็นการละเมิดคำสั่งศาลหรือไม่ พริษฐ์กล่าวว่าคำสั่งศาลที่ไม่มีความชอบธรรม ตนถือว่าเป็นคำสั่งโจร และไม่ยอมรับอยู่แล้ว
.
.
พนักงานสอบสวนระบุว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวท่ามกลางเสียงเชียร์จากผู้ชุมนุม เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา เป็นความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี”
บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังระบุว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมอบอำนาจให้ศาลจังหวัดอุบลราชธานี โดยปราเนียม เกตุสัญชัย ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับพริษฐ์ ตามหนังสือที่ ศย024/19388 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2563
พริษฐ์ให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาล หลังจากพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ ก่อนจะนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย. 2565 โดยเขาได้ใช้สัญลักษณ์ III แทนลายมือชื่อตัวเองในการรับทราบข้อหา
ทั้งนี้ความผิดฐานดูหมิ่นศาลฯ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 มีบทลงโทษต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตั้งแต่ 10.00-16.30 น. หลังเสร็จสิ้นกระบวนการอันยาวนานวันนี้ พริษฐ์ต้องเดินทางกลับกรุงเทพมหานครทันที เนื่องจากติดกำไล EM ที่ข้อเท้า ทำให้การเดินทางออกนอกพื้นที่ต้องขออนุญาตจากศาล และศาลอนุญาตให้แค่เดินทางไปในนัดพิจารณาคดีเท่านั้น พริษฐ์กล่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกเซอร์ไพรส์ในการมาอุบลฯ ครั้งนี้ นอกจากคดี 112 ที่เขาถูกฟ้องภายหลังคนอื่น เนื่องจากเพิ่งออกจากเรือนจำ ยังมีคดีหมิ่นศาลฯ อีกด้วย
เขาเพิ่งรู้ตอนอ่านบันทึกแจ้งข้อหาว่า มาจากสิ่งที่เราตอบถึงเงื่อนไขของศาลในระหว่างได้ประกันตัวหลังการปราศรัยชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ ตอนปี 2563 ด้วยรู้สึกว่าเงื่อนไขของศาลไม่ควรเหนือกว่ากระบวนการต่อสู้ประชาธิปไตย
เพนกวินยังกล่าวถึงความรู้สึกที่รอกระบวนการของอัยการและศาลในวันนี้ว่า รู้สึกเสียเวลา กลไกของรัฐที่ล่าช้าทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการต่อสู้คดี ตนยังโชคดีที่เดินทางโดยรถส่วนตัว หากเป็นประชาชนที่ต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ แล้วกะช่วงเวลาเสร็จสิ้นของการพิจารณาคดีของศาลไม่ได้ ก็คงลำบากในการเดินทาง
สำหรับคดีนี้ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมื่องอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 สนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สภ.เมืองอุบลฯ ได้ดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 4 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ผู้แจ้งการชุมนุม, วิศรุต สวัสดิ์วร พิธีกร 2 นักกิจกรรม คณะอุบลปลดแอก, พริษฐ์และปิยรัฐ ผู้ปราศรัย โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่เพียงมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
ต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับพริษฐ์ อีกทั้งเมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับปิยรัฐอีกคน โดยมีการส่งฟ้องปิยรัฐไปเมื่อเดือน ก.ย. 2564
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
.