“ไม่ได้! มันเป็นเชิงสัญลักษณ์”: ตร. ดำเนินคดี 3 นศ. ผูกโบว์ขาวประท้วงอุ้มหายวันเฉลิม

9 มิ.ย. 2563 ตั้งแต่ 13.00 น.เป็นต้นมา ตัวแทนนักศึกษาจากสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้จัดกิจกรรม “โบว์ขาวต้านเผด็จการ”  เรียกร้องความยุติธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกอุ้มหายเมื่อ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยตระเวนผูกโบว์สีขาวตามสถานที่สำคัญ เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงหน้ากระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารรายหนึ่งได้เข้าเจรจาให้นักศึกษานำโบว์ออกและห้ามว่า “ไม่ได้! มันเป็นเชิงสัญลักษณ์”

เมื่อนักศึกษามาถึงจุดสุดท้ายคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 20 ราย ได้ขอตรวจใบขับขี่และบัตรประชาชนของนักศึกษาผู้เป็นคนขับรถพาทำกิจกรรม จากนั้นล็อคล้อรถยนต์คันดังกล่าว แล้วแจ้งข้อหาจอดรถกีดขวางทางจราจรแก่นักศึกษาผู้ขับรถ จากนั้นตำรวจกล่าวว่า การผูกโบว์ขาวอาจเป็นการกระทำผิดมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ อีกหนึ่งข้อหา โดยตำรวจอ่านข้อความในมาตรา 12 ให้ฟังว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขูด กะเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท  แล้วควบคุมตัวผู้ทำกิจกรรม 3 คน ประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ ชนินทร์ วงษ์ศรีไป สน.สำราญราษฎร์

ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาผู้ขับรถ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 7 คน พยายามเชิญตัวไปให้ปากคำที่ สน.สำนักพระราชวัง แต่ปนัสยาปฏิเสธและได้ขับรถไปสมทบกับเพื่อนที่กำลังถูกพาไป สน.สำราญราษฏร์ ภายหลัง ปนัสยาถูกตำรวจ สน.สำราญราษฎร์เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 400 บาท ในข้อหากีดขวางทางจราจร  โดยตำรวจได้ขอดูสำเนาทะเบียนรถ ใบขับขี่และขอค้นรถ ซึ่งนักศึกษาและทนายความได้ถามหาหมายค้นจากตำรวจ จากนั้นใช้สิทธิปฏิเสธให้ค้นรถ 

ต่อมา รอง ผบช.น.2 เข้าร่วมประชุมสั่งการกรณีนี้ด้วยตนเอง หลังประชุมเสร็จเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อนักศึกษา 3 รายที่เหลือ ได้แก่ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ คณะศิลปศาสตร์, พริษฐ์ ชิวารักษ์ คณะรัฐศาสตร์ และ ชนินทร์ วงษ์ศรี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหา 1. ไม่แสดงบัตรประชาชน ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 17 และ 2. ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ มาตรา 39

ทั้งนี้  ก่อนผลสรุปเรื่องข้อกล่าวทั้งหมดจะปรากฎดังข้างต้น เจ้าหน้าที่ได้หารือถึงการแจ้งข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามชุมนุมต่อทั้งสามนักศึกษา และแจ้งข้อกล่าวหาโดยอ่านข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ให้นักศึกษาทั้งสามฟังแล้ว ทว่าภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจตัดข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออก แล้วแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ โดยคงเหลือไว้เพียง 2 ข้อกล่าวหาข้างต้น 

18.28 น. เจ้าหน้าที่เริ่มสอบคำให้การ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสามให้การว่า พวกตนต้องการแสดงออกต่อเรื่องการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากได้ทราบข่าวการถูกอุ้มหายวันเฉลิม เมื่อ 4 มิ.ย. 63 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักรู้และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกอุ้มหายและผู้ลี้ภัยทุกคน การผูกผ้าตามสถานที่ต่างๆเป็นเพียงการแสดงออกโดยหลังเสร็จกิจกรรมตั้งใจจะเก็บคืน แต่พวกตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเสียก่อน หลังจากให้การเบื้องต้น นักศึกษาทั้งสามให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนระบุว่าจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งภายใน 15 วัน 

19.35 น. ทาง จนท. ได้ขอถ่ายรูปรถของ นศ. โดยเปิดประตูเข้าไปข้างในรถ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมไปถึงบริเวณกระโปรงรถ อีกทั้งยังได้ถ่ายรูปของทะเบียนรถ โดยที่ในขณะที่ถ่ายรูปนั้น ไม่ได้มีทนายอยู่ร่วมด้วย มีแต่เพียงอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น 

20.00 น. นศ. ผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้รับการปล่อยตัว หลังจากนั้นได้ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ร่วมกับผู้มาเฝ้ารอติดตามคดีที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไม่ได้ศึกษาอยู่ เช่น ม.มหิดล และ ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมกันกับที่เทรนด์ทวิตเตอร์ #ปล่อยเพื่อนเรา กลายเป็นเทรนด์อันดับหนึ่ง 

ทั้งนี้ กำหนดนัดส่งสำนวนให้อัยการจะมีขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 9:00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์

“เพราะเราทุกคนอยู่ในสังคมที่ไม่ต่างไปจากวันเฉลิม”

หลังการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อ 4 มิ.ย. 63 การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ได้ผุดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรม “โบว์ขาวต้านเผด็จการ” โดย สนท. นับเป็นกิจกรรมหนึ่ง เริ่มมาตั้งแต่ 7 มิ.ย. 63 โดย สนท. เชิญชวนประชาชนร่วมผูกริบบิ้นสีขาวไว้ที่รถ รั้วบ้าน หรือที่อื่นๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นๆ  โดยให้เหตุผลการจัดกิจกรรมว่า “เพราะเราทุกคนอยู่ในสังคมที่ไม่ต่างไปจากวันเฉลิม” โดยโบว์ขาวเริ่มปรากฏในพื้นที่หลายแห่ง เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท ประตูน้ำ จนถึงแยกราชประสงค์  ตั้งแต่ 8 มิ.ย. 63 เป็นต้นมา

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

ครอบครัวยื่นหนังสือ กต.-กมธ. เร่งติดตาม-สืบสวน หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหายหน้าที่พัก 5 วันแล้ว

ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมิน ‘กูต้องได้ 100 ล้านฯ’ ถูกอุ้มหาย ขณะคดีแชร์เพจถึงที่สุด ศาลยกฟ้อง

X