2 พ.ย. 2563 ศาลแขวงดุสิตนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การในคดีฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปีอภิวัฒน์สยาม ในการชุมนุม #ลบยังไงก็ไม่ลืม เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิ.ย. 2563 บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นักกิจกรรม 7 คน จำเลยในคดีนี้มาศาลพร้อมทนายความ โดยอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกขังในระหว่างสอบสวนคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วย
คดีนี้ นายสมโชค ศรีถาวร พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ฟ้อง อานนท์ นำภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, กรกช แสงเย็นพันธ์, อานันท์ ลุ่มจันทร์, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ และปิยรัฐ จงเทพ ใน 3 ข้อหา ได้แก่
- ร่วมกันตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19
- กีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385
- กระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114
ส่วนอานนท์ถูกฟ้องในข้อหา ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 อีกข้อหาหนึ่งด้วย โดยทั้งหมดเป็นข้อหาที่มีเพียงโทษปรับ
หลังศาลออกพิจารณาคดีและถามคำให้การ จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลแล้ว มีเนื้อหาว่า “จำเลยทั้งเจ็ดขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในคดีนี้เป็นเพียงการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในวันรำลึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 อันเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือภัยอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม จำเลยทั้งเจ็ดจึงขอศาลรอการกำหนดโทษหรือลงโทษสถานเบา”
จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของจำเลยที่ 2-6 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 1,000 บาท รับสารภาพลดโทษลงครึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลลงโทษในความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ อีก 1 กระทง ปรับ 200 บาท รวมปรับ 1,200 บาท รับสารภาพลดโทษลงครึ่งหนึ่ง คงปรับ 600 บาท
คำฟ้องในคดีนี้ระบุถึงเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 จำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันกางจอผ้าสีขาว พร้อมด้วยหมุดคณะราษฎรจำลองบนทางเดินรถ มีการวางเครื่องฉายโฮโลแกรมบริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินกลาง ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วจึงทำการฉายโฮโลแกรมการอ่านประกาศคณะราษฎรลงบนจอผ้าประกอบกิจกรรม “ลบยังไง ก็ไม่ลืม” ซึ่งเป็นการตั้งวางสิ่งของในพื้นที่ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงาน มีลักษณะกีดขวางทางจราจรสาธารณะ ซึ่งจำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางเจ้าพนักงาน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
สำหรับกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” นำโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ปี 2475 โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิ.ย. 2563 เพื่อจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรอันเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
คณะผู้จัดได้ฉายภาพโฮโลแกรมจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อ 88 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาย่ำรุ่งช่นเดียวกับตอนที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศฉบับนี้ หลังจากนั้น จึงนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาวางไว้บนถนนเมื่อฉายภาพเสร็จ และเวลา 05.40 น. กิจกรรมทั้งหมดก็เสร็จสิ้นลง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบที่จับตาดูอย่างใกล้ชิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
88 ปี 24 มิ.ย.: ‘วันประวัติศาสตร์ชาติ’ที่ถูกห้ามรำลึกถึง กิจกรรม 21 จุดถูกปิดกั้นคุกคามทั่วไทย
ทนายอานนท์และอีก 5 ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเหตุจัดกิจกรรม 24 มิ.ย. “ลบยังไงก็ไม่ลืม”
สั่งฟ้อง 7 ผู้จัดฉายโฮโลแกรมประกาศคณะราษฎร 24 มิ.ย. ศาลนัดพร้อมตรวจหลักฐาน 2 พ.ย.