เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ศาลชี้ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้

หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดพะเยามีคำพิพากษายกฟ้องคดี #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่ประชาชน 4 คน ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมสาธารณะที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่า ได้ร่วมกันมั่วสุม ชุมนุมทำกิจกรรมปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล บริเวณป้ายมหาวิทยาลัยพะเยา ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในสถานที่แออัด หรือเป็นการกระทำในอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน 2563

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ตลอดจนชั้นศาล เนื่องจากการกระทำไม่เป็นความผิดตามกฎหมายมาแต่แรก จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาหลังคดีดำเนินมากว่า 1 ปีครึ่ง

.

.

คำพิพากษายกฟ้อง แบ่งประเด็นวินิจฉัยออกเป็น 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ศาลเห็นว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ลงนามโดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับใช้  

ศาลเห็นว่า แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 10 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แทนได้ แต่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 กลับมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เพียงประกาศกำหนดเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น

แม้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 10 วรรคสอง กำหนดให้ในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงมีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสมในการจัดให้มีมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค แต่มาตรการดังกล่าวต้องมีลักษณะทำนองเดียวกับการจัดเวรยามหรือตั้งด่าน หรือจุดสกัด เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าวเท่านั้น ส่วนการกระทำดังกล่าวนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมายใดย่อมต้องพิจารณาเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และข้อ 10 วรรคสอง หามีการมอบอำนาจให้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงจึงไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้ามเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดดังกล่าว

ฉะนั้น ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ในส่วนที่ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่มีผลบังคับใช้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือไม่

.

ประเด็นที่สอง การชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัดหรือไม่นั้น เห็นว่ากรณีฟังไม่ได้ว่าสถานที่ชุมนุมมีสภาพเป็นสถานที่แออัด

ศาลเห็นว่า “สถานที่แออัด” หมายถึง สถานที่ซึ่งมีผู้ชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมอยู่กันอย่างหนาแน่นตลอดพื้นที่ในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกันเท่านั้น โดยไม่ได้หมายความรวมถึงกรณีที่มีการรวมกลุ่มใกล้ชิดกันในพื้นที่ เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุม

เมื่อพิเคราะห์สำเนาภาพถ่ายและบันทึกภาพเคลื่อนไหว พบว่าสถานที่เกิดเหตุมีพื้นที่เหลืออยู่มาก ผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก กรณีฟังไม่ได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่แออัด

.

ประเด็นที่สาม ถ้อยคำปราศรัยในการชุมนุมเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจรัฐตามวิถีแห่งประชาธิปไตยพึงกระทำ ไม่พบว่ามีลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด

ศาลเห็นว่า แม้โจทก์มีบันทึกคำให้การพยานระบุทำนองเดียวกันว่า ผู้ปราศรัยใช้ถ้อยคำปลุกเร้าอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ก็เบิกความว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้เจ้าพนักงานรัฐหยุดคุกคามประชาชน โดยผู้ปราศรัยเพียงแต่โจมตีการทำงานของรัฐบาลแต่ไม่มีการใช้ถ้อยคำยุยงปลุกปั่นให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การพยานโจทก์ พบว่าบางส่วนมีถ้อยคำเหมือนกันทุกตัวอักษรในลักษณะคัดลอกกันมา จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าพยานให้การในชั้นสอบสวนเช่นนั้นจริงหรือไม่ ประกอบกับถ้อยคำปราศรัยบางส่วนจากบันทึกภาพเคลื่อนไหวในวัตถุพยานของโจทก์ เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจรัฐตามวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ไม่พบว่ามีลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอรับฟังว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

คำพิพากษาลงนามโดย นายฟารีส อินาวัง

.

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

.

หลังจากการต่อสู้คดีมาเป็นเวลากว่าปีครึ่ง จำเลยทั้งสี่ได้รับผลกระทบทั้งด้านความกังวล ด้านเศรษฐกิจ และอาชีพการทำงานอย่างมาก เนื่องจากต้องลางานมาตามนัดทั้งตำรวจ อัยการ ศาล มากกว่า 10 ครั้ง สร้างความเหนื่อยล้าและค่าใช้จ่ายที่เสียไปจากการเดินทางมาตามนัดต่างๆ โดยมีกรณีธนวัฒน์ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยาเป็นหลักด้วย

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลพิพากษายกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ชี้ไม่ได้ชุมนุมแออัด เพียงวิจารณ์รัฐบาลตามระบอบ ปชต.

เปิดบันทึกสืบพยานคดีชุมนุม “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ปี 63 จำเลยยืนยันไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลนัดพิพากษา

18 วันสู่การฟ้อง กับ 6 ชั่วโมงในห้องขัง: คุยกับ “มนตรา” นักวิชาการผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X