ศาลพิพากษายกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ชี้ไม่ได้ชุมนุมแออัด เพียงวิจารณ์รัฐบาลตามระบอบปชต.

10 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดพะเยา มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชน 4 ราย ได้แก่ ชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเรียกร้อง 3 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม

ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.แม่กา จังหวัดพะเยา ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 6 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา รวมทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา ด้วย แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดีของทั้งสองคน เนื่องจากในขณะนั้นทั้งสองยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานอัยการจึงส่งฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 4 ก่อน

กระทั่งระหว่างวันที่ 2 – 4 ก.พ. 2565 มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไปจนเสร็จสิ้น ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

> เปิดบันทึกสืบพยานคดีชุมนุม “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ปี 63 จำเลยยืนยันไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลนัดพิพากษา

.

ศาลพิพากษายกฟ้อง พิจารณา 3 ประเด็น ชี้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ใช่สถานที่แออัด

ในวันนี้ ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษา โดยพิจารณาแยกเป็น 3 ประเด็น โดยสรุประบุว่า

ประเด็นแรก มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เห็นว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหรือไม่

ประเด็นที่สอง มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่นั้นเห็นว่า เป็นสถานที่โล่งแจ้ง มีพื้นที่เหลืออยู่มาก ผู้เข้าร่วมมีมาตรการป้องกันตัวเอง จึงไม่ถือว่าเป็นสถานที่แออัด

ประเด็นสุดท้าย มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 จัดกิจกรรมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ระบุว่าจำเลยใช้ถ้อยคำปลุกเร้าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมเป็นเพียงการเรียกร้องกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม ไม่มีถ้อยคำเป็นการยุยงปลุกปั่น และไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น จึงเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งบันทึกถ้อยคำของตำรวจ มีลักษณะเหมือนคัดลอกกันมา ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น

ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4

ทั้งนี้ประเด็นคำพิพากษาเป็นไปโดยสรุป รอติดตามคำพิพากษาฉบับเต็มต่อไป

.

.

ความรู้สึกของจำเลยทั้ง 4 หลังฟังคำพิพากษายกฟ้อง

หลังผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสี่ได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็นต่อคำพิพากษา และความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาทั้งสี่อย่างมาก ก่อนจะมีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้

คิดเห็นอย่างไรกับคำพิพากษาในวันนี้

ศิริวัฒน์: “ผมมองว่า ศาลใช้ดุลยพินิจถูกต้องแล้ว เรามองว่าเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่”

มนตรา: “ศาลตัดสินอย่างเป็นธรรมตามหลักการ ตามความเป็นจริง ด้วยหัวใจที่เป็นธรรม แต่คิดว่าจริงๆ ตำรวจ อัยการ ไม่ควรดำเนินคดีเรามาตั้งแต่แรก”

ธนวัฒน์: “คิดว่าเขาคืนความเป็นธรรมให้เรา แต่ไม่ได้คืนโอกาสที่เราเสียไป ทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน โอกาสเชิงเศรษฐกิจที่เสียเงิน เสียเวลาไป จริงๆ แล้วเราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีบางคนในกระบวนการยุติธรรมที่เขาจะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เราหวังว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมมันเป็นธรรมตั้งแต่แรก มันทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก คดีนี้จะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

“เราคาดหวังว่ากระบวนการยุติธรรมของบ้านเราจะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมกับประชาชนจริงๆ และหวังว่าในอนาคตเราจะมีคนในกระบวนการยุติธรรมนี้ที่คำนึงถึงความถูกต้องและประชาชน มากกว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ ผมหวังว่ากระบวนการเหล่านี้จะถูกแก้ไข และจะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้อีกครั้ง”

ชินภัทร: “ผมเพิ่งโดนคดีเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกศาลพิพากษาได้สมเหตุสมผลแล้ว แต่ก็เสียโอกาสหลายอย่างไม่ว่าเป็นเรื่องงาน เงิน แต่ก็คิดว่าเราไม่ผิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การดำเนินคดีไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก”

.

คิดอย่างไรกับกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจ อัยการที่มีการดำเนินคดีนี้

ศิริวัฒน์: “ก่อนถึงชั้นศาล ก่อนจะมีคำพิพากษา ผู้ถูกดำเนินคดีตกระกำลำบากมามากแล้ว จริงๆ เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง”

มนตรา: “มีคนสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ใช้อำนาจให้เรากลัว มันเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง จริงๆ ตำรวจมีหน้าที่พิทักทักษ์สันติราษฎร์ให้ประชาชน อยากฝากถึงตำรวจ ว่าการจะฟ้องใครสักคน จะต้องไม่เพียงแต่ทำตามคำสั่งนาย ขอให้คิดไตร่ตรองสักนิด เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไม่ใช่พิทักษ์นาย มันจะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอารยะมากขึ้น”

ศิริวัฒน์: “ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม อัยการควรมีดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้อง โดยปกติอัยการมักจะอ้างว่าทำตามหน้าที่ โดยไม่ได้มีดุลยพินิจหรือวิจารณญาณเป็นของตัวเองว่าสมควรสั่งฟ้องหรือไม่”

“มันเป็นปกติของระบบราชการที่มีระบบการสั่งการ เลยทำให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ กรณีที่มีคำสั่งให้ดำเนินคดีจากผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้ดำเนินคดีกับคนกลุ่มเหล่านี้ ถ้าไม่ฟ้องตำรวจ อัยการเดือดร้อนแน่ มันจึงเป็นเรื่องที่ลำบากในการใช้ดุลยพินิจ แม้ในบางครั้งเขาก็รู้ว่าถ้าใช้ดุลยพินิจตามหลักความเป็นธรรมเขาไม่น่าจะเอาผิดได้ แต่เขาไม่ทำเพราะเขากลัวจะเดือดร้อนจากระบบราชการที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นปกติของระบบราชการภายใต้ระบอบการปกครองลักษณะนี้”

มนตรา: “ผมยังเชื่อว่าระบบราชการยังสั่งการได้ แต่เราจะต้องกล้าที่จะไม่ทำคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม แม้จะเหนื่อยหรือยากลำบาก แต่งานราชการจะต้องทำเพื่อประชาชนมีความสุข มันอาจจะยากแต่จะต้องทำ”

.

ตั้งแต่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาจนถึงศาลพิพากษา ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ธนวัฒน์: “ผมทำงานอยู่กรุงเทพฯ การเดินทางมาศาลทำให้เสียเวลาในการทำงาน เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีการเยียวยาค่าเสียหาย ยังมีเหตุการณ์โควิดที่ทำให้คดีเลื่อนหลายครั้ง ตั้งแต่นัดตำรวจ อัยการ ศาล โดยเฉพาะศาลเลื่อนไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง โดยรวมต้องเดินทางมาพะเยาประมาณ 10 ครั้ง แต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายก็เกือบหมื่น”

ศิริวัฒน์: “ได้รับผลกระทบแน่นอน เรื่องอาชีพ การงาน การทำมาหากิน ถ้าศาลนัดเราก็จำเป็นต้องมา ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย แต่ว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราเห็นว่าการบริหารประเทศในลักษณะแบบนี้มันเป็นปัญหาต่อประชาชน เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะดูอยู่เฉยๆ มันคงไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วจะตกเป็นเป้า เราก็ต้องออกมา มันก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดี มันก็มี แต่จะทำให้กลัวแล้วไม่กล้าออกมาต่อสู้มันคงไม่ใช่วิสัยของเรา ถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหวในการที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วใครจะทำ”

.

การถูกฟ้องคดีทำให้รู้สึกกลัวและจะไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นไหม

ศิริวัฒน์: “ผมมองว่าเขาไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแนวความคิดหรือเปลี่ยนอุดมการณ์ ทัศนคติต่างๆ ของผมได้นะ แต่ตอนนี้ก็คงต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวในลักษณะที่อาจถูกดำเนินคดี ยังมีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่จะให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนได้อีกมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

มนตรา: “ผมว่าความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การต้องมาปราศรัยอย่างเดียว เราสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือใช้ชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลมาควบคุม แต่เป็นบริบทที่มีไวรัสโคโรนาเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นพะเยาเลยไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากนัก”

.

อ่านเรื่องราวในคดีก่อนหน้านี้

18 วันสู่การฟ้อง กับ 6 ชั่วโมงในห้องขัง: คุยกับ “มนตรา” นักวิชาการผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

X