วันที่ 10 มี.ค. 2565 นี้ ศาลจังหวัดพะเยานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 4 ประชาชน ได้แก่ ชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรมการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563
คดีนี้ ศาลเลื่อนการสืบพยานมาจากช่วงปี 2564 โดยได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จไประหว่างวันที่ 2 – 4 ก.พ. 2565
ข้อต่อสู้สำคัญในคดีนี้ของจำเลยทั้งสี่ คือ การยืนยันว่าการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวในทุกๆ ด้านของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเรียกร้อง 3 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ขัดต่อข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การชุมนุมเกิดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้งไม่แออัด และประชาชนก็ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัย ประกอบกับในช่วงที่เกิดการชุมนุมขึ้นก็ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมหรือในจังหวัดพะเยาแม้แต่รายเดียว และการชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ จึงเป็นกิจกรรมซึ่งนับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ
.
ภาพรวมการสืบพยาน: สืบพยานโจทก์ 9 ปาก พยานจำเลย 4 ปาก
สำหรับการสืบพยานที่เกิดขึ้น อัยการจังหวัดพะเยาได้กำหนดนำพยานโจทก์เข้าเบิกความด้วยกันทั้งหมดจำนวน 10 ปาก แต่มีพยานโจทก์ 1 ปาก คือ พ.ต.ท.พัสกร ธวัชเชียงกุล ผู้จัดทำรายงานการสืบสวนและถอดเทปบันทึกถ้อยคำปราศรัยในการชุมนุม ที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากต้องกักตัวเพราะได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยหลังอัยการให้ทนายความอ่านคำให้การในชั้นสอบสวนแล้ว เห็นว่ายอมรับคำให้การได้ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อจำเลยแต่อย่างใด ทำให้ไม่ต้องนำขึ้นเบิกความต่อศาล
สรุปจึงเหลือพยานโจทก์จำนวน 9 ปาก แบ่งออกเป็นพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจาก สภ.แม่กา, ชุดสืบสวนตำรวจ สภ.เมืองพะเยา, ชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา, เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล, เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหาร มณฑลทหารบกที่ 34, ปลัดอำเภอเมืองพะเยา, เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยพะเยา, พ่อค้าขายของบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา และสุดท้ายคือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี
ด้านจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 6 ปากด้วยกัน ได้แก่ ตัวจำเลยทั้ง 4 ราย, อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
.
.
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาล ปลัด และทหาร ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสังเกตการชุมนุม ทั้งแสดงตัวและแฝงตัวร่วมกับผู้ชุมนุม
อัยการโจทก์ เริ่มต้นการสืบพยานโดยการนำพยานปากเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายต่างๆ ที่ทราบข่าวการชุมนุมและได้รับคำสั่งให้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเข้าเบิกความ โดยมี พ.ต.ท.จารุวัจน์ สุปินะ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.แม่กา, พ.ต.ท.ประวิทย์ งานดี สารวัตรสืบสวน สภ.จุน , ร.ต.ท.เกียรติพงษ์ โภชน์เจริญ ชุดสืบสวน สภ.เมืองพะเยา, ร.ต.อ.สมบัติ โพนทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล กองกำกับการตำรวจตำรวจสันติบาล 1, จ.ส.อ.อรรถวัต มูลสาร เจ้าหน้าที่ทหารกองข่าว มณฑลทหารบกที่ 34 และนายยุรนันท์ จอมมิ่ง ปลัดอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา
พ.ต.ท.จารุวัจน์ สุปินะ พยานโจทก์ปากที่ 1 ได้เบิกความว่าขณะเกิดเหตุในคดีนี้ได้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้มีการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ สถานที่แออัด หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย โดยต่อมามีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกมา ครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่มีการชุมนุมในคดีนี้ด้วย
นอกจากนั้นแล้วพยานโจทก์เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 6 ปาก เบิกความตอบอัยการในลักษณะคล้ายกันว่า ได้รับทราบว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชน ใช้ชื่อว่า “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” บริเวณลานหน้าป้ายมหาวิทยาลัยพะเยา ในวันที่ 27 ก.ค. 2563 จากนั้นจึงได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น พยานทั้ง 6 ราย ได้เดินทางไปพื้นที่ชุมนุมตามคำสั่ง โดยวันดังกล่าวมีทั้งเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบเข้าไปสืบสวนหาข่าวและถ่ายรูปกิจกรรม บ้างเว้นระยะห่างกับผู้ชุมนุม บ้างปะปนร่วมอยู่กับผู้ชุมนุมด้วย
ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่าการชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน มีการปราศรัย “โจมตี” การทำงานของรัฐบาลและเรียกร้องข้อเสนอ 3 ข้อ พยานทั้ง 6 ปากยืนยันว่าพบเห็นชินภัทรและธนวัฒน์ เพียงเข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่ได้ปราศรัย ส่วนมนตราและศิริวัฒน์ ได้ร่วมปราศรัยในกิจกรรม อีกทั้งลักษณะการชุมนุมโดยรวมมีการนั่งใกล้ชิดกันเป็นกลุ่มๆ มีบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย กิจกรรมใช้เวลาประมาณช่วง 17.00 -19.45 น. จึงยุติลง
.
เจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด ผู้ชุมนุมอยู่ในลานโล่งแจ้ง ส่วนใหญ่สวมใส่แมส การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ
ในขณะที่ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานต่อจากอัยการ โดยพยานทั้ง 6 ปาก ตอบคำถามค้านยอมรับในทำนองเดียวกันโดยสรุปว่า สถานที่เกิดเหตุในคดีนี้ เป็นลานโล่งกว้าง ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ลักษณะการชุมนุมไม่ได้เป็นไปโดยเบียดเสียด ผู้เข้าร่วมสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ตามสะดวก ในการชุมนุมไม่มีการปราศรัยยุยงให้ผู้เข้าร่วมไปกระทำความผิดกฎหมายหรือก่อความไม่สงบ และหลังการชุมนุมยุติ ก็ไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นแต่อย่างใด การชุมนุมยังใช้เวลาไม่นาน เพียงประมาณ 2 ชั่วโมง
ทนายความจำเลยยังได้ให้พยานดูรายงานของสาธารณสุขจังหวัดพะเยาที่ระบุว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการชุมนุมคดีนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดพะเยาแม้แต่รายเดียว พยานก็ได้ยืนยันตามเอกสารดังกล่าว
อีกทั้ง พยานปากเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ก็ระบุว่า ไม่ทราบว่ากิจกรรม “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ใครเป็นผู้จัด ไม่ทราบว่าใครมีหน้าที่จัดการในการชุมนุมอย่างไร และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีพฤติการณ์แสดงว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม นอกจากจำเลยทั้งสี่แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ “ฝ่ายการข่าว” ได้ถ่ายรูปภาพไว้ และมีผู้ปราศรัยคนอื่นๆ ด้วย แต่พยานไม่ทราบว่าทำไมจึงดำเนินคดีเฉพาะกับจำเลยทั้งสี่คนในคดีนี้
นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์ได้จัดส่งต่อศาล ที่เป็นภาพถ่ายของผู้เข้าร่วมการชุมนุมแบบเจาะจงบุคคลและภาพบรรยากาศการชุมนุม ยังมีภาพถ่ายการประชุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาล ฝ่ายปกครอง และทหาร ที่ระบุว่าเป็นการประชุมรับมือการชุมนุม “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเข้าร่วมการประชุม
ทนายความจำเลยจึงได้ถามพยานว่า หากเปรียบเทียบเรื่องสถานที่ต่อความแออัดแล้ว การประชุมของเจ้าหน้าที่รัฐกับการชุมนุมของประชาชน สถานที่ใดเป็นสถานที่แออัดและมีลักษณะปิดมากกว่ากัน พยานส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ทราบและไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่เกิดขึ้น มีเพียงพยานปาก พ.ต.ท.ประวิทย์ งานดี ที่ได้ตอบคำถามติงของอัยการว่า การประชุมในภาพกับการชุมนุมของประชาชนต่างกันตรงที่การชุมนุมของประชาชนไม่มีมาตรการคัดกรอง ผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัยไม่ทุกคน แต่การประชุมของเจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรการคัดกรองและสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน
อีกทั้ง หลังมีการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความได้ 2-3 ปาก ทนายจำเลยสังเกตเห็นว่าบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาล และทหาร เกือบทั้งหมดที่อัยการยื่นส่ง มีความเหมือนกันทุกถ้อยคำและตัวอักษร
ทนายความจำเลยจึงได้สอบถามพยานปาก จ.ส.อ.อรรถวัต มูลสาร เจ้าหน้าที่ทหารกองข่าว มณฑลทหารบกที่ 34 ว่าคำให้การของพยาน พนักงานสอบสวนได้จัดพิมพ์มาให้พยาน หรือพยานได้ให้การแล้วพนักงานสอบสวนพิมพ์ไว้ พยานระบุว่าเป็นการพิมพ์ต่อหน้า ทนายจำเลยจึงได้ให้พยานดูคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนหนึ่งแล้วถามพยานว่ามีความเหมือนกันทุกตัวอักษรใช่หรือไม่ พยานระบุว่าใช่
หลังการถามค้าน อัยการจึงได้มาถามติงว่า คำให้การของพยานนั้นเป็นการตอบพนักงานสอบสวนบางส่วนและบางส่วนพนักงานสอบสวนพิมพ์เอง โดยที่พยานได้อ่านทบทวนก่อนลงลายมือชื่อแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
.
.
พยานพนักงานมหาวิทยาลัยพะเยา และพ่อค้าขายของ เพียงเข้ายืนยันตัวบุคคล
นอกจากพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว อัยการยังได้นำพยานบุคคลธรรมดา 2 ปากเข้าเบิกความ โดยพยาน 1 ปากได้แก่ นายชัยวัฒน์ ชูเชิด พนักงานมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือเรียกให้ไปยืนยันตัว รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จากภาพถ่ายบุคคลในการชุมนุม โดยพยานไม่ได้ไปในพื้นที่การชุมนุมแต่อย่างใด
ในส่วนการตอบคำถามค้านของทนาย พยานได้ให้การถึงพฤติการณ์ของมนตราว่า เป็นคนดี มีนิสัยจริงจังเอาการเอางาน พูดแล้วสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่นการขอตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ที่อาจารย์มนตราจะก็สามารถทำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
ส่วนพยานอีก 1 ปาก คือ นายนิกร แซ่ผู่ เป็นพ่อค้าอยู่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่ได้ไปดูการชุมนุมในวันดังกล่าวด้วย เห็นผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยพยานตั้งใจไปดูพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ผู้ต้องหาในคดีนี้เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ได้ฟังการปราศรัยของเพนกวินเรื่องการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลและข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วเดินทางกลับไม่ได้อยู่ดูการชุมนุมจนจบ
ด้านทนายความจำเลยได้ถามค้านพยานว่า ในคำให้การของพยานนั้นมีการกล่าวถึง รศ.ดร.มนตรา จำเลยในคดีนี้ด้วยนั้นพยานจำได้หรือไม่ พยานระบุว่าจำไม่ได้
.
พนักงานสอบสวนยืนยันคำให้การพยานในคดีเป็นการถามตอบและพิมพ์ ไม่ใช่การจัดพิมพ์ไว้ก่อนแล้ว
พยานโจทก์ปากสุดท้ายที่ถูกนำขึ้นเบิกความต่อศาล คือ ร.ต.อ.ศุภโชค สวนพืช พนักงานสอบสวน เบิกความถึงการรับแจ้งความร้องทุกข์คดีนี้โดย พ.ต.ท.จารุวัจน์ สุปินะ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.แม่กา มีการร้องทุกกล่าวโทษผู้ต้องหา 5 ราย ในข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุม ณ สถานที่แออัด ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจรายอื่นๆ โดยส่วนของพยานปากนี้ยังได้มีการสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยพะเยาว่า ได้มีการขออนุญาตใช้สถานที่ก่อนการชุมนุมหรือไม่ และสอบถามเทศบาลนครพะเยาว่าได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ พยานได้รับคำตอบว่าไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด
หลังจากนั้น พ.ต.ท.จารุวัจน์ ยังได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับผู้ต้องหาอีก 1 ราย คือ รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล พยานก็ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา และมีการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา
ร.ต.อ.ศุภโชค ได้ทำการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องหลายปากด้วยกัน โดยการสอบปากคำเป็นการถามตอบไปพร้อมกับการพิมพ์บันทึกของพยาน เมื่อเสร็จแล้วก็มีการอ่านให้ฟังก่อน จึงให้ลงลายมือชื่อ
ในการตอบคำถามค้านของทนาย พยานให้การว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ร่วมกับคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ของจังหวัดพะเยาที่ถูกแต่งตั้งขึ้น โดยเอกสารหลักฐานภาพถ่ายในคดีนี้ พ.ต.ท.พัสกร ธวัชเชียงกุล พยานที่ไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้เป็นผู้จัดทำขึ้นและส่งให้พยาน โดยความเห็นที่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีนี้มาจากคณะกรรมการลงมติร่วมกัน พยานไม่มีอำนาจลงความเห็นผู้เดียว และการมีความเห็นควรสั่งฟ้องนี้ ไม่ได้มีการนำคำให้การหรือข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาที่ได้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนมาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าก็เป็นสิทธิต่อสู้ของผู้ต้องหา แต่ไม่ได้นำข้อต่อสู้เหล่านั้นมาพิจารณาด้วย
.
.
จำเลยทั้ง 4 ราย ยืนยันวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิของประชาชน ทั้งได้พยายามป้องกันตนเองเท่าที่ทำได้แล้ว
ทางฝ่ายจำเลยทั้งสี่ ได้ขึ้นเบิกความโดยสรุป ทุกคนยืนยันว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม “คนพะเยาบ่าเอาแป้ง” แต่ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพียงแต่เห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารกิจการภายในประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาล การบริหารจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล้มเหลวจนประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ตัวจำเลยทั้งสี่ได้พยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างเต็มที่แล้วด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกัน มีการใช้เจลแอลกอฮอล์ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการร่วมกิจกรรมแล้ว อีกทั้งสถานที่ในการชุมนุมก็มีลักษณะเป็นลานโล่งแจ้ง จำเลยทั้งสี่สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ชุมนุม แต่ไม่มีการมาพูดคุยหรือทำการประกาศเตือนว่าการชุมนุมที่กำลังดำเนินไป เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
นอกจากนั้นแล้ว จำเลยทั้งสี่ยังได้เบิกความถึงผลกระทบจากการตกเป็น “เป้าหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐ และ “ถูกเลือก” มากล่าวหาดำเนินคดีนี้ ทำให้มีภาระทางคดีต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา เดินทางไปรายงานตัวต่ออัยการ และถูกส่งฟ้องต่อศาล ทั้งยังเสียโอกาสในชีวิตหลายประการที่ต้องมีการจัดการตารางชีวิตเพื่อมาตามกำหนด เพียงเพราะมุ่งหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของประเทศ อย่างไรก็ดี รศ.ดร.มนตรา ได้กล่าวก่อนเสร็จสิ้นการเบิกความของตนเองว่า เป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในคดีนี้
ด้านอัยการจังหวัดพะเยา ได้ถามค้านจำเลยทั้งสี่ในลักษณะเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยทราบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุม ณ สถานที่แออัดหรือก่อให้เกิดความไม่สงบใช่หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ระบุว่าทราบ จากนั้นก็ให้จำเลยดูภาพถ่ายของจำเลยในพื้นที่การชุมนุมที่เป็นหลักฐานของฝ่ายโจทก์ จำเลยทั้งสี่ก็ได้ยืนยันว่าภาพดังกล่าวคือตนเอง
.
.
อาจารย์กฎหมายให้ความเห็น 4 ประเด็น การชุมนุมในวันดังกล่าวไม่มีสิ่งใดที่เป็นความผิดตามฟ้อง
สุดท้าย ฝ่ายจำเลยยังได้นำพยานนักวิชาการ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าเบิกความให้ความเห็นเรื่องสิทธิของประชาชนที่สามารถกระทำได้ในฐานะพลเมือง และการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกินกว่าความจำเป็น ทั้งยังมีกฎหมายอื่นที่สามารถบังคับใช้ได้อย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อยู่แล้ว โดยมีการจัดทำคำเบิกความยื่นต่อศาลด้วย มีประเด็นโดยสรุปดังนี้
การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบกติกาสูงสุดของประเทศที่รับรองไว้ให้กับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ และถือได้ว่าการชุมนุมจัดกิจกรรมเรียกร้องต่างๆ เป็นหน้าที่สำคัญข้อหนึ่งในฐานะ “พลเมือง” ของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยพึงมีและพึงกระทำ โดยเป็นเครื่องมือในการยับยั้ง ตักเตือน หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเมือง ทำให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสามารถสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาบริบทปัจจุบันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันส่งผลให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารประเทศ ในขณะที่กลไกการตรวจสอบในระบบปกติไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสรีภาพในการชุมนุมจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้
แม้ว่ารัฐจะสามารถจำกัดเสรีภาพของประชาชนได้เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่ด้วยเหตุที่เสรีภาพในการชุมนุมเป็นคุณค่าพื้นฐานที่มีความสำคัญในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรมและอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าที่ขัดแย้งกัน โดยเข้าใจความสำคัญของคุณค่าดังกล่าวอย่างถูกต้องเพื่อให้คุณค่าเหล่านั้น ยังคงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทำได้ภายใต้กรอบที่กฎหมายบัญญัติอนุญาตไว้เท่านั้น อีกทั้งวัตถุประสงค์ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังภายใต้หลักความได้สัดส่วน พอสมควรแก่เหตุ และการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
สำหรับการชุมนุมที่เกิดเหตุในคดีนี้ พยานก็ได้ให้ความสนใจและได้ติดตามการชุมนุมผ่านการไลฟ์สดของผู้เข้าร่วมชุมนุม พยานเห็นว่าการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวไม่มีสิ่งใดที่เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์แต่ประการใด
ประเด็นที่ 1 ตามข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การชุมนุมจัดกิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน เมื่อปราศรัย และอ่านข้อเรียกร้องเสร็จก็มีการแยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นแต่อย่างใด เมื่อการชุมนุมจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และไร้ซึ่งอาวุธใดๆ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 ประกอบมาตรา 44 อันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศที่ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องให้ความเคารพ
ประเด็นที่ 2 การที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และไม่มีอาวุธ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสภาพที่แออัด อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
กล่าวคือ การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ต้องเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเป็นการ “มั่วสุมกัน”ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ได้ให้นิยามความหมายของคำว่า “มั่วสุม” ว่า “การชุมนุมเพื่อกระทำการในทางไม่ดี เช่น มั่วสุมกันเลนการพนัน เป็นต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดเจนว่า การเข้าร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมเป็นเพียงการชุมนุมปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน,เรียกร้องให้มีการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และ เรียกร้องให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นวิถีธรรมดาและเป็นเรื่องปกติของประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตยที่จะพึงมีพึงได้ในฐานะ “พลเมือง” เจ้าของประเทศ การเข้าร่วมชุมนุมของ จำเลยทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมอื่นๆ จึงไม่ใช่ การ”มั่วสุม”กัน ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 องค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างต้องเข้าลักษณะของการชุมชุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆในสถานที่แออัด เนื่องเพราะฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา การตีความคำว่า ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด จึงต้องใช้หลักการตีความโดยเคร่งครัด การตีความถ้อยคำดังกล่าวจึงต้องตีความว่าหมายความเพียง “กรณีที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมอยู่อย่างหนาแน่นตลอดพื้นที่ของสถานที่อันเป็นสภาพที่บุคคลในสถานที่ดังกล่าว ไม่สามารถเว้นระยะห่างจนทำให้พื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของสถานที่ดังกล่าว มีสภาพอันเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและมีโอกาสแพร่เชื้อโรคเท่านั้น”
เมื่อข้อเท็จจริงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่บริเวณลานหน้าป้ายมหาวิทยาลัยพะเยา มีพื้นที่กว้างขวางและเปิดโล่ง ทำให้บุคคลสามารถที่เข้าร่วมชุมนุมสามารถยืนโดยเว้นระยะห่างมากเพียงพอ อีกทั้งในการชุมนุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ได้มีการเว้นระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนด และมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนการชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเพียงแค่ 200 คนโดยประมาณ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชุมนุมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆในสถานที่แออัด
ประเด็นที่ 4 การกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ต้องเป็นกรณีที่ผู้เข้าร่วมชุมนุม กระทำการเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ความตอนท้ายด้วย เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาในการปราศรัยและข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุม ก็ไม่ได้เข้าข่ายยุยงให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด เมื่อปราศรัยและอ่านข้อเรียกร้องเสร็จก็มีการแยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น
นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 รับรองเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ เน้นย้ำว่ารัฐไม่ควรอ้างการระบาดของโรคโควิดฯ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยเหตุนี้ แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ผู้ใช้อำนาจรัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิง จนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยที่ประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ การห้ามการชุมนุมจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเฉพาะกรณีอย่างเพียงพอ
ดังนั้น การออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ความตอนท้าย ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงมีผลเป็นการห้ามการชุมนุมสาธารณะในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ได้พิจารณาบริบทเฉพาะกรณีว่าการชุมนุมจะเป็นอันตรายต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนและให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไปในลักษณะที่ประชาชนไม่สามารถที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้เลย ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่อาจใช้เป็นฐานในการจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้
.
จับตาคำพิพากษา
ภายหลังการสืบพยานทั้งหมดเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 10 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น.
ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษาของศาล ได้แก่ ศาลจะพิจารณาเรื่องสิทธิในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กับข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรมหรือหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นกฎหมายลำดับรองลงมาว่าอย่างไร และการชุมนุมแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เกิดขึ้นนี้ จะถูกตีความว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดังกล่าวหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้มีคดีชุมนุมปี 2563 ที่ศาลแขวงอุดรธานีมีคำพิพากษายกฟ้องมาแล้ว
.
อ่านเรื่องราวในคดีก่อนหน้านี้
18 วันสู่การฟ้อง กับ 6 ชั่วโมงในห้องขัง: คุยกับ “มนตรา” นักวิชาการผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ