18 วันสู่การฟ้อง กับ 6 ชั่วโมงในห้องขัง: คุยกับ “มนตรา” นักวิชาการผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เขาเป็นนักวิชาการคนแรกที่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาในรอบปี 2563 เขายังเป็นอาจารย์คนแรกที่ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เป็นต้นมา

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล อายุ 49 ปี เป็นอาจารย์ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สังกัดสาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยพะเยา เขาเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวของประชาสังคมในจังหวัดพะเยา

ไม่ใช่คนพะเยาโดยกำเนิด แต่ก็ย้ายมาใช้ชีวิตและสอนหนังสืออยู่ในจังหวัดพะเยามาหลายสิบปีแล้ว จนนับว่าได้ลงหลักปักฐานเป็นคนพื้นที่นี้ เขานับตนเองเป็นนักวิชาการรุ่นกลาง ภายใต้ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในจังหวัดพะเยา เรื่องสังคมวิทยาและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในจังหวัด ทั้งยังสอนเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในชั้นเรียน

มนตราถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 แต่เขาเพิ่งถูกออกหมายเรียกมาดำเนินคดีเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา แถมคดีใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ก็ถูกสั่งฟ้องไปถึงชั้นศาลแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับนักวิชาการรายนี้ ย้อนทบทวนเหตุการณ์อันที่เป็นที่มาของการถูกตั้งข้อกล่าวหา คาดเดาถึงสาเหตุในการถูกดำเนินคดี และบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอจากคดีแรกในชีวิตที่เขาบอกว่าเป็น “คดีทางการเมือง” อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งสิ่งที่ประสบจาก “กระบวนการยุติธรรม” ก่อนการพิจารณาคดีของเขาจะดำเนินต่อไปในศาล

 

ภาพการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง จากทวิตเตอร์ @tanawatofficial

 

เข้าร่วมการชุมนุม นิสิตชวนขึ้นปราศรัย ก่อนถูก “จิ้ม” ให้ถูกดำเนินคดี

มนตราเล่าย้อนไปว่าถ้าจำไม่ผิด การจัดการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง น่าจะเป็นการจัดชุมนุมครั้งที่สองหรือสามในจังหวัดพะเยาในรอบปี 2563 แต่เป็นครั้งแรกที่จัดโดยกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยม เดิมนั้นการชุมนุมนี้ถูกประกาศจัดบริเวณถนนริมกว๊านพะเยา แต่ต้องย้ายสถานที่ เนื่องทางทางอำเภอได้มีการประกาศจัดกิจกรรมทำความสะอาดถนนหน้ากว๊านเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยมีการทำหนังสือถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มาร่วม กำหนดสถานที่และวันเวลาจัดกิจกรรมเป็นช่วงเดียวกันกับที่กลุ่มเยาวชนประกาศจัดชุมนุม ทำให้กลุ่มผู้จัดต้องย้ายสถานที่จัดมาหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยากว่า 20 กิโลเมตร

“วันนั้นจริงๆ คนไม่ได้เยอะหรอก ประมาณ 200-300 คน ไม่เหมือนกับครั้งหลังจากนั้นที่มีคนอาจจะหลักพัน แล้วการจัดของเขามันค่อนข้างฉุกละหุก ก็คือถึงเวลาจัด กว่าเครื่องเสียงจะมาถึง ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ได้เริ่มหกโมงกว่า ทั้งที่ประกาศนัดห้าโมงกว่า คนก็มารอประปราย แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรกัน ต้องรอจนเครื่องเสียงมา คนที่มาร่วมก็มีทั้งนักเรียนมัธยม และนิสิตมหาวิทยาลัยด้วย ที่เขารู้ข่าว เขาก็มาร่วม ตรงหน้าป้ายมหาวิทยาลัย

“เราก็เห็นว่าเขาประชาสัมพันธ์จัดกัน เราก็เข้าไปร่วม ก็มีหลายๆ คน เขารู้จักผม เขาก็เลยเชิญผมขึ้นเวทีปราศรัยด้วยในช่วงท้ายๆ เราก็พูดในลักษณะเหมือนให้กำลังใจนักเรียนนิสิตนักศึกษา และตำหนิรัฐบาลหน่อยหนึ่ง การขึ้นปราศรัย เราก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เป็นเรื่องเฉพาะหน้านั้นเลย คือมีนิสิตมาชวน บอกอาจารย์ขึ้นพูดหน่อย”

การขึ้นพูดไม่กี่นาทีในวันนั้น เป็นที่มาของการถูกกล่าวหาดำเนินคดีในวันนี้ แต่มนตราไม่ได้ถูกออกหมายเรียกทันที พร้อมกับผู้ถูกออกหมายเรียกในชุดแรกอีก 5 คน ได้แก่ ชินภัทร วงค์คม, ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ธนวัฒน์ วงค์ไชย และอานนท์ นําภา ซึ่งเริ่มถูกออกหมายตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 แล้ว แต่เขาเพิ่งมาได้รับหมายเรียกแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 ภายหลังการชุมนุมกว่า 5 เดือน

“คือพอมีของ 5 คนที่ถูกดำเนินคดีก่อน ผมก็ลุ้นๆ อยู่ว่าตัวเองจะโดนไหม เพราะพี่ศิริวัฒน์ กับทนายอานนท์โดน เราก็ว่าเราอาจจะโดน แต่ก็ยังไม่โดน จนประมาณเดือนธันวาคม 2563 เริ่มมีข่าวมาว่าผมจะโดนด้วย เพราะเขามีการเก็บข้อมูลอยู่ จนมกราคม ผมก็โดนหมายเรียกเลย คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ถึงโดนทีหลัง และเพิ่งมาโดน แต่เราก็เตรียมพร้อมไว้ และผมก็คิดว่ามันน่าจะมีใบสั่งมาทีหลัง ว่าเอาอาจารย์มนตราด้วย แต่เราก็ไม่รู้เหตุผล”

ในกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีนี้รวม 6 คนนั้น มีบทบาทในระหว่างการชุมนุมไม่เหมือนกัน มี 3 คน ได้ขึ้นพูดปราศรัยระหว่างการชุมนุม ได้แก่ พริษฐ์, มนตรา และศิริวัฒน์ ซึ่งมีบทบาทเป็นแกนนำเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา  ส่วนอานนท์, ธนวัฒน์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชินภัทร ซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยาและเคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในจังหวัดพะเยา ทั้งสามคนนี้เพียงแต่ไปร่วมชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นปราศรัยด้วยแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันยังมีนิสิตและนักเรียนที่เป็นผู้จัดงาน และได้ร่วมขึ้นพูดปราศรัยในการชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วย ทำให้ดูเหมือนว่ามีการเลือก “จิ้ม” และ “ยัด” คดีให้บางบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายการจับตาอย่างเห็นได้ชัด

 

ภาพตำรวจเข้าติดตามและพูดคุยกับมนตราในกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดพะเยา วันที่ 12 ม.ค. 63

 

การตกเป็น “เป้าหมาย” ติดตามจับตา กระทั่งถูกดำเนินคดี

มนตราระบุว่าเขาคิดว่าตนถูกจับตาการแสดงออกมาตั้งแต่ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทหารมีอำนาจมาก จากสาเหตุการโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบ่อยครั้งในเฟซบุ๊ก

“คือผมคิดว่าตัวเองเริ่มถูกจับตาตั้งแต่ช่วง คสช. ตั้งแต่หลังยึดอำนาจ ก็มีคนเตือนผมหลายๆ คน ว่าอย่าไปโพสต์แรง เขากำลังจับตาดูอยู่ คือผมก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์แสดงความคิดเห็นต่างๆ ในเฟซบุ๊กเท่านั้น ผมไม่เคยเป็นแกนนำจัดกิจกรรมอะไร 

“มีตอนวิ่งไล่ลุง ช่วงต้นปี 2563 จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นแกนนำ แค่จะไปร่วมวิ่ง แฟนยังแซวอยู่ว่าจะไปร่วม แต่กลายเป็นแกนนำ คือทีมนิสิตที่จะจัด เขาตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม เพราะโดนข่มขู่กดดันหนัก โอเค ยกเลิกก็ยกเลิก แต่เราบอกว่าจะออกไปวิ่งเฉยๆ ไง ก็ไปกันไม่กี่คน กลายเป็นผมกลายเป็นแกนนำออกสื่อ อันนี้น่าจะเป็นกิจกรรมที่ตัวเองเข้าร่วมเป็นครั้งแรก เพราะในพะเยาเองก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเท่าไหร่”

มนตราเล่าว่าในตอนกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นเอง ที่เขาถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งแรก โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเฝ้าหน้าบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมขับรถติดตามเมื่อออกจากบ้าน และเมื่อจะไปเริ่มออกวิ่ง ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุย ไม่ให้สวมใส่เสื้อที่มีข้อความ “วิ่งไล่ลุง” ไปวิ่ง พร้อมกับจับตาใกล้ชิดขณะทำกิจกรรม

ปี 2563 จึงนับเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของนักวิชาการคนนี้ก็ว่าได้ เมื่อเขาได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวนอกห้องเรียนและนอกหน้าจอมากขึ้น

“ช่วงที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ผมก็โพสต์ไปว่ารู้สึกทนไม่ไหว ผมก็บอกว่าผมจะไปจุดเทียนอยู่คนเดียว ผมจะไปด้วยตัวของตัวเอง แต่ก็กลายเป็นกระแส ทำให้อีกหลายๆ คนมารวมตัว แล้วก็จัดชุมนุมขึ้นมา ก็กลายเป็นกิจกรรมที่แสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการชุมนุมครั้งแรกของพะเยาในปี 2563 ชื่อ #พะเยาจะบ่ทน หรือยังไงนี่แหละ ประมาณปลายเดือนกุมภา”

จนในช่วงกลางปี 2563 หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ตามมาด้วยคลื่นของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน แทบจะทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งในจังหวัดพะเยา ซึ่งมนตราระบุว่ามีการชุมนุมประมาณ 3 ครั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเขาก็ได้เข้าร่วมทุกครั้ง และได้ขึ้นช่วยพูดบนเวทีปราศรัยของนิสิตด้วย

“ผมก็เข้าร่วมการชุมนุมในพะเยาเท่านั้น พอนิสิตเห็นเขาก็ถามมาว่าอาจารย์จะขึ้นเวทีให้หน่อยได้ไหม ผมก็ช่วยขึ้น เพื่อให้กำลังใจนิสิต แค่นั้นเอง มันเหมือนกลายเป็นว่าผมเป็นตัวแทนของอาจารย์ที่มาสนใจในเรื่องการเมือง มันก็มีอาจารย์หลายๆ คนในมหาลัย เขาก็รู้สึกอย่างนั้น แต่เขาไม่กล้า แต่ผมเห็นว่ามันก็เป็นสิทธิของเรา เราอยากออกมาสะท้อนมุมมองของเราหน่อยหนึ่ง”

เมื่อถามย้อนไปถึงที่มาของจุดยืนและสิ่งที่เป็นที่มาของความสนใจทางการเมือง มนตราระบุว่าเนื่องจากเป็นเรื่องวิชาที่ตนสอนอยู่ด้วย แม้จะสอนในด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ถึงกับตรงกับเรื่องการเมืองนัก แต่ก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง โดยเฉพาะรายวิชาอย่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ทำให้ได้สนใจศึกษาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“แล้วเรื่องความรู้สึกไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลเผด็จการ ผมก็โพสต์เรื่องพวกนี้มาตั้งแต่ใช้เฟซบุ๊กช่วงทศวรรษ 2550 กว่าๆ จนรัฐประหาร ผมก็โพสต์ด่าคณะรัฐประหาร เราก็รู้สึกว่าในฐานะอาจารย์ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกทางความคิดของเราได้ แล้วผมก็ร่วมลงชื่อแถลงการณ์ต่างๆ ของทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มาเรื่อยๆ”  

มนตราบอกว่าความเป็นกลุ่มทางวิชาการในจังหวัดพะเยานั้น ยังมีการเกาะเกี่ยวกันค่อนข้างน้อย ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมากนัก เหมือนกับในจังหวัดใหญ่ๆ เขาใช้คำว่า “บรรยากาศทางวิชาการ” และ “บรรยากาศของความกล้าหาญทางจริยธรรม” ยังมีค่อนข้างน้อย แต่ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เขาก็คิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความสนใจของนิสิตนักศึกษาต่อสถานการณ์บ้านเมือง และความพอใจต่อระบบที่เป็นอยู่นั้น เขาสัมผัสได้ว่ามีอยู่สูงมาก จนเป็นที่มาของปรากฏการณ์ชุมนุมอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

 

หมายเรียกแรกที่มนตราได้รับ ลงปี พ.ศ. ที่ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาผิด ตำรวจจึงออกหมายใหม่ไปส่งให้

ประสบการณ์ถูกสั่งฟ้องภายใน 18 วัน และถูกคุมขังในห้องขังศาล 6 ชั่วโมง

หากนับจากวันถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.แม่กา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 จนถึงวันที่มนตราถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพะเยา คือวันที่ 26 มกราคม 2564 คดีใช้เวลาเพียง 18 วัน เดินทางจากตำรวจ อัยการ มาถึงศาล ในฐานะประสบการณ์ใหม่ และด้วยมุมมองของความเป็นนักวิชาการ มนตราพยายามสรุปให้ฟังว่าเขาเห็นอะไรบ้างจากกระบวนการเหล่านี้

“หนึ่ง รู้สึกว่าเขาเร่งรัดทำ แม้ว่าจะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลก่อนออกหมายเรียกผมนาน แต่พอแจ้งข้อหาแล้ว เขาเร่งรัดทำ ทำให้เอกสารบางอย่างก็ผิด อย่างเช่นการลง พ.ศ. ในหมายเรียก ที่ให้ไปรับทราบข้อหา ก็ผิด ปี 64 แล้ว แต่ไปลงเป็นปี 63 แล้วต้องมาเปลี่ยนหมายเรียก พอเปลี่ยนเสร็จ ก็ให้เวลา 4-5 วัน ก็ต้องไปตามหมายเรียกแล้ว อันนี้เป็นขั้นตอนที่ดูเร่งรีบจนเกินไป

“ประการที่สอง ผมรู้สึกว่ากระบวนการของการกล่าวหาแบบนี้เนี่ย มันเป็นคดีทางการเมือง คือมันมุ่งหมายให้มีผลทางการเมือง มีการจิ้มคน หรือจับคนที่เขาเห็นว่ามันอาจจะเป็นจุดสำคัญ เพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้เสียเวลา หรือสร้างผลกระทบอะไรหลายอย่างต่อชีวิตคนนั้น

“ประการที่สาม ผมรู้สึกว่าพอเข้าสู่กระบวนการในคดี การส่งให้อัยการ และอัยการสั่งฟ้องถึงศาลเนี่ย เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเตรียมการส่งตัวเราไปถึงศาลอย่างเร็ว แล้วในกระบวนการนั้น มันก็มีการส่งตัวเราไปคุมขังก่อน เพื่อรอการประกันตัว เราถูกคุมขังในห้องขังที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกได้เลย เราถูกเก็บเครื่องมือสื่อสารไป ทั้งที่ความจริงเราน่าจะสามารถทำงาน หรือหน้าที่เราในฐานะอาจารย์ระหว่างนั้นได้ คือช่วงเวลานั้น ผมต้องคุมสอบ ผมก็ได้รับผลกระทบ เพราะผมถูกขัง แล้วไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารได้

“แล้วในช่วงของการพิจารณาคำฟ้องของศาล ศาลเก็บการพิจารณาคดีของผม เป็นช่วงสุดท้ายเลย ให้คนอื่นเขาออกไปหมดก่อนแล้ว คือมันเป็นการแจ้งคำฟ้องผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลคอนเฟอเรนซ์มาผ่านจอในห้องขัง ระหว่างนั้นผมก็ฟังคดีคนอื่นๆ ไป พอการพิจารณาคดีของผม ศาลก็อ่านคำฟ้องให้ฟัง แล้วผมพบว่าศาลมีแนวโน้มที่จะฟันธงหรือมีธงปักไว้อยู่แล้วว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง

“ศาลพูดกับผมว่า อาจารย์ คดีนี้ไม่ใช่คดีการเมืองนะครับ ทั้งที่คดีแบบนี้ ศาลน่าจะทราบว่ามาแบบนี้แล้ว มันเป็นการเมืองขนาดไหน ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมศาลพูดประโยคนี้ขึ้นมา อยู่ๆ ก็พูดบอกผม ผมก็ได้แย้งศาลว่าท่านครับ คดีนี้เป็นคดีการเมือง มิเช่นนั้นไม่มีการจิ้มคนมาแบบนี้ แล้วก็ไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาพ่วงกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ใช้กันแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมกับคดีลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางมันจะอยู่ตรงไหน แต่มาถึงขนาดนี้ เราก็ต้องสู้”

มนตราได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ เพียงแต่ให้ทำสัญญาประกันว่าจะมาตามนัดหมาย หากผิดสัญญาให้ปรับเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท แต่เขาต้องถูกควบคุมตัวระหว่างรอกระบวนการพิจารณา กว่า 6 ชั่วโมงในวันนั้น

ผมถูกขังอยู่ห้องขังศาล อยู่นาน 6 ชั่งโมง คือคล้ายๆ กับเขาพยายามที่จะสร้างความกลัวให้ แล้วผมรู้สึกว่าในห้องขังของศาล มันเป็นบรรยากาศของการทำให้เรารู้สึกต้องสารภาพบาป หรือสารภาพผิด โดยความกลัว เหมือนกับเป็นการจำลองห้องขังไว้ แล้วทำให้รู้สึกว่าถ้าคุณยังดื้อแพ่งอยู่ ยังแข็งขืน อาจจะโดนแบบนี้อีกนาน

“ห้องขังมันไม่มีอะไรเลย พื้นเป็นซีเมนต์สีเขียว แล้วก็มีลังกระดาษปูไว้ เพื่อที่จะให้เรานั่งอุ่น ให้เรานั่งพื้นน่ะ ไม่ได้มีเก้าอี้นั่ง แล้วก็มีห้องส้วม กำแพงสูงแค่เอว ฉี่อะไรเห็นหมด ทำให้เรารู้สึกว่านั่นคือการจำกัดอิสรภาพของคนจริงๆ แม้เป็นเพียงการขังรอการพิจารณาคำฟ้องจากศาล เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นชาวบ้านคนธรรมดา มันจะมีความรู้สึกว่ามีความกลัวอะไรบางอย่างเกิดขึ้น การที่เราสูญสิ้นอิสรภาพแล้ว

“แล้วในนั้น มันก็ยังไม่มีอะไรทำ ดีว่าผมติดหนังสือไปเล่ม ผมก็นั่งอ่านหนังสือ แต่ผมเห็นคนอื่นๆ เขาก็นั่งคุยกันบ้าง ปรับทุกข์กันบ้าง แล้วก็มีตำรวจนั่งอยู่ข้างนอก แล้วตำรวจก็จะมีอารมณ์ในการติดต่อสัมพันธ์ เหมือนกับเราเป็นคนผิดไปแล้ว ใช้คำพูดในเชิงว่าเขาเหนือชั้นกว่าเรา”  

 

 

ข้อหาทางการเมือง นับเป็น “เกียรติของเรา” ในประวัติศาสตร์หน้านี้

หากพิจารณาไปถึงข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการชุมนุมมั่วสุม ซึ่งทำให้อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรค มนตราเห็นว่าในช่วงจังหวะดังกล่าว ภายในประเทศไทยก็ไม่ได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อีกทั้งหากดำเนินการกันแบบนี้ มีอีกหลายกิจกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชนเอง ที่ก็เข้าข่ายการชุมนุมมั่วสุมที่อาจทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีข่าวการดำเนินคดีในลักษณะนี้ ทำให้เห็นได้ว่าการใช้กฎหมายนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองมากกว่า

“ในช่วงนั้น มันเป็นช่วงที่ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายต่อเรื่องโรคระบาดแล้ว เพราะตอนนั้นภายในประเทศไม่ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มแล้ว จนถึงเกือบปลายธันวาคม ถึงจะมามีระลอกสอง ขณะเดียวกัน เราก็เห็นว่าในกลุ่มอื่นๆ ทั้งราชการ หน่วยงานของรัฐเอง ก็จัดงาน จัดอำลาต่างๆ โดยมีภาพว่าเขาก็ไม่ได้ใส่แมสก์ปิดปาก หรือได้เว้นระยะห่างทางสังคมเหมือนกัน ถ้าจะเอาจริงๆ มันจะเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า

“เรายังรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด แล้วเรารู้สึกว่าเราไปเพียงแสดงเจตจำนงของตัวเอง แล้วสถานการณ์ตอนนั้น มันไม่ได้มีภาวะของการมีโรคแล้ว มีการติดเชื้อลดลงแล้ว ถ้านับว่าคุณจะใช้ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ด้วย ผมคิดว่านั่นคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั่นแหละ”

ในด้านผลกระทบของการถูกดำเนินเช่นนี้ ผ่านมา 1 เดือนเศษ มนตราระบุว่าสำหรับเรื่องหน้าที่การงานในมหาวิทยาลัย ยังไม่ได้มีผลกระทบเกิดขึ้น และเขายังสามารถทำงานต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ก็แน่นอนอยู่แล้ว ว่าการมีภาระทางคดีเช่นนี้ ก็สร้างความยุ่งยากให้ชีวิตมากขึ้น เพราะต้องเทียวไปเทียวมาตามนัดของตำรวจ อัยการ ศาล ทำให้เวลาในชีวิตต้องใช้ไปกับเรื่องที่ดูไม่เป็นเรื่อง และยังเสียความรู้สึกกับกระบวนการขั้นตอนที่พบเจอ

“คือในฐานะอาจารย์หรือนักวิชาการ เราอาจจะรู้สึกว่าเรามีเกราะกำบังหรือมีไม้กันหมามากกว่าคนอื่น แต่ผมคิดว่าตรงนี้คงไม่ใช่ คือเขาจะเอาใคร เขาเอาได้ อาจารย์หลายๆ คนก็เคยโดนคดีที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น แต่อาจจะคนละข้อหา

“ผมก็รู้สึกว่าโอเค สิ่งที่เราโดนอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่คนอื่น แกนนำอย่างเช่นเพนกวิน อานนท์ โดนไปเท่าไรล่ะ กี่สิบคดี เราอาจจะคิดจากอีกมุมมองก็ได้ ว่านี่คือเป็นเกียรติของเรา เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ในช่วงจังหวะเวลาแบบนี้ใช่ไหม การถูกดำเนินคดีแบบนี้ มันแลกมากับการที่เราเคลื่อนไหว เราแสดงออกทางการเมือง และเรายืนยันความคิดเห็นของเรา”

คดีของมนตรายังไม่เสร็จสิ้น ศาลจังหวัดพะเยากำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การต่อไปในวันที่ 29 มีนาคม 2564 และยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน หรืออาจนานนับปี กว่าคดีจะดำเนินไปจนสิ้นสุด โดยที่นักวิชาการรายนี้เองก็ยังไม่อาจคาดทำนายด้วยหลักวิชาใดได้ว่าปลายทางของมันจะมี “ความเป็นธรรม” อยู่หรือไม่ในประเทศนี้

 

ดูรายงานข่าวคดีเพิ่มเติม

แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจารย์ ม.พะเยา กรณี #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง หลังชุมนุมผ่านไป 5 เดือน

แจ้งข้อหา-ส่งอัยการ-ส่งฟ้องต่อเนื่อง อาจารย์ม.พะเยา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง

 

X