23 ม.ค. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเฉลิมชัย วัดจัง เจ้าหน้าที่กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch) และ ธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากกรณีการจัดเดินขบวนไปร่วมตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564
เฉลิมชัยและธนเดชถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาตั้งวางสิ่งของบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหากีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีมีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 17-19 ส.ค. และ 30 พ.ย. 2565
.
ย้อนอ่านข่าวอัยการสั่งฟ้อง >>> ไม่ถึงเดือน อัยการสั่งฟ้อง ‘ม่อน อาชีวะ’ – ‘เฉลิมชัย วัดจัง’ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินไปตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า
.
ศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และมาตรการที่บังคับใช้ต้องสอดคล้องกับกฎหมายลำดับศักดิ์สูงกว่า ไม่เป็นภาระต่อประชาชนเกินสมควร
วันนี้ (23 ม.ค. 2566) เวลา 13.20 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 509 ศาลนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาให้ฟัง สามารถสรุปได้ว่า ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ แต่ให้ลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คนละ 200 บาท เมื่อพิจารณาคำพิพากษา พบว่าศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้
.
1. ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นร่วมจัดกิจกรรมตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันที่ทางราชการกำหนด และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ศาลเห็นว่า แม้ช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม และห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งข้อกำหนดทั้งหมดเป็นกฎหมายลำดับรอง เมื่อเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด
จำเลยที่ 1 (เฉลิมชัย) ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าเดินทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจรจาขอใช้พื้นที่ร่วมกับหมู่บ้านบางกลอย ส่วนจำเลยที่ 2 (ธนเดช) ร่วมกับกลุ่มฟันเฟืองเดินทางมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มารวมกลุ่มกับทะลุฟ้า ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง และให้นายกรัฐมนตรีลาออก
เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรม จึงฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 18 (จัดกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค)
ศาลเห็นว่าสถานที่เกิดเหตุไม่ใช่สถานที่แออัด ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวได้สะดวก มีจุดคัดกรองโรคระบาดโควิด-19 มีบริการเจลแอลกอฮอล์ ในช่วงเกิดเหตุไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ไม่มีเหตุร้ายแรง ไม่มีอาวุธ เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
แม้โจทก์จะนำสืบเรื่องประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ฉบับที่ 3 และประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ประกาศทั้งหมดออกตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการที่บังคับใช้ตามประกาศดังกล่าวจึงต้องออกให้สอดคล้อง และไม่เป็นภาระต่อประชาชนเกินสมควร เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่เป็นความผิดตามประกาศในข้างต้นด้วยเช่นกัน
.
2. ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ในประเด็นตั้งวางสิ่งของบนถนน ในลักษณะกีดขวางการจราจร
ศาลเห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันนำแผ่นป้ายมาเขียนข้อความ และนำไปแขวนตามต้นไม้ เสาไฟฟ้า ตั้งเวที และนำผ้าใบมากางเป็นเต็นท์ ตั้งลำโพงเครื่องขยายเสียง และสิ่งของบนทางเดินรถ ในลักษณะกีดขวางการจราจรตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง
.
3. ข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ในประเด็นใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้ขออนุญาต
ศาลเห็นว่า มีพยานโจทก์ 3 ปากยืนยันว่าจำเลยทั้งสองใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาตสำนักงานเขตก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้เครื่องขยายเสียงจริง แต่จำเลยทั้งสองต่างคนต่างกระทำ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิด เพียงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้เครื่องขยายเสียง ลงโทษปรับจำเลยคนละ 200 บาท
.
หลังอ่านคำพิพากษา เฉลิมชัยและธนเดชได้ชำระค่าปรับเป็นเงินคนละ 200 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เฉลิมชัยยังถูกฟ้องคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงดุสิตในอีกคดีหนึ่ง จากการถูกจับกุมในการร่วมแสดงออกคัดค้านการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างการสืบพยาน