ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย “บอย ธัชพงศ์” ชี้เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย

29 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “บอย” ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเหตุการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ในชั้นสอบสวน ทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยฟ้องนักกิจกรรมทั้งสามคนแยกกันเป็นคนละคดี ซึ่งคดีของสมบัติ ทองย้อยเป็นคดีแรกที่ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาและยกฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ในขณะที่คดีของชลธิชา แจ้งเร็วยังคงอยู่ในระหว่างการสืบพยาน

ทั้งนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด (ดูรายละเอียดการชุมนุมใน Mob Data Thailand)

.

ย้อนอ่านข่าวการแจ้งข้อกล่าวหา >>> คดีพุ่งต่อเนื่อง แจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักกิจกรรม จากชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

.

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 401 เวลา 9.55 น. หลังจากการแถลงข่าวเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่นซึ่งมีวาระการพิจารณาเข้าสู่สภาในวันนี้ (29 พ.ย. 2565) เสร็จสิ้น ธัชพงศ์ได้รีบเดินทางจากรัฐสภาเกียกกายมายังศาลแขวงดุสิตเพื่อฟังคำพิพากษา เมื่อธัชพงศ์เดินทางมาถึงหน้าห้องพิจารณา ศาลก็เรียกเข้าไปฟังคำพิพากษาในทันที

ศาลอ่านคำพิพากษาให้ฟังโดยสรุปว่า โจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ในระหว่างการชุมนุมไม่ปรากฏว่าเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ศาลจึงฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่ผิดข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ หากนับรวมคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว พบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้องหลังการต่อสู้คดีไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 39 คดี แต่จำเลยในแต่ละคดีก็มีต้นทุนและภาระในการต่อสู้คดีเหล่านี้กว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งยังสร้างภาระในกระบวนการยุติธรรมให้กับภาครัฐเองในการดำเนินคดีกับการกระทำที่ไม่เป็นความผิดอีกแล้วในปัจจุบันหลังจากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

X