8 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดเสื้อแดง วัย 53 ปี กรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง
คดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปทั้งหมด 2 นัด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. และ 22 ส.ค. 2565 โดยได้สืบพยานโจทก์ไปรวม 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนผู้จัดทำรายงานการสืบสวน ส่วนพยานจำเลยมีเพียง 1 ปาก ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้อ้างตนเป็นพยาน
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 408 เวลา 10.30 น. สมบัติถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษา โดยถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 คนคุมตัวเข้ามาในห้อง ในชุดนักโทษสีน้ำตาล ข้อเท้าถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน มีครอบครัวและเพื่อนคนเสื้อแดงมาร่วมให้กำลังใจ เมื่อสมบัติได้พบกับครอบครัว ดวงตาของเขาก็หยีลง แสดงถึงรอยยิ้มที่อยู่ใต้หน้ากากอนามัย ครอบครัวของเขานั่งลงที่เก้าอี้แถวหลัง ก่อนมารดาจะลุกขึ้นและโน้มตัวลงมากอดสมบัติจากทางด้านหลัง
จากนั้นผู้พิพากษาได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า
เห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1 ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น การชุมนุมที่เป็นความผิดตามข้อกำหนดดังกล่าว ต้องก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่เป็นไปตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ) มีความรุนแรง กระทบความมั่นคงของรัฐ เป็นอันตรายต่อทรัพย์สิน หรือชีวิตของบุคคลอื่น
จากการสืบพยาน มีภาพจำเลยปรากฏในที่ชุมนุม และฟังได้ว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยใช้ความรุนแรง มีอาวุธ หรือกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ ปั่นป่วน วุ่นวาย อันจะถือว่าเป็นการมั่วสุมหรือไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ปัจจุบันสมบัติยังคงถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 รวมเวลา 195 วันแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จะยื่นประกันมาแล้วถึง 10 ครั้ง หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้เสร็จสิ้น สมบัติถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวออกไปจากห้องพิจารณาทันที โดยมีครอบครัวและเพื่อนติดตามลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อให้ได้อยู่ด้วยกันนานขึ้นก่อนที่สมบัติจะถูกนำตัวกลับเรือนจำ
.
ย้อนอ่านคำฟ้องในคดีนี้ >>> เปิดคำฟ้อง “สมบัติ ทองย้อย” คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุร่วมไล่ประยุทธ์-เรียกร้องแก้รธน. ในม็อบ #18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย
.
ย้อนดูบันทึกสืบพยาน สมบัติถูกเบิกตัวมาศาล พบหน้าครอบครัวครั้งแรกในรอบหลายเดือนตั้งแต่ถูกขัง
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 408 ครอบครัวของสมบัติประกอบไปด้วย พี่สาว ภรรยา และลูกสาว รวมถึงเพื่อนของสมบัติ 3 คน พร้อมทั้งนักศึกษา 6 คน ได้เดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานในวันที่ 15 มิ.ย. และ 22 ส.ค. 2565 ด้วย
เวลา 09.37 น. สมบัติถูกนำตัวเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี สมบัติเดินมาด้วยเท้าเปล่าและข้อเท้าถูกใส่ตรวน แม้เขาจะสวมหน้ากากอนามัย เผยให้เห็นแต่เพียงดวงตา แต่เมื่อเขาเดินเข้ามาจนพบหน้าครอบครัว เราก็สังเกตได้ทันทีว่าสมบัติมีสีหน้าที่สดใสขึ้นจากแววตา เพราะนับเป็นการเจอหน้ากันครั้งแรกของสมบัติและครอบครัว ตั้งแต่เขาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ ในคดีมาตรา 112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และอีก 2 ข้อความ
.
พยานโจทก์ปากที่ 1 – พ.ต.อ.ชัยณรงค์ – ผู้กล่าวหา
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ ทรัพยสาร เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้รับราชการเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.พญาไท มีหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาและสอบสวนคดีทางอาญา
พยานเบิกความตอบอัยการว่า ขณะเกิดเหตุมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ โดยนายกฯ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ระบุว่าข้อที่ 1 โดยห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ออกประกาศฉบับนี้ และพยานเบิกความว่า ทราบว่าประกาศดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ณ ขณะที่เกิดเหตุในคดีนี้
เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.00 น. พยานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใต้บังคับบัญชาเข้าตรวจสอบในพื้นที่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยได้รับรายงานว่าการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 15,000 – 20,000 คน โดยมีจำเลยอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้เก็บหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมไว้ได้
เหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนรู้จักจำเลย เพราะว่าจำเลยนั้นเคยเป็นอดีตการ์ด นปช. (คนเสื้อแดง) และเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 พยานได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากนั้นแล้วพยานยังได้สืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในโซเซียลอีกด้วย โดยพบว่าบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “สมบัติ ทองย้อย” ลงข้อความและรูปภาพ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวตรงกับภาพถ่ายของฝ่ายสืบสวนที่รวบรวมไว้ในรายงานการสืบสวน
ต่อมา พ.ต.อ.ชัยณรงค์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบดีถึงจุดประสงค์ของการชุมนุม #18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ว่ามีอยู่ 3 ข้อเรียกร้องด้วยกัน ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพลาออกจากตำแหน่ง, ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย
พยานทราบว่า มีการเรียกร้องด้วยข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อข้างต้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 แล้ว และพอจะทราบในเบื้องต้นว่าการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้และถูกประกาศรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
อีกทั้งทราบว่าข้อกำหนดที่ออกมาตามมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ในขณะที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้หยิบยกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ย่อหน้าที่ 2 ซึ่งระบุว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในข้อ 1 ของข้อกำหนดฉบับเดียวกันระบุว่า อนุญาตให้ประชาชนจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และในข้อกำหนดฉบับที่ 15 วรรคที่ 2 ระบุว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการป้องกันโรคโควิด-19 จนทำให้การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับ
พยานพอจะทราบว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ระบุไว้ว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมได้ตามความสมควรตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และยังทราบอีกว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ บังคับใช้จนถึงวันที่ 13 พ.ย. 2563 แต่มีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563
พยานไม่ทราบเกี่ยวกับกรณีการยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ อีกทั้งมีการออกแถลงการณ์จากอาจารย์นิติศาสตร์ และจดหมายเปิดผนึกของคณบดีนิติศาสตร์ถึงประธานศาลฎีกา กรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมถึงไม่ทราบว่าในวันที่ 22 ต.ค. 2563 มีการนัดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมก่อนที่ศาลจะงดไต่สวนหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในวันเดียวกันนั้น
พยานทราบพฤติกรรมของจำเลยว่า ในระหว่างการชุมนุม จำเลยไม่ได้มีอาวุธ หรือมีพฤติกรรมชักชวนหรือยุยงส่งเสริมผู้อื่นให้ใช้ความรุนแรง และตามรายงานการสืบสวนก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยครอบครองอาวุธ มีพฤติกรรมที่ยุยงส่งเสริม หรือทําลายทรัพย์สินราชการแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีการรายงานพฤติกรรมของจำเลยในช่วงเวลาอื่น นอกจากภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ ณ เวลา 16.00 น. เลย
พยานเบิกความว่า ระหว่างการชุมนุมมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมบ้าง แต่กระนั้นก็ไม่มีข้อมูลบันทึกอยู่ในรายงานการสืบสวนแต่อย่างใด
พยานทราบว่า ในคดีนี้ยังมีการแจ้งความร้องทุกข์กับผู้ชุมนุมอื่นอีก 5 คน ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ไพศาล จันทร์ปาน, อานันท์ ลุ่มจันทร์, วสันต์ กล่ำถาวร และสุวรรณา ตาลเหล็ก แต่พยานเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์คดีของภัสราวลีเพียงคนเดียวเท่านั้น พยานยังทราบว่าศาลแขวงดุสิตได้พิพากษายกฟ้องคดีทั้งหมดแล้ว โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ
ทนายจำเลยให้พยานดูสถิติการติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ในช่วงวันที่ 11-14 ต.ค. 2563 ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง รวมถึงสถิติของการติดเชื้อรายวันในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งไม่ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยพบการติดเชื้อโควิด-19 จากบุคคลที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเท่านั้น และหลังจากเกิดเหตุชุมนุมในคดีนี้ก็ไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยอีก
สุดท้ายทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไว้ว่า “โควิดมันกระจอก ยืนยันไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ สามารถจัดคอนเสิร์ตหรือชุมนุมทางการเมืองก็ได้” พยานตอบว่า “ไม่ทราบ” จนกระทั่งได้ยินมาจากทนายจำเลยเมื่อครู่นี้ ทนายจำเลยถามย้ำอีกว่า “ได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรกที่นี่ใช่ไหม” ซึ่งพยานก็ยังคงยืนยันว่า “รับทราบที่นี่ที่แรก”
พนักงานอัยการไม่มีการถามติง
.
พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ต.เกษม – พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ
พ.ต.ต.เกษม พิชิตกุล เบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีอาญาทั่วไป อยู่ที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สน.พญาไท
ในคดีนี้ พ.ต.ท.ชัยณรงค์ ทรัพยสาร รองผู้กำกับสืบสวน สน.พญาไท เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลย ซึ่งในขณะนั้นพยานเป็นผู้รับเรื่องแจ้งความไว้และได้สอบปากคำผู้กล่าวหาไว้ โดย พ.ต.ท.ชัยณรงค์ได้มอบรายงานการสืบสวนให้ในภายหลัง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ประกอบไปด้วย แผ่นซีดีบันทึกภาพนิ่งและเคลื่อนไหว จำนวน 1 แผ่น
จากนั้นพยานได้ออกหมายเรียกให้จำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 10 พ.ย. 2563 เมื่อจำเลยได้เดินทางมาตามนัดหมาย พยานจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย ซึ่งขณะนั้นจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พ.ต.ต.เกษม ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ประจำการอยู่ที่ สน.พญาไท โดยทราบความเคลื่อนไหวของการชุมนุมในวันเกิดเหตุผ่านสื่อโซเซียลต่างๆ พยานยืนยันว่าไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อที่ผู้ชุมนุมได้มีการเรียกร้องถึง ซึ่งได้แก่ ให้นายกฯ ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
พยานไม่แน่ใจว่า ประชาชนสามารถเรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้หรือไม่ อีกทั้งพยานไม่ทราบว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 และไม่ทราบว่ามีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนระยะเวลาที่กำหนด
ทนายจำเลยได้ถามว่า พยานทราบถึงกระแสต่อต้านหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และการออกแถลงการณ์ของอาจารย์นิติศาสตร์และเปิดผนึกจดหมายของคณบดีนิติศาสตร์ถึงประธานศาลฎีกาต่อกรณีดังกล่าวบ้างหรือไม่ ด้านพยานตอบซ้ำๆ ว่า “จำไม่ได้” พร้อมได้หัวเราะออกมาเบาๆ เท่านั้น
ทนายให้พยานดูภาพถ่ายที่พบจำเลยอยู่ในที่ชุมนุมในวันเกิดเหตุและถามว่า “ยืนเฉยๆ ก็ผิดกฎหมายแล้วเหรอ” พยานตอบว่า “ในตอนนั้นหากมีการรวมกลุ่มกันก็ถือว่าผิดกฎหมายแล้ว” ทนายยังได้ถามถึงรายงานการสอบสวนที่ระบุว่า ในที่ชุมนุมมีการพกอาวุธ พยานตอบแต่เพียงว่า ในรายงานบอกว่ามี แต่ไม่ทราบว่ามีเหตุการปะทะหรือความวุ่นวายหรือไม่
นอกจากคดีนี้แล้ว พยานได้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว 2 คดี และทราบดีว่า ก่อนหน้านี้ในคดีจากเหตุเดียวกันนี้ ศาลแขวงดุสิตได้ยกฟ้องไปแล้วถึง 5 คดี
สุดท้ายทนายจำเลยให้พยานดูสถิติที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเกิดเหตุชุมนุมในคดีนี้ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เลย พยานตอบว่า ข้อมูลดังกล่าวนานมาแล้วจึงไม่สามารถจำได้และไม่ทราบด้วยว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามสถิติดังกล่าวหรือไม่ อีกทั้งพยานเคยได้ยินที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเคยพูดว่า “โควิดมันกระจอก ยืนยันไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ สามารถจัดคอนเสิร์ตหรือชุมนุมทางการเมืองก็ได้”
อัยการไม่ถามติง
.
พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ต.เชษฐนีพันธ์ – ฝ่ายสืบสวนผู้จัดทำรายงานการสืบสวน
พ.ต.ต.เชษฐนีพันธ์ วงสวัสดิ์ ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ สน.ราษฎร์บูรณะ พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้รับราชการเป็นสารวัตรสืบสวน อยู่ที่ สน.พญาไท มีหน้าที่สืบสวน ติดตามผู้ต้องหากระทำความผิด ต่อมาในวันเกิดเหตุ นายกฯ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ
ก่อนเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชาของพยานได้สั่งให้สืบสวนว่า ประชาชนจะทำกิจกรรมชุมนุมที่ใดบ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ พยานจึงสืบสวนจนทราบว่ามีการนัดหมายการชุมนุมในวันที่ 18 ต.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของพยาน
ผู้บังคับบัญชาจึงให้พยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจใต้บังคับบัญชาลงพื้นที่ที่จะมีการชุมนุมดังกล่าวเพื่อตรวจสอบ ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.15 น. พยานและชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่ โดยแต่งกายด้วยชุดนอกเครื่องแบบ เมื่อไปถึงพบประชาชนรวมตัวประมาณ 100 คน พยานได้เข้าสังเกตการณ์และพบว่ามีประชาชนเข้ามาสมทบรวมตัวกันเรื่อยๆ จนมีประมาณ 10,000 – 20,000 คน จนเป็นเหตุให้ต้องปิดถนนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
นอกจากนี้ พยานได้พบเห็นจำเลยในพื้นที่การชุมนุมด้วย โดยขณะนั้นจำเลยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ พยานจึงได้ถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งเก็บไว้เป็นหลักฐาน ที่พยานทราบว่าเป็นจำเลย เพราะพบเห็นจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อการชุมนุมยุติลง พยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนส่งถึงผู้บังคับบัญชา โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฏจำเลยอยู่ในพื้นที่การชุมนุม และพยานยังได้ทำการสืบสวนหาข่าวทางโซเซียลจนพบภาพจำเลยขณะเข้าร่วมการชุมนุมถูกโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยเอง
พ.ต.ต.เชษฐนีพันธ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุมีการเรียกร้องอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ ให้นายกฯ ลาออก, ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยทราบว่า 3 ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีการชุมนุมในวันเกิดเหตุแล้ว
พยานไม่ทราบว่าประชาชนสามารถเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วย พยานทราบว่าก่อนเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว และขณะเดียวกันก็ยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพฯ ควบคู่ไปด้วย
พยานพอจะทราบว่า ในช่วงเกิดเหตุประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้นตามลำดับแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนตุลาคม 2563 ของประเทศนั้นเป็น ‘ศูนย์’
จากการลงพื้นที่การชุมนุมในวันเกิดเหตุ พยานไม่เห็นการปะทะกันของผูู้ชุมนุมแต่อย่างใด เห็นเพียงการกระทบกระทั่งเล็กน้อย แต่ไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรงและไม่ได้รายงานการกระทบกระทั่งเล็กน้อยดังกล่าวไปในรายงานสืบสวนด้วย อีกทั้งในวันเกิดเหตุพยานไม่เห็นจำเลยว่าพกหรือใช้อาวุธ รวมถึงสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่เปิดโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้ดี
อัยการไม่ถามติง
.
พยานจำเลย – สมบัติ จำเลยในคดีนี้
สมบัติเบิกความว่า ในวันที่ 18 ต.ค. 2563 ได้ไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนทั่วไปตั้งแต่เวลา 16.00 น. โดยไม่ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีแต่อย่างใด และอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจนกระทั่งการชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 22.00 น. แล้วจึงเดินทางกลับ
หลังเกิดเหตุไม่นานปรากฏว่าได้รับหมายเรียกจาก สน.พญาไท เมื่อเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาสมบัติได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เพราะคิดว่าการเข้าร่วมชุมนุมถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงทำได้ อีกทั้งในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมล้วนใส่หน้ากากอนามัย ก่อนเริ่มการชุมนุมมีเหล่าอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมเข้าลงชื่อสนับสนุนให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเห็นว่าเป็นข้อบังคับที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้จากรัฐ
สมบัติทราบว่า การชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงที่นายกฯ ได้ประกาศว่าพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและห้ามชุมนุมเกิน 5 คน สุดท้ายสมบัติกล่าวว่า ไม่รู้จักพยานฝั่งโจทก์และไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันแต่อย่างใด แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงต้องดำเนินคดีกับตนเองด้วย เพราะการชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้นมีผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 10,000 คน
อัยการไม่ถามค้าน
.