เปิดคำฟ้อง “สมบัติ ทองย้อย” คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุร่วมไล่ประยุทธ์-เรียกร้องแก้รธน. ในม็อบ #18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) เวลา 10.50 น. ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงวัย 52 ปี ในฐานความผิดฐานฝ่าฝืนข้อข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากได้ออกไปชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

มูลเหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 ระหว่างการชุมนุม #18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมนัดหมายกันทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้มารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณใกล้เคียง โดยขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

ต่อมา พ.ต.ท.ชัยณรงค์ ทรัพยสาร รองผู้กำกับสืบสวนสน.พญาไท ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 3 ราย ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย โดยก่อนหน้านี้ อัยการได้สั่งฟ้องชลธิชาต่อศาลแขวงดุสิตไปแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 64

 

>>> คดีพุ่งต่อเนื่อง แจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักกิจกรรม จากชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

>>> อัยการสั่งฟ้อง “ลูกเกด-ชลธิชา” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 2 คดี กรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลา และ #ม็อบ21ตุลา

 

คำฟ้องอัยการระบุ จำเลยร่วมชุมนุมกับประชาชนอีก 2 หมื่นคน ฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 10.50 น. นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้แจ้งผู้ต้องหาว่าได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิต 

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จําเลยมีพฤติการณ์ทำความผิดดังต่อไปนี้ 

ด้วยปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดําเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ และได้ออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 18 ต.ค 63 เวลากลางวัน ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศ และข้อกําหนดดังกล่าว มีผลบังคับใช้ จําเลยกับบุคคลรวมจํานวนประมาณ 20,000 คน ซึ่งมีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ได้บังอาจรวมตัวชุมนุมหรือมั่วสุม บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งที่ออกตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมาวันที่ 10 พ.ย. 63 เวลากลางวัน จําเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน รับทราบข้อเท็จจริง ข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนจําเลยแล้ว ในชั้นสอนสวนจําเลยให้การปฏิเสธ 

ระหว่างสอบสวนจําเลยไม่ถูกควบคุมตลอดมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคําร้องขอผัดฟ้องจําเลยไว้ ตามคําร้องของศาลนี้ แต่คดีขาดผัดฟ้อง รองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ฟ้องจําเลยแล้ว 

 

ศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข 

ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวสมบัติชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและมีหลักประกันแต่อย่างใด เพียงแต่ให้จำเลยสาบานตนว่าจะมาตามนัดของศาลเท่านั้น โดยศาลได้นัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีวันที่ 1 ตุลาคม 64 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด (ดูรายละเอียดการชุมนุมใน Mob Data Thailand)

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้นมา มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อยใน 159 คดี คิดเป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 513 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นคดีในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี (ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 63 เวลา 4.00 น. ถึงวันที่ 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น.)

 

X