ยกฟ้อง! “แซน” นร.ภูเขียว คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ ศาลเยาวชนชัยภูมิชี้ จำเลยไม่ใช่ผู้จัด ไม่มีหน้าที่ขออนุญาต – ชุมนุมในที่โล่ง ไม่แพร่โควิด

25 ต.ค. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ “แซน” นักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ และนักกิจกรรมเยาวชน ถูกพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ฟ้องในข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมชุมนุมที่มีความแออัด และมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยไม่ได้รับอนุญาต” จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เรียกร้องให้ครูและตำรวจขอโทษกรณีคุกคามนักเรียนที่ลงชื่อไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์”  

ราว 13.30 น. ชโยธิตย์ ตรงจิตซื่อสกุล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า

เห็นว่า ในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมในพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องด้วยขณะเกิดเหตุมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจนำคำนิยามตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาปรับใช้ในคดีนี้ได้ และพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เห็นจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และอรรถพล บัวพัฒน์ เป็นแกนนำ รวมถึงมีบทบาทในการเจรจาต่อรองเรื่องป้ายผ้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งพนักงานสอบสวนก็มีความเห็นว่า จำเลยเป็นผู้มาร่วมชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตและไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด

ส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด พยานโจทก์ตอบคำถามค้านว่า สถานที่เกิดเหตุบริเวณริมถนนหน้าโรงเรียนภูเขียวเป็นสถานที่ไม่แออัด มีขนาดกว้าง เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมเต็มสถานที่ ส่วนบริเวณหน้า สภ.ภูเขียว ตามภาพถ่ายหลักฐานของโจทก์ก็ยังชี้ให้เห็นว่า มีที่ว่างเพียงพอให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายไปมาได้

นอกจากนี้ พยานโจทก์เองก็เบิกความว่า การชุมนุมที่แออัดหมายถึงการชุมนุมที่สถานที่แออัดไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ หรือหมายถึงการใช้สถานที่เต็มพื้นที่ การชุมนุมในคดีนี้จึงมิใช่การชุมนุมในสถานที่แออัด

สำหรับความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมในลักษณะช่วยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) โจทก์จะต้องบรรยายการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ละเอียดเพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ในคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยและพวกเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบอย่างไร

ส่วนความผิดฐานทำกิจกรรมในลักษณะแพร่โรคหรือชุมนุมในพื้นที่เฝ้าระวังสูงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในบรรดาประกาศข้อกำหนดต่างๆ ในคดีนี้มีได้มีคำนิยามคำว่า “เสี่ยงต่อการแพร่โรค” จึงต้องวินิจฉัยตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม คำว่า “เสี่ยง” หมายถึง มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย ซึ่งจากภาพถ่าย ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ที่ชุมนุมโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ทั้งพยานโจทก์ปากสาธารณสุขอำเภอก็เบิกความว่ามิได้มีการแพร่ระบาดหรือมีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่อำเภอภูเขียวแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์แม้แสดงว่าการเข้าร่วมชุมนุมเสี่ยงติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้าง อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควร การกระทำดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในพื้นที่เฝ้าระวังสูงหรือไม่ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

พิพากษายกฟ้อง.

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษา แซนและแม่ พร้อมทั้งที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษา ได้ติดต่อขอคืนเงินประกันที่วางต่อศาลมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณา จำนวน 2,000 บาท ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 2-3 วัน ก่อนทั้งหมดเดินทางออกจากศาลด้วยสีหน้าที่ยังคงแสดงถึงความดีใจ

แซนเปิดเผยความรู้สึกต่อคดีแรกที่ศาลตัดสินและพิพากษายกฟ้องว่า

“ความรู้สึกแรกที่ได้ฟังคำพิพากษาเรารู้สึกประทับใจในความเป็นธรรมของผู้พิพากษา และมีหวังเล็กๆ ว่า ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาทุกคนที่จะเมินเฉยต่อความไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม แต่เมื่อกลับมาคิดอีกมุมหนึ่ง คำพิพากษายกฟ้องนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปอยู่แล้วในคดีที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเช่นนี้ เพราะการที่ประชาชนเพียงแต่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมนั้นไม่สมควรที่จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก”

“นอกจากการยกฟ้องในคดีนี้แล้วสิ่งที่อยากเห็นคือ ผู้พิพากษาทุกคนในระบบตุลาการของไทยเป็นเสาหลักให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศ ไม่ใช่พวกทรราชที่ปล้นอำนาจของประชาชน”

เมื่อถามถึงผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีมากกว่า 10 คดี แซนกล่าวว่า

“รู้สึกเสียเวลาเป็นส่วนใหญ่ และมีผลกระทบต่อการเรียนอย่างมาก เพราะวันนัดคดีจะตรงกับวันเรียนทั้งหมด ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตนั้น ในส่วนตัวเองยังไม่เท่าไหร่ แต่แม่ที่ต้องมาเป็นผู้ปกครองให้ได้รับผลกระทบมากๆ ทั้งเรื่องงานและชีวิตประจำวัน บางทีแม่ไม่สบายหนักมากแต่ก็ต้องฝืนตัวเองไปกับเรา ทั้งยังเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มันก็เป็นความโกรธในใจเราที่แม่ต้องมาเดือดร้อนด้วย”

แซนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองคดีนี้เป็นคดีแรก ขณะที่เธอมีอายุเพียง 15 ปี ทั้งเป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาในจำนวนคดีที่เกิดจากการเข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองถึง 11 คดี 

คดีนี้ยังนับเป็นคดีจากการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนคดีเดียวในภาคอีสานที่ถูกฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ ในห้วงเกือบ 3 ปี ของการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนคนรุ่นใหม่ 

.

อ่านการต่อสู้คดีในศาล

ย้อนดู “แซน” นร.ภูเขียว ยืนยันเสรีภาพการแสดงออกที่ไม่ควรถูกลิดรอน ก่อนศาลเยาวชนมีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ

อ่านเรื่องราวของแซน

“สังคมถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้” คุยกับ ‘แซน’ นร.ภูเขียว 1 ในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ม็อบเคลื่อนไหวด้วยหัวใจเยาวรุ่น

X