ฟ้อง! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นักเรียนภูเขียว ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ “แซน” ยืนยันสู้คดีเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม

28 มี.ค. 2565 แซน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.4 อายุ 16 ปี พร้อมแม่ เดินทางจากบ้านที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ไปที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ ในนัดส่งฟ้องคดีที่แซนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมกับ “ราษฎรออนทัวร์” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่หน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว

เมื่อแซนและแม่เดินทางไปถึงเวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการได้พาตัวแซนไปส่งฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเขียว โดยที่ปรึกษากฎหมายและแม่ติดตามไปด้วย  

หลังจากเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนฯ รับคำฟ้องได้แจ้งให้ แซน นายประกันก็คือแม่ และที่ปรึกษากฎหมายขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี ทั้งนี้ ระหว่างรอศาลออกพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้เข้ามาพูดคุยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นเรื่องการชุมนุม ไม่ใช่คดีอาชญากรรมทั่วไป หากเยาวชนรับสารภาพศาลน่าจะเมตตาไม่อยากลงโทษ แต่จะเป็นการตักเตือนและให้เข้าสู่มาตรการฟื้นฟูเยาวชนต่อไป โดยวันนี้หากรับสารภาพศาลอาจจะอ่านคำพิพากษาเลยหรือนัดให้มาฟังคำพิพากษาในวันหลัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ที่ปรึกษากฎหมายได้ถามแซนอีกครั้งว่า ตัดสินใจให้การอย่างไร โดยแซนยืนยันว่าขอปฏิเสธและต่อสู้คดี

เวลา 11.00 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาและอ่านคำฟ้อง ที่ เล็ก หอมละมัย พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ บรรยายฟ้องมาว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จําเลยกับพวกรวม 12 คน ซึ่งพ้นเกณฑ์เยาวชนและได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันชุมนุมที่มีการรวมคนจํานวนมากในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง 

โดยจำเลยและผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่รักษาระยะห่างตามสมควร และไม่มีการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียววิทยา และหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ อัยการได้ฟ้องแซนในฐานความผิด ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ได้ฟ้อง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40 ตามที่พนักงานสอบสวนมีความเห็น อย่างไรก็ตาม การถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีโทษทางอาญา คือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

คำฟ้องระบุด้วยว่า แซนเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ ยชอ.59/2565 (คดีชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า) ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ศาลนับโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวด้วย

หลังจากอ่านคำฟ้องจบศาลได้สอบถามแซนว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ก่อนที่แซนจะให้การปฏิเสธ ศาลกล่าวต่อว่า เมื่อปฏิเสธก็ต้องเตรียมหลักฐานมาต่อสู้คดี และนัดมาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีนั้น เนื่องจากในชั้นสอบสวนศาลได้อนุญาตให้ประกันจนถึงชั้นพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์ 2,000 บาท ในชั้นนี้จึงไม่ต้องยื่นประกันตัวอีกครั้ง โดยหลังจากเสร็จกระบวนการในห้องพิจารณา แซนและแม่จึงเดินทางกลับบ้าน

พนักงานคุมประพฤติชี้ ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากป้องกันโควิด -19 แต่สรุปว่า แซนคล้อยตามผู้อื่นเป็นเหตุให้กระทำผิด

นอกจากศาลอ่านฟ้องให้แซนฟังแล้ว ยังได้นำรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งจัดทำโดยพนักงานคุมประพฤติ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิ ให้แซนและแม่อ่าน รายงานดังกล่าวนอกจากสรุปพฤติการณ์ในคดี ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า แซนได้ออกไปร่วมชุมนุมที่หน้า ร.ร.ภูเขียว และ สภ.ภูเขียว ด้วย โดยทราบดีว่าขณะนั้นมีการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ทุกคนที่มาร่วมชุมนุมก็มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ 

รายงานข้อเท็จจริงยังระบุว่า ไม่ปรากฏว่าแซนมีพฤติกรรมเสียหายในด้านใดมาก่อน ไม่มีประวัติการกระทำผิด

ผู้ปกครองให้การดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ และค่อนข้างให้อิสระทางความคิด ทั้งนี้ หากเยาวชนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ปกครองจะว่ากล่าวตักเตือน โดยเยาวชนจะพูดคุยกับผู้ปกครองด้วยเหตุผล 

อย่างไรก็ตาม พนักงานคุมประพฤติมีความเห็นว่า ผู้ปกครองให้เยาวชนมีอิสระเกินสมควร ส่งผลให้เยาวชนซึ่งยังขาดวุฒิภาวะคล้อยตามผู้อื่นได้ง่ายจนเป็นเหตุให้กระทำผิดในครั้งนี้ ด้านผู้อํานวยการสถานพินิจฯ ให้ความเห็นในรายงานว่า เห็นสมควรให้โอกาสเยาวชน โดยให้เข้ามาตรการพิเศษ แทนการพิพากษาคดีเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีการกําหนดเงื่อนไขในการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูเยาวชนตามที่ศาลเห็นสมควร  

ที่ปรึกษากฎหมายและแซนได้คัดค้านรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยศาลให้ทำคำคัดค้านยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน  

ก่อนหน้านี้ เมื่อสำนวนถูกส่งให้อัยการ แซนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมขอให้ไม่ฟ้องคดี  เนื่องจากผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนเพียงแต่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญให้การรับรอง ทั้งยังเป็นการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง

นับจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนคนรุ่นใหม่ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา คดีของแซนนับเป็นคดีจากการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนคดีเดียวในภาคอีสานที่ถูกฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ 

.

ปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะการต่อต้านความอยุติธรรมเป็นหน้าที่หลักของพลเมือง

แซนกล่าวหลังเสร็จกระบวนการพิจารณาคดีว่า รู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะเราไปค่ายเรียนรู้ ไปทำกิจกรรมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แต่เรากลับถูกคุกคาม พอเราไปเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาขอโทษเรากลับถูกดำเนินคดี

เมื่อถามถึงเหตุผลในการต่อสู้คดี แซนให้ความเห็นว่า ในกระบวนการตัดสินใจให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดีของกลุ่มทะลุฟ้าที่ศาลจังหวัดภูเขียวไม่มีอิทธิพลในการตัดสินใจ  ด้วยเห็นเองได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิดและการต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมเป็นหน้าที่หลักของพลเมืองในสังคม จึงปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในมุมมองของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้วหลายคดี ได้พบเจ้าหน้าที่ศาลมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แซนเห็นว่า เจ้าหน้าที่ศาลบางคนก็จะปฏิบัติกับเธอดีเป็นพิเศษกว่าจำเลยในคดีอื่นๆ บางคนก็จะปฏิบัติแย่กว่าจำเลยคดีอื่นๆ  ซึ่งนั่นเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีในกระบวนการยุติธรรม

>>> “สังคมถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้” คุยกับ ‘แซน’ นร.ภูเขียว 1 ในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ม็อบเคลื่อนไหวด้วยหัวใจเยาวรุ่น

เยาวชนจากภูเขียวยังพูดถึงอนาคตอันใกล้ว่า วางแผนทำกิจกรรมจนกว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกไป จะได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจะได้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ ก็ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม หรือ พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่ว่ารัฐไทยจะออก พ.ร.บ. หรือจะออกกฎหมายมาตราอะไรเพื่อจำกัดสิทธิของเรา เราก็ยังจะต่อสู้เพื่อให้ได้สังคมที่ไร้การกดขี่

สำหรับเหตุในการถูกดำเนินคดีนี้ของแซน เริ่มจากแซนลงชื่อสมัครไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ค่ายเรียนรู้ประชาธิปไตย ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่เหมืองทอง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมกับเพื่อนนักเรียนหลายคน แต่กลับถูกตำรวจ สภ.ภูเขียว และครูคุกคามถึงบ้าน ห้ามไม่ให้เข้าร่วมค่าย จนนักเรียนหลายคนถอนตัว ภายหลังค่าย กลุ่ม “ราษฎร” ผู้จัดค่ายจึงจัดการชุมนุมข้างรั้ว ร.ร.ภูเขียว และหน้า สภ.ภูเขียว ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดค่าย และเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษที่คุกคามเด็กนักเรียน 

นอกจากแซนและเพื่อนๆ ไม่ได้รับคำขอโทษจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว กลับถูกดำเนินคดีพร้อมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 25 คน โดยคดีของอีก 25 ราย มีการแยกเป็นถูกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 22 ราย และถูกฟ้องข้อหา 112 อีก 3 ราย ซึ่งจะถูกพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดภูเขียว มีเพียงแซนที่ต้องเดินทางจาก อ.ภูเขียว เพื่อมาสู้คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากแซนมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.ชัยภูมิเห็นควรสั่งฟ้อง “แซน” นร.ภูเขียว ชุมนุมเรียกร้องตำรวจขอโทษ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะแซนยื่นหนังสืออัยการ ชี้การฟ้องคดีขัดอนุสัญญาสิทธิเด็ก-ICCPR

ยื่นฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว “ราษฎรออนทัวร์” ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ก่อนศาลให้ประกันมีเงื่อนไขห้ามทำอีก “ทราย” ชี้กระบวนการใช้ กม. “ไม่สม่ำเสมอ”  

ฟ้อง ม.112-116 “ครูใหญ่-ไผ่-ไมค์” ปราศรัยหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องสถาบันกษัตริย์ปรับตัว ก่อนครูใหญ่ได้ประกันตัว

X