29 เม.ย. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ 4 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์ และปนัดดา ศิริมาศกูล ต่อศาลอาญา กรณีถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 โดยมีการแสดงออกผ่านการปาถุงสีแดงใส่บริเวณหน้าพรรคด้วย ต่อมาศาลให้ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขทั้งให้ติด EM, ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงกลางคืน และห้ามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ในคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่อย่างใด
สำหรับคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 7 คน โดยเป็นคดีของ สน.บางเขน ทั้งหมดถูกทยอยแจ้งข้อกล่าวหาไม่พร้อมกันในช่วงปี 2564 ก่อนจะมีการแยกสำนวนสั่งฟ้องทั้งหมด 4 คน ก่อน ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกับตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แต่ไม่เลิก, ร่วมกับขีดเขียนพ่นสี หรือทําให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ ที่กําแพง อาคาร หรือที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อมาในช่วงเย็น ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันสำหรับจตุภัทร์ เป็นจำนวน 70,000 บาท ส่วนอีกสามคนวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์จำนวน 175,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เห็นควรให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่จะต้องมาดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น มิฉะนั้น จะถือว่าผิดสัญญาประกัน
คำสั่งการประกันตัว เป็นรูปแบบการจัดพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ และไม่ได้มีการระบุชื่อผู้พิพากษาที่จัดทำคำสั่งเอาไว้ โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าเงื่อนไขการประกันตัวดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับแกนนำราษฎรหลายคนในคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ในคดีนี้ไม่ได้มีข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ขณะที่ทั้งจิตริน, ทรงพล และปนัดดา เอง ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน
ผลของเงื่อนไขการประกันตัวเช่นนี้ ทำให้จิตริน, ทรงพล และปนัดดา ต้องถูกกำไล EM เพิ่ม และถูกกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงกลางคืน ขณะที่จตุภัทร์ถูกติด EM และมีเงื่อนไขการประกันตัวจากคดีอื่นของเขาอยู่แล้ว
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
1 ปี ประกันตัวคดีการเมือง ถูกสั่งติด EM ไม่น้อยกว่า 54 คน พร้อมผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
.