8 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวยื่นฟ้อง “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักศึกษา-นักกิจกรรม รวม 12 คน ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุกลุ่ม “ราษฎรออนทัวร์” ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตร.ขอโทษที่ไปคุกคามครอบครัวนักเรียน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 หลังศาลรับฟ้องได้ให้ประกันโดยการสาบานตนแทนการวางหลักทรัพย์ แต่กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก
ประมาณ 13.30 น. อินทิรา เจริญปุระ, ปนัดดา ศิริมาศกูล, ทรงพล สนธิรักษ์, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล, วันชัย สุธงษา, เมยาวัฒน์ บึงมุม, นภาวดี พรหมหาราช, กิตติภูมิ ทะสา, ณพกิตติ์ มะโนชัย, เกรียงไกร จันกกผึ้ง และขนุน (นามสมมติ) ซึ่งเกือบทุกคนยังเป็นนักศึกษา เดินทางมาถึงสำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิตามนัดยื่นฟ้องคดี หลังอัยการมีหนังสือแจ้งคำสั่งฟ้องส่งถึงทุกคนราวต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ราว 14.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการฯ นำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่ควบคุมตัวเข้าห้องขังด้านหลังศาล เพื่อรอศาลพิจารณาคำฟ้อง ขณะทนายความดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน
กว่า 1 ชม. ศาลจึงให้เบิกตัวนักกิจกรรมทั้ง 12 คน ไปที่ห้องเวรชี้ จากนั้นหัวหน้าศาลจังหวัดชัยภูมิได้ออกพิจารณาคดีด้วยตัวเอง โดยเรียกชื่อทีละคนเพื่อยืนยันตัวจำเลยตามคำฟ้อง ก่อนอ่านฟ้องให้ฟัง และสอบคำให้การเบื้องต้น ทนายจำเลยแถลงว่า ขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือในนัดหน้า เนื่องจากเพิ่งได้รับคำฟ้องในวันนี้
ทั้งนี้ อัยการได้แยกฟ้องเป็น 2 คดี คดีแรกมีอินทิราและพวกรวม 11 คน เป็นจำเลย คดีที่สองมีณพกิตติ์ เป็นจำเลย เนื่องจากเมื่อครั้งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ นักกิจกรรมเดินทางไปรายงานตัวอัยการไม่พร้อมกัน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ทำให้คดีถูกแยกสำนวนออกไป ซึ่งนอกจาก 2 คดีนี้แล้ว ยังมีผู้ต้องหาอีก 10 ราย ซึ่งอัยการนัดมายื่นฟ้องแยกเป็นอีก 1 คดี ในวันที่ 18 มี.ค. 2565
ทนายจำเลยจึงได้แถลงต่อศาลถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า คดีทั้งหมดมีมูลเหตุเดียวกัน คือการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 หากรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกันจะสะดวกต่อทุกฝ่าย เนื่องจากพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน
ศาลให้ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีมาในนัดหน้า และนัดคุ้มครองสิทธิ สอบคำให้การ พร้อมทั้งตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 26 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
ประมาณ 16.00 น. ตำรวจศาลนำตัวนักกิจกรรมทั้งหมดไปที่ห้องขังอีกครั้ง เพื่อรอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ในเวลาเกือบ 17.00 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยการสาบานตนแทนการวางหลักทรัพย์ประกัน แต่กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ภายหลังนักกิจกรรมทั้งสิบสองลงชื่อในเอกสารสาบานตนจึงได้รับการปล่อยตัว
“ทราย” ไม่ผิดคาดที่อัยการฟ้อง แต่สงสัยใช้ไม้บรรทัดไหนวัด
ทราย นักแสดงและนักกิจกรรม “ราษฎร” ให้ความเห็นต่อการถูกฟ้องคดีในที่สุดว่า “ก็ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย จากที่เห็นการเมืองมา ถึงไม่ได้ลงลึกแต่รู้ว่าเรื่องนี้ก็คงฟ้องแหละ เพราะมันก็เข้าเหตุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เขาประกาศใช้และใช้ยาวมาถึงตอนนี้ มันเป็นองค์ประกอบที่เอามาใช้ควบคุมการทำกิจกรรมและชุมนุม ก็เลยไม่ได้แปลกใจอะไร เหมือนมันเป็นกระบวนการ แต่เป็นกระบวนการที่ไม่สม่ำเสมอ เพราะในช่วงนั้น เราก็ยังได้ข่าวว่ามีคลัสเตอร์ต่างๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่สืบทราบได้ว่ามีคนติดโควิดจากคลัสเตอร์นั้นจริงๆ แต่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี
ยอมรับว่าทุกการรวมตัวมีความเสี่ยงต่อการจะเป็นคลัสเตอร์ หรือแพร่กระจายเชื้อได้ แต่จากวันที่ชุมนุม มันไม่มีใครติด ไม่มีใครป่วย เพราะทรายเองก็คอยมอนิเตอร์อยู่ มันเป็นเรื่องที่เราระวังอยู่แล้วว่าจะโดนโจมตีว่าเป็นตัวการแพร่เชื้อสำหรับการชุมนุมต่างๆ แต่มันก็ไม่มี เพราะทุกคนรับรู้ถึงความเสี่ยงทั้งในแง่สุขภาพและแง่การโดนข่าวโจมตี
ก็เลยไม่รู้ว่าเขาเอาไม้บรรทัดไหนวัด ถ้าจะบอกว่าผิดเพราะรวมตัว มันก็ต้องผิดทุกการรวมตัวตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร จัดเพื่ออะไร แต่ถ้าจะวัดจากการจัดการว่ามีคนติดโควิดจากการชุมนุมครั้งนั้นๆ มั้ย ครั้งนี้มันก็ไม่มี แต่ทรายไม่ได้ติดใจอะไร ราชการเค้าวัดตามแบบคนออกกฎอยู่แล้ว ถึงเราจะบอกการชุมนุมเป็นสิทธิ แต่เค้าถือ พ.ร.ก.อันนี้ในพื้นที่อยู่ ก็ตามนั้นค่ะ”
จำเลยอีกรายในคดีซึ่งมีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัยที่เพิ่งพ้นเยาวชนและอยู่ระหว่างการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ขนุน สมาชิกภาคีนักเรียน KKC เคยเล่าถึงการถูกดำเนินคดีในคดีนี้เป็นครั้งแรกว่า จากเหตุเพียงเพราะเธออยากไปสัมภาษณ์แซน นักเรียนที่ถูกตำรวจคุกคามถึงบ้าน เมื่อไลฟ์สดสัมภาษณ์แซนเสร็จแล้ว จึงเข้าไปร่วมในที่ชุมนุมขณะมีการอ่านแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา จากนั้นการชุมนุมก็ยุติลง
การถูกดำเนินคดีนอกจากทำให้เสียเวลาล้ำค่าในช่วงชีวิตวัยรุ่นไปกับการไปตามนัดของตำรวจและอัยการแล้ว ขนุนยังรู้สึกเหมือนโลกบังคับให้ต้องโตเร็วเกินไป ถึงอย่างนั้นขนุนก็มองว่า มันบ่งชี้ว่ารัฐได้รับแรงสั่นสะเทือนถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ร้อนรนถึงกับจะปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง ด้วยวิธีอยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเคยเป็นมา
เคยขอความเป็นธรรมอัยการให้สั่งไม่ฟ้องคดี แต่ไม่เป็นผล
การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 หลังการชุมนุม ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรม 22 ราย แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ในนัดส่งสำนวนให้อัยการ นักกิจกรรมได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สอบเพิ่มเติมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือสื่อมวลชน ในประเด็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการชุมนุม และขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงคดีชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ซึ่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ให้เหตุผลว่าเป็นการชุมนุมในที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมไม่ได้เบียดเสียดใกล้ชิดกัน เป็นไปโดยสงบ และในช่วงที่ชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด โดยที่ทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงที่คล้ายกัน
แต่ในที่สุด อัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในความผิดฐาน ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้สั่งฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
จิตรปรีดี สกุลเสาวภาค และพิสิษฐ์ เสียงบัณฑิตกุล พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว บรรยายฟ้องใน 2 คดี คล้ายคลึงกัน ระบุว่า
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จําเลยได้ร่วมกันชุมนุม ทํากิจกรรม ที่มีการรวมคนในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจําเลยกับพวกได้นำผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่รักษาระยะห่างตามสมควร และไม่มีการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียววิทยา และหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประกาศห้ามการมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ
ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของอินทิรา, ปนัดดา, ทรงพล และนภาวดี ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของศาลอาญา, ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงดุสิตด้วย
ทั้งนี้ นอกจากนักกิจกรรม 22 ราย ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยังมีเยาวชนอีกราย คือ แซน (นามสมมติ) นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนภูเขียว ซึ่งพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิมีคำสั่งฟ้องและนัดมาส่งฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 28 มี.ค. 2565 ส่วนอีก 3 ราย คือ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ทั้งในข้อหาตามมาตรา 112, 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และมีนัดถามคำให้การในวันที่ 23 มี.ค.นี้