– ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะอยู่บ้านกำลังติดตามข่าวสารการเมืองในโซเชียลมีเดีย นอกจากข่าวการรัฐประหารที่เมียนมา และข่าวการละเมิดสิทธิฯ ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นผลให้ขนุน (นามสมมติ) นักเรียนอายุ 18 ปี ตัดสินใจเดินทางจากขอนแก่นไปอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะหนึ่งในภาคีนักเรียน KKC ที่อยากไปถามไถ่และแสดงความห่วงใยเพื่อนนักเรียนในอำเภอแห่งนั้น หลังถูกตำรวจคุกคามถึงบ้านเพียงเพราะยื่นใบสมัครเข้าค่ายราษฎรออนทัวร์ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 – วันดังกล่าวขนุนไปปรากฏตัวที่ สภ.ภูเขียว ขณะมีการชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจออกมาขอโทษนักเรียนต่อการคุกคามดังกล่าว เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่อยู่ที่นั่น เธอจำได้ดีว่าไปไลฟ์สดสัมภาษณ์แซน (นามสมมติ) นักเรียนวัย 15 ปี เกี่ยวกับเรื่องตำรวจไปคุกคามที่บ้าน และไปยืนรวมกับผู้ชุมนุมอื่นเพื่อถ่ายภาพขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง ก่อนการชุมนุมในชื่อราษฎรออนทัวร์วันนั้นจะยุติลง – สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในขบวนการการเมือง ขนุนรู้สึกถึงช่วงเวลาที่ถูกบังคับให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ไวขึ้นแบบไม่คาดคิด เมื่อหมายเรียกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ สภ.ภูเขียว มาถึงที่บ้าน ทำให้ต้องจัดตารางเวลาไว้สำหรับการต่อสู้คดี ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด |
.
ตั้งแต่ปี 2563 เมื่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มปรากฏขึ้นทั่วประเทศ กลุ่มเยาวชนและนักเรียนเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ ‘ขนุน’ และกลุ่มเพื่อนภาคีนักเรียน KKC ในจังหวัดขอนแก่น ที่ออกมาจัดชุมนุมแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลกแอก การจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา การติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นักเรียนถูกกระทำจากอำนาจนิยมในโรงเรียน
‘ไม่ว่าจะต้องตัดสินใจอีกกี่ครั้ง ยังไงก็ไป”
ต่อให้ถามอีกกี่ครั้ง ขนุนจะย้ำเสมอถึงการเลือกที่จะไปภูเขียว แม้การออกไปร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหล่าเยาวชนครั้งนั้น จะทำให้เธอต้องกลายเป็นผู้ต้องหาไปในชั่วพริบตา แต่ในด้านหนึ่งกลับทำให้ขนุนเติบโตเปลี่ยนผ่านทางความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความเป็นธรรม’ ของประเทศนี้ไปตลอดกาล
อย่างไม่รอช้า บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปรู้จักกับ “ขนุน’ สมาชิกภาคีนักเรียน KKC ในแบบฉบับเมื่อเด็กต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ในชั่วพริบตา เพราะเผชิญหน้ากับคดีการเมือง
.
วัยเยาว์ เฝ้ามองเผด็จการอำนาจนิยมอยู่ไกลๆ
“ขอนแก่นเป็นเมืองที่ตรงๆ ดี ไม่ได้โรแมนติก หรือมีความทันสมัยอะไรขนาดนั้น แต่ก็ไม่อ่านออกยาก เป็นเมืองใหญ่ที่ไม่ซ่อนอะไรไว้เลย”
สวนรัชดานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น ที่มีรูปปั้นสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยืนตระหง่านอยู่ ใกล้กันเป็นจุดจอดรถโดยสารที่ที่ขนุนนักเรียน ป.6 โรงเรียนสนามบิน รอนั่งรถกลับบ้านที่ต่างอำเภอทุกวัน ภาพคนจนเมืองที่แปรสภาพมาเป็นคนไร้บ้านที่เยอะมากขึ้นกว่าทุกปี ปรากฏอยู่ตามที่ที่เธอเดินผ่านทุกวัน
ช่วงเวลานั้นขนุนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองที่เธออาศัยอยู่ แม้ภายหลังคนไร้บ้านเหล่านั้นจะหายไปแทบหมด แต่ก็อดสงสัยต่อไปไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นหายไปไหน ถูกผลักและรัฐปกปิดเรื่องนี้ซุกไว้ใต้พรมหรือไม่
.
.
ขณะที่สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของเมือง ขนุนรู้จักกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเปิดทีวีไปมักจะเจอข่าวคนที่คิดตรงข้าม คสช. ถูกเรียกรายงานตัว และถูกดำเนินคดี
“ช่องเสื้อแดงที่เราเคยดู หายไปไหนไม่รู้ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ หายไปไหน แล้วเขาจะเป็นยังไง ทุกอย่างถูกชัตดาวน์ บรรยากาศรู้สึกหดหู่”
ผลกระทบแรกที่ขนุนสัมผัสได้ส่วนตัวขณะมีรัฐประหาร ปี 2557 คือการถูกเลื่อนสอบโอเน็ต ที่เธอตั้งใจไว้จะทำคะแนนสอบให้ดีที่สุด และพ่อของขนุนเป็นคนแรกที่บอกว่าการยึดอำนาจแบบนี้มันไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ก่อนที่ขนุนจะเห็นว่าค่านิยม 12 ประการ ที่เริ่มถูกบังคับให้ท่องจำในโรงเรียนหลังรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึก
“หนูเป็นคนแรกๆในห้องที่ท่องได้ ท่องเพื่อเอาคะแนน ในทางหนึ่งมันคือไฟต์บังคับที่ทำให้เราชินกับเผด็จการและเชื่อง เขาคงจะเอาความคิดแบบนี้มาครอบ แต่เด็กๆ รุ่นเราไม่เอาอีกแล้ว กลับบ้านไปมีอย่างอื่นให้ดูมากมาย ทั้งนารูโตะ การ์ตูน และข่าวอื่นๆ กว้างไกลมากขึ้น ลึกๆ เรารู้สึกรำคาญ ที่โดนป้อนข้อมูลจากผู้พยายามควบคุมแล้วเขาเข้าใจผิดว่า เขาควบคุมเราได้”
ช่วงเวลานั้นบทสนทนาของครอบครัวมีการพูดการเมืองบ่อย แต่เท่าที่ขนุนจำได้แม่นยำเป็นเรื่องความจงรักภักดี “และเราตั้งคำถามโดยอ่านเรื่องราวของควีนอลิซาเบธ ที่คนจำนวนมากจ่ายภาษีให้คนกลุ่มแค่นี้ แต่ไม่ได้โยงกับประเทศตัวเอง จากวันนั้นเราตั้งคำถามต่อถึงเพลงสรรเสริญทุกเช้าเย็น หากมีคนที่ไม่สรรเสริญล่ะ เขาคนนั้นจะโดนอะไรบ้าง แล้วคนที่เกลียดล่ะ”
หลังจบ ป.6 ขนุนเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน การเติบโตในเมืองที่มีนักเคลื่อนไหวอย่างกลุ่มดาวดินที่มักออกมาคัดง้างกับอำนาจ คสช. ทำให้ขนุนมองเห็นขบวนการต่อสู้ทางสังคม และแอบเอาใจช่วยคนเหล่านั้นอยู่ลึกๆ มาตลอด แม้จะมีผู้ใหญ่หลายคนมองว่ากลุ่มนักศึกษาดาวดิน แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพวกหัวรุนแรง และแสดงออกอย่างก้าวร้าว แต่ขนุนคิดต่างไปจากนั้น
.
.
“เรามองกลุ่มดาวดินว่าเป็นพลังนักศึกษา อายุของเขาน่าจะไม่เยอะ และเขาน่าจะเจออะไรมา ทำให้ต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม”
จากเรื่องกลุ่มดาวดิน การเพ่งมองการเมืองและสำรวจสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ ทำให้ขนุนค้นพบความกระจ่างหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่วันหนึ่งครูที่โรงเรียนถามว่า ทำไมขอนแก่นถึงเจริญได้ คำตอบของครูบอกเพียงว่าเพราะการมาพำนักอยู่ของจอมพลคนสำคัญนี้ ทำให้เมืองขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้าน บุคคลคนนั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวการคอร์รัปชั่นและพัวพันกับคดีคนถูกอุ้มหาย รวมถึงการเอาผู้หญิงมาเป็นวัตถุทางเพศ ถึงที่สุดไม่ใช่แค่ขนุน แต่นักเรียนในขอนแก่นหลายคนก็ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ดังกล่าว
ตั้งแต่นั้นขนุนจึงเริ่มศึกษาและติดตามความคิดทางสังคมการเมืองมากขึ้น จนเมื่อถึงเวลาแห่งการออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรก ภายใต้ภาคีนักเรียน KKC แห่งขอนแก่น ทางกลุ่มก็ได้ใช้สวนรัชดานุสรณ์ ที่ที่สัญลักษณ์แห่งเผด็จการทหารยังยืนอยู่ และดูเหมือนกำลังเริ่มถูกท้าทายจากชุดอุดมการณ์ความคิดของคนรุ่นหลัง
.
วัยมัธยม ช่วงเวลาแสวงหา ร่วมกันออกมาทวงความฝัน
“อาหารอร่อย อากาศที่ดี เวลา ความรัก เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม”
ขนุนเริ่มเปิดปากพูดเมื่อสอบถามว่าคนในวัยอย่างเธอคาดหวังอะไร และอยากเห็นอะไร แม้สิ่งที่เธอยกมาจะเป็นความจำเป็นพื้นฐานในบางสังคม แต่กับบ้านนี้เมืองนี้เสรีภาพและความเท่าเทียมดูเป็นเรื่องนามธรรมไกลกว่าการสัมผัสจับต้อง เช่นเดียวกับอากาศที่ดี และอาหารที่อร่อยในยามที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤติโรคระบาด
อย่างไรก็ตามขนุนมองว่า เหล่านี้คือชุดความฝันที่หล่อเลี้ยงเธอเอาไว้ การที่เยาวชนอย่างเธอออกมาเคลื่อนไหว เพราะเคยได้รับความหวังว่าชีวิตจะผลิบานตามช่วงวัย ในช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร แต่เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นและกินระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี ความฝันของคนในรุ่นเธอหลายๆ คน ค่อยๆ พร่องจางไปไปตามกาลเวลาและบรรยากาศความอึดอัด
สุดท้ายถึงจุดที่ไม่สามารถทนต่อรัฐบาล รวมถึงปัญหาที่ถูกซุกไว้ได้อีกต่อไป จึงออกมาแสดงออกทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายคนรู้ดีว่า ความฝันจะถูกกลบจนมิดหากประเทศนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงความฝันของคนรุ่นนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความฝันของคนรุ่นต่อไปอีกด้วย
.
.
การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ขนุนรู้สึกถึงความหวัง ในฐานะเด็กต่างจังหวัด เธอคิดว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้สำคัญต่อความจริงทั้งหมดที่ถูกปิดตายมาตลอด ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเข้ามา
“เพราะถ้าหากไม่เกิดการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอิสรภาพที่แท้จริง ปัญหาจะไม่ถูกเปิดเผยออกมา ไม่สามารถพูดถึงปัญหาของการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ได้ทั่วไป ไม่มีใครตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่มีใครตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับการมีอยู่ของตัวเองในประเทศนี้ต่อไป ยิ่งในฐานะเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวงหรือที่ศูนย์กลาง เราสัมผัสได้ถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลง ชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความพยายามของผู้คนจำนวนมากที่จะชี้ให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำแสนน่ากลัวในที่แห่งนี้ เพราะทุกปัญหาที่เมืองหลวง หากเป็นที่อื่นๆจะแย่กว่าหลายเท่าตัว”
สำหรับภาคีนักเรียนมัธยม KKC เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2563 เริ่มจากกรณีนักเรียนในโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นถูกคุกคามเพราะจัดกิจกรรมชูกระดาษเปล่าในโรงเรียน และมีนักเรียนจำนวนหนึ่งในโรงเรียนอื่นๆต่างโดนกระทำในลักษณะเดียวกัน จึงเริ่มมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธินักเรียน
ก่อนที่จะขยายตัวเป็นการจัดชุมนุมทั้งจัดขึ้นเองในเนื้อหาสนับสนุนเยาวชนปลดแอก 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย และร่วมกับกลุ่มกิจกรรมอื่นในขอนแก่น เช่น ขอนแก่นพอกันที กลุ่มดาวดิน รวมถึงจัดเสวนาของตัวเองในเชิงวิพากษ์การศึกษาไทย
“ทุกครั้งที่ไปชุมนุมก็บอกที่บ้านว่าไปม็อบและไปทำม็อบ ที่บ้านแค่ถามว่าไปกี่โมง กลับกี่โมง การทำม็อบๆ หนึ่ง ต้องหาแนวร่วม มีใครจะจัดบ้าง ติดต่อเพื่อนโรงเรียนอื่นๆ ใครจะมาร่วมบ้าง ธีมม็อบ และเวทีจะจัดอย่างไร เงินสนับสนุนต้องไปขอที่ไหน ทุกคนต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ภายในชั่วพริบตาเพื่อทำม็อบ ซึ่งหนักกว่ากีฬาสี และเป็นไฟต์บังคับที่จะต้องมีความรู้และจัดการเรื่องเหล่านี้ให้ได้ และหัวใจสำคัญคือมวลชน สุดท้ายเราเลยไปจัดครั้งแรกที่สวนรัชดานุสรณ์ โดยไม่คาดคิดมาก่อน”
.
.
ขนุนย้อนเล่าไปถึงการจัดกิจกรรมชุมนุมของภาคีนักเรียน KKC ที่มีผู้เข้าร่วมจากหลายโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น หลายร้อยคน ในนาม “ภาคี นักเรียน KKC ทวงเสรีภาพคืน” หลังจากนั้นขนุนและสมาชิก KKC ยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงปัญหาของรัฐบาลที่พยายามยัดเยียดความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อให้นักเรียนยอมรับอำนาจที่พยายามจะกดขี่เขาไว้ผ่านหนังสือเรียน ครูผู้สอน และโรงเรียนโดยเฉพาะการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ร่างโดยรัฐบาลเอง โดยที่นักเรียนและครูไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ KKC พยายามจะรณรงค์การใส่ไปรเวทไปโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและสิทธิเสรีภาพที่สูญหายไป อีกทั้งพยายามให้เกิดคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยเข้าถึงปัญหาต่างๆ ที่นักเรียนได้รับผลกระทบจากระบบการศึกษาไทย
“ที่สำคัญการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ว่า ‘ทุกคนเท่ากัน’ จะนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน
เราต้องยอมรับว่าทุกคนแตกต่างกัน หลากศาสนา หลายครอบครัว ถ้าการศึกษาไทยพยายามให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันที่แท้จริง โดยไม่มีเรื่องการบูชาบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบและวิจารณ์ได้ ไม่มีเรื่องบุญคุณ กรรม หรือนำหลักศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะสามารถยอมรับความหลากหลายและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สุดท้ายทุกคนจึงจะเท่ากันโดยแท้จริง”
.
วัยที่โลกบังคับให้โตไวเพราะเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง
ขนุนย้อนเล่าถึงคราวไปที่ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ที่ สภ.ภูเขียว เพียงเพราะวันนั้นอยากสัมภาษณ์แซน นักเรียนที่ถูกตำรวจคุกคามถึงบ้าน และถูกปรามการสมัครเข้าค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
เธออยากลงพื้นที่ไปถามแซนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว กระทั่งช่วงบ่ายวันนั้น หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม KKC โทรมาชวนขนุนไปภูเขียว ขนุนจึงบอกผู้ปกครองว่าไปดูม็อบเฉยๆ ไม่ได้ร่วมจัดงานด้วย เมื่อไปถึง สภ.ภูเขียว ช่วงเวลา 16.00 น. จากตอนแรกว่าจะแค่เขียนรายงานสถานการณ์ลงใน เฟซบุ๊ก ภาคีนักเรียน KKC ขนุนตัดสินใจไลฟ์สดสัมภาษณ์แซนผ่านเพจนั้น ด้วยรู้สึกว่าข้อความที่สัมภาษณ์ไม่มีอะไรจะเป็นภัยกับความมั่นคงเลย กระทั่งไลฟ์เสร็จ ช่วงชุมนุมจะจบในราว 20.00 น. มีการอ่านแถลงการณ์และขนุนก็ไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรอถ่ายรูปก่อนการชุมนุมจะยุติลงด้วย
.
.
“ประมาณสัปดาห์ต่อมา ปรากฏว่ามีชื่อเราในหมายเรียกด้วย และเป็น KKC คนเดียว ก็คืองงว่าผิดอะไร วันที่เขาส่งรายชื่อว่าใครจะโดนหมายบ้างยังอยู่บ้าน ตอนแรกคิดว่าไม่มีชื่อตัวเอง เลยยังบอกพี่ที่แจ้งลิสต์รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีว่าให้เขารักษาตัวเองดีๆ ด้วยนะ และเห็นชื่อแซน ตอนแรกนึกว่าไม่มีเรา กระทั่ง 20 นาทีต่อมาถึงได้อ่านข้อความที่พี่เขาส่งมาอีกรอบ จึงเห็นชื่อตัวเอง”
5 เมษายน 2564 ขนุนเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่เธอยังไม่เข้าใจว่าได้ทำแบบที่พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว กล่าวหาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40
“นอกจากมีทนาย แล้วเรายังให้เพื่อนมาเป็นบุคคลไว้วางใจ ในการรับทราบข้อกล่าวหา รู้สึกเป็นเด็กน้อย ตำรวจเขาก็พยายามพูดว่าเราผิดอะไร เราไม่เข้าใจข้อกล่าวหาเลย เพราะมันไร้สาระมาก แต่ต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด และพี่ทนายก็บอกว่าให้ปฏิเสธให้การเป็นหนังสือ แต่บางคำถามที่ตำรวจถามระหว่างสอบสวนก็น่าตอบ”
“หลังจากกระบวนการแจ้งความเสร็จสิ้น เราไม่อยากพิมพ์ลายนิ้วมือ เลยพยายามถามตำรวจว่า หนูเป็นอาชญากรเหรอคะ ตำรวจเลยเงียบไปและบอกว่าไม่ใช่หรอก แต่สุดท้ายก็ยอมตามเขา เพราะจะได้เสร็จสิ้นกระบวนการ”
สำหรับการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ขนุนเปิดใจว่า เสียเวลาล้ำค่าในช่วงชีวิตวัยรุ่นไปกับการไปสถานีตำรวจหรือสำนักงานอัยการ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรเสียไปกับมันเลย และเหมือนโลกบังคับให้ต้องโตเร็วเกินไป ไม่มีใครสอนมาก่อนว่าต้องทำยังไงเมื่อโดนดำเนินคดีหรือไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ไม่มีใครสอนวิธีรับมือเมื่อถูกกดดันจากทางครอบครัวและรัฐบาล ไม่มีใครบอกว่าต้องแลกอะไรไปบ้างไปการต่อสู้ครั้งนี้ ถึงอย่างนั้นขนุนก็มองว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ของเธอ บ่งชี้ว่ารัฐได้รับแรงสั่นสะเทือนถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ร้อนรนถึงกับจะปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง ด้วยวิธีอยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเคยเป็นมา
.
วัยที่จะก้าวต่อไป ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ให้ไม่รู้สึกเสียดายในอนาคต
‘I have a dream that one day this nation will rise up and live out the true meaning of its creed: ‘We hold these truths to be self-evident: that all men are created equal.’
“ข้าพเจ้ามีความฝันว่า วันหนึ่งประเทศนี้จะลุกขึ้นยืนหยัดและจรรโลงความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์”: มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
ประโยคที่ขนุนตราตรึงในความรู้สึก เมื่อเอ่ยถึงข้อความที่จารจดว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปัจจุบันในวัย 18 ปี หลังเรียนจบชั้น ม.6 เธอตัดสินใจใช้เวลา 1 ปีนับจากนี้ ในการค้นหาตัวเองผ่านการใช้ชีวิตใน Gap Year เพื่อทดลองหาประสบการณ์ว่าตัวเองชอบอะไรมากที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันขนุนยังคงทำงานเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและปฏิรูปการศึกษากับกลุ่มภาคีนักเรียน KKC ต่อไป
.
.
ขนุนบอกเล่าอีกว่า สาเหตุที่เด็กๆ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะทุกคนต่างมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และสิ่งที่เคยผลักดันออกไป มันถูกใส่ใจจากมวลชนมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เธอก็รับว่าอุปสรรคคือความคิดของผู้ใหญ่วัยเบบี้บูมเมอร์ ที่มักคิดว่าคนไม่เท่ากันอยู่ ระบบอุปถัมถ์ โซตัส และอำนาจนิยม ในระบบราชการที่ยังอยู่และหล่อเลี้ยงอำนาจให้ผู้คนจำนนต่อความอยุติธรรม
“ระบบเหล่านี้ส่งไปถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ การแตกต่างเป็นเรื่องที่ผิดและยอมรับไม่ได้ นักเรียนต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมและพอเพียง ระบบราชการล้มเหลวเจอระบบการศึกษาล้มเหลว เลยทำลายความฝันของเด็ก การเรียนที่ไม่จำเป็นยังมีอยู่มาก นโยบายที่ออกมาก็ทำให้ใช้ชีวิตได้ยาก เช่น การเรียนออนไลน์ วัยรุ่นควรได้ไปในที่ที่อยากไป หรืออยากทำ”
อย่างไรก็ดีทางแก้ไข ขนุนคิดว่าควรให้เยาวชนมีสิทธิเลือกที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง ยิ่งในรัฐบาลที่แทบไม่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ขนาดนี้ ขนุนยกตัวอย่างถึงผู้นำที่เธอต้องการ คือคนมีความสามารถมากกว่าเรื่องคนดีศีลธรรมเพียงถ่ายเดียว ซึ่งการยอมรับนับถือคนๆ หนึ่งต้องให้เขาทำงานในหน้าที่เขาตรงนั้นให้ถึงที่สุด สุดท้ายหากเกิดความไม่ถูกต้องในตัวบุคคลนั้น กลไกประชาธิปไตยที่นำเขาเข้ามานั้น จะผลักเขาออกมาเอง
เมื่อถามถึงกระบวนการต่อสู้ประชาธิปไตยในประเทศไทย ขนุนตอบอย่างมั่นใจว่าคงใช้เวลานานถึงครึ่งชีวิต
นอกจากเป็นผู้ประท้วง ขนุนยังไม่ได้คิดถึงบทบาทต่อไปของเธอ ตอนนี้กำลังสนใจวิธีการเขียนงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป
“นอกจากรอว่าเวลาจะอยู่ข้างเราแล้ว ควรทำทุกอย่างแม้ไม่เห็นปลายทางว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม
ทุกการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง เราต้องพยายามสื่อสารออกไปให้มากที่สุด
ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ค่อยๆ เรียนรู้แต่ละเรื่องไป ให้ไม่รู้สึกเสียดายในวันนี้”
.
* ปัจจุบันคดีชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 26 ราย ในส่วนของขนุนอยู่ในชั้นอัยการ ที่รอนัดฟังคำสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้อง ขณะเดียวกันขนุนก็สงสัยตลอดมาว่าการกระทำของเธอในวันนั้นเป็นความผิดอย่างไร แล้วเยาวชนอย่างเธอสามารถก่อเหตุตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาได้ทั้งหมดหรือไม่ * นอกจากขนุนแล้ว “แซน” เยาวชนอายุ 15 ปี จากโรงเรียนภูเขียว นักเรียนที่ขนุนไปสัมภาษณ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องการถูกคุกคามจากตำรวจออกสู่สาธารณะ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน และนับจากนี้เยาวชนทั้งสองต่างมีช่วงเวลาที่ต้องสู้คดีทั้งที่สำนักงานอัยการ และที่ศาล อย่างไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ |
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แจ้งข้อหาเพิ่ม 10 นักกิจกรรม กรณี #ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว ตร.เร่งรัดส่งสำนวนให้อัยการ
ตำรวจภูเขียวคุกคามครอบครัวนักเรียนมัธยม หลังลงชื่อร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์”