“สังคมถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้” คุยกับ ‘แซน’ นร.ภูเขียว 1 ในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ม็อบเคลื่อนไหวด้วยหัวใจเยาวรุ่น

  • ด้วยความตื่นตัวทางการเมืองแซน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี เริ่มเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างอำเภอชุมแพ ก่อนจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ บางครั้งเธอเป็นผู้เข้าร่วมและบางครั้งเธอเป็นผู้ปราศรัยที่มีข้อเรียกร้องหนักแน่นตามแนวทางประชาธิปไตยที่เชื่อมั่น
  • ต้นปี 2564 แซนตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา จากการชุมนุมราษฎรออนทัวร์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ออกมาขอโทษหลังมีการข่มขู่นักเรียนที่สมัครไปค่ายเรียนรู้พื้นที่เหมืองทองวังสะพุง
  • ไม่เพียงจากคดีแรก แซนยังถูกดำเนินคดีอีก 5 ข้อหา จากกรณีสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ก่อนได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีแบบทุลักทุเล โดยยังไม่รู้ว่าการแสดงออกทางการเมืองทั้งสองครั้งที่ถูกดำเนินคดีเธอทำผิดอะไร

ในวัย 15 ปี ความสนใจของเด็กผู้หญิงวัยทีนเอจคนหนึ่งที่มีต่อโลกทั้งใบ คงสดใสเจือปนไปด้วยสิ่งสวยงามน่ารัก เท่าที่คนในวัยนั้นจะจินตนาการฝันถึง เช่นเดียวกับแซน เด็กนักเรียนโรงเรียนภูเขียว ที่เธอมักใช้เวลาว่างหลังเรียนและเป่าฟลุตในวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ด้วยการไปเดินพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม หรือหอสมุดในเมืองใหญ่ๆ เพื่อหาแรงดลใจในการสร้างงานแบบตัวเอง  

ยิ่งเมื่อได้อ่าน ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’  ‘แซน’ ตกผลึกถึงสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ว่า “สังคมถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว  ไม่ใช่ในปีสองปีนี้ มันควรจะมีการปฏิรูปหรือปฏิวัติอะไรสักอย่างได้แล้ว เกี่ยวกับความเชื่อเก่าๆ ที่ถูกฝังรากลึกลงไปไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ และมันส่งผลเสียในรุ่นต่อรุ่น ควรจะหยุดได้แล้ว หยุดได้ตั้งแต่ยุคเขา คือสิ่งที่จิตรกำลังจะบอกหนู”

แต่แล้วสิ่งที่พบเผชิญระหว่างการออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากความตื่นใจที่ได้พบเจอกับคนวัยเดียวกันที่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับเธอ กลับมาพร้อมคดีความ 2 คดี ทำให้สถานที่ที่เธอควรจะไปหาแรงบันดาลใจกลับกลายเป็น สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาลเยาวชนและครอบครัว   

ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหว่านคดีทางการเมืองต่อผู้ประท้วงรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นกับเยาวชนด้วย ยิ่งหากนับจำนวนและความถี่ของข้อหาที่เด็กและเยาวชนพบเจอจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง  

แซนเริ่มตั้งคำถามว่า หากความฝันคือการได้ออกไปจากที่นี่และเรื่องราวเหล่านี้ นั่นจะเรียกว่าความฝันหรือเปล่านะ? 

.

ในภูเขียว เมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่สิ่งจำลอง

สำหรับคนภายนอกเมื่อผ่านมาอำเภอภูเขียวจะพบว่าเป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่ง เป็นศูนย์กลางหน่วยงานราชการในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดชัยภูมิ  มีความเจริญทางเศรษฐกิจจากอ้อยและโรงงานน้ำตาล แต่สำหรับ ‘แซน’ คนรุ่นใหม่ที่เกิดปี 2548 ในครอบครัวประกอบธุรกิจเคเบิลทีวีมองว่า ภูเขียวเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเมืองกับธรรมชาติ เป็นเมืองที่แสนสงบ แต่ถึงวันที่ต้องส่งเสียงทางการเมืองจริงๆ ที่แห่งนี้ก็ไม่เคยเงียบเหงาหรือเว้นว่างจากการต่อสู้  

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว หลักฐานการตื่นรู้ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ ตั้งอยู่กลางเมืองตั้งแต่ปี 2484 ไม่ไกลจากที่ที่เด็กนักเรียนอย่างแซนจะเดินผ่านและเห็นวัตถุสัญลักษณ์ทางการเมืองนี้อยู่ทุกวัน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว

“หนูเคยหาคำตอบตอน ป.3 เพราะว่าบ้านหนูอยู่ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์เลย (อยู่หน้าบ้าน)  สมัยก่อนช่วงฉลองวันชาติที่จะใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองเป็นฉาก ภูเขียวเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงาน ข้าราชการและประชาชนในอำเภอจึงอยากสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบถาวรเหมือนที่กรุงเทพฯ พวกเขาจึงระดมเงินกันทำให้มันเกิดขึ้น  หนูจึงเข้าใจว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และแม่หนูปลูกฝังเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก แม่จะเล่าให้ฟังว่าอนุสาวรีย์แบบนี้จะมีแค่ในกรุงเทพฯ กับมีในไม่กี่จังหวัด เช่นที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ” แซนรำลึกถึงอดีต

แต่ความทรงจำที่แซนได้ปะทะกับการเมือง นักการเมือง ครั้งแรกย้อนไปสิบปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เดินทางไปหาเสียงก่อนเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่อำเภอภูเขียว  ด้วยที่บ้านทั้งพ่อและแม่เป็นคนเสื้อแดง แม่เธอมักเล่าให้ฟังว่า หลังการขึ้นมามีอำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร ปัญหาปากท้องของชาวบ้านจะได้รับการตอบสนองมากกว่าคนอื่นๆ และเป็นนายกฯ ที่ทำตามนโยบายที่วางไว้  ก่อนหน้านั้นพ่อแม่ของแซนไปม็อบที่โน่นที่นี่บ้าง เช่นเดียวกับวันที่พรรคเพื่อไทยไปที่โรงเรียนภูมิวิทยา เด็กหญิงแซนในวัย 6 ขวบ จากโรงเรียนอนุบาลบ้านทับทิม จึงได้ไปรู้เห็นในบรรยากาศก่อนเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนั้นด้วย  

“ที่ภูเขียวมีกลุ่มคนเสื้อแดง เท่าที่จำความได้ แม่เอาสติกเกอร์เบอร์ 1 ที่เป็นเบอร์ยิ่งลักษณ์มาติดที่หน้ารถเลย  หนูมองว่าแกอัธยาศัยดี  เข้าถึงง่ายและรับฟังปัญหาชาวบ้านได้ดี ตอนแกมาปราศรัย ก็ไม่ได้มีการกั้นรั้ว ทั้งยังให้คนเข้ามาสอบถามนโยบายได้เต็มที่” แซนเล่าถึงอดีตนายกรัฐมนตรีสุภาพสตรีหนึ่งเดียวของประเทศไทย 

แต่แล้วหลังจากนั้น 3 ปี ความทรงจำทางการเมืองของแซนก็แจ่มชัดอีกครั้ง ในปลายปีรัฐประหาร 2557 ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกจับกุมจากการไปชูสามนิ้วแสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาราชการในจังหวัดขอนแก่น ตอนดูข่าวเมื่อคราวนั้นเธอเห็นความกล้าบางอย่างของกลุ่มนักศึกษา

ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา เธอถึงได้รู้ว่าชายผู้ห้าวหาญคนดังกล่าว ก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวภูเขียวเหมือนกัน เมื่อ 1 วันก่อนออกคะแนนเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ไผ่ จตุภัทร์ และ ปาล์ม วศิน นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมระหว่างเดินแจกใบปลิวเอกสารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนถูกคุมตัวมาที่ สภ.ภูเขียว ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ 

“ตอนนั้นปี 2559 อยู่ ป.5 พี่ไผ่ถูกจับมาที่ สภ.ภูเขียว ตอนที่เขามุงกันเยอะๆ ก็จะเฮโลกันไปด้วย แต่หนูไม่เคยมองว่าพวกพี่เขาเป็นผู้ร้ายตั้งแต่แรกเห็นนั้น หนูเลยยังไม่ตัดสินใจว่าพี่แกทำผิดอะไร คือยังไม่รู้เลยตอนนั้นว่าพี่เขาทำอะไรมา”

ที่ สภ.ภูเขียว วันนั้นแซนได้ยินการพูดถึงไผ่ จตุภัทร์ ในทางที่ดีบ้าง ในทางที่ไม่ดีบ้าง แต่บรรดาเสียงที่บอกว่าไม่ควรทำ แซนได้ยินข้ออ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวทำให้สังคมแตกแยกบ้าง ทำให้ประเทศไม่เจริญบ้าง นั่นทำให้แซนเริ่มตั้งคำถามถึงบรรดาข้ออ้างของผู้ใหญ่ที่พยายามขัดขวางการแสดงออกของเยาวชนที่แตกต่างกับรัฐ  

“มีครูที่โรงเรียนคนหนึ่งเขามองว่า ไม่ยอมรับพี่ไผ่เป็นลูกศิษย์แล้ว ถ้าภายหลังเขาคิดได้ก็น่าจะเปลี่ยนใจ แต่มันไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะถ้าเขาจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็เป็นสิทธิของเขา ตราบใดที่ไม่เบียดเบียนใคร ส่วนตัวเรายังมองว่าพี่ไผ่เป็นรุ่นพี่และเป็นไอดอลของเรา”

นอกจากมองว่า รุ่นพี่โรงเรียนภูเขียวทั้งสองคนจะไม่ได้ทำผิดอะไรแล้ว การแสดงออกครั้งนั้นในพื้นที่อำเภอภูเขียว ส่งผลให้แซนตัดสินใจไม่ยากที่จะยกให้ไผ่เป็นไอดอลทางความคิด และกลายมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์แบบจริงๆ จังๆ จากการชุมนุม #ภูเขียวจะไม่ทน ผ่านการปราศรัยของเธอครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว อันเปรียบเสมือนการเปิดเส้นทางต่อสู้ทางการเมือง ที่ภายหลังเธอมาเข้าใจกับตัวเองว่า

“ถ้าโดนคดีสักครั้งคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกในสถานการณ์ที่มีการแจกคดีแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรปกติ แต่กลายเป็นเรื่องปกติ” 

.

ในห้องเรียน พื้นที่สร้างสรรค์และบางครั้งทำให้นึกฝันในที่ที่ดีกว่า

บรรดาข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษา ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2563 คงหนีไปพ้น 3 หลักการของกลุ่มเยาวชนปลดแอก  1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่สำหรับแซนมองว่าเรื่องพื้นฐานอย่างอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เธอต้องออกมาพูดเพื่อให้ผู้ใหญ่มองเห็นปัญหา 

“เพราะทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และสายการเรียนโรงเรียนหนูมีให้เลือกน้อยมาก ไม่กระจายไปตามความถนัดและความสนใจของนักเรียน อย่างหนูถนัดเรียนดนตรี ศิลปะ แต่โรงเรียนหนูมีแค่วิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ และศิลป์-ภาษา การเรียนวิทย์-คณิต ผู้ใหญ่อาจมองว่าเรียนวิทย์-คณิต สามารถ แต่ถ้าเกรดตกเรียนไม่ไหวก็เข้าคณะอะไรไม่ได้อยู่ดี และมันทำให้เราไม่มีความสุขกับชีวิตช่วงนี้ ทั้งที่อายุช่วงนี้เราควรมีความสุขกับมัน การศึกษาและทุกอย่างเราประเมินได้เอง มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เรา” แซนสะท้อนไว้ตอนหนึ่ง 

ในห้องเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนภูเขียว แซนสนใจวิชาภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ศิลปะดนตรี แต่เธอก็เห็นว่าการศึกษาไทยไม่ได้สอนความรู้ตามชื่อวิชา เรียนศิลปะก็ไม่ได้จับพู่กัน ส่วนสังคมกลับเรียนประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ตรงนั้น การเรียนเหมือนถูกเอาเข็มฉีดยามาฉีดให้คนเชื่อแบบรัฐเพียงอย่างเดียว 

ทางด้านการแสดงออกการเมือง เพื่อนๆ ส่วนมากถึงจะเห็นด้วยในการเคลื่อนไหว แต่ก็มีบ้างที่เตือนแซนว่าอย่าออกไปมากเกินไป หรือตั้งคำถามว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียนดีกว่า สำหรับแซนมองว่าเธอกำลังต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  หากพูดถึงการเรียนและโรงเรียนถ้าเลือกได้แซนไม่ได้มองโรงเรียนในเมืองไทยเลย

 “หนูจะตอบคำถามที่ว่า อยากเรียนประเทศไหนมากกว่า เพราะตอนนี้การศึกษาไทยถอยหลังลงทุกที หลายสิ่งหลายอย่างขัดต่อความสามารถที่หนูมี และขัดกับสิ่งที่หนูชอบ และรัฐสวัสดิการที่ไม่พัฒนาพอให้คนคิดฝันถึงความสุขจากการทำงาน” 

แซนยังมองว่า ถ้าการเมืองดี เป็นรัฐสวัสดิการ ยึดในหลักคนเท่ากัน เด็กจะสามารถมองเห็นจินตนาการอื่นในสังคมที่ดีกว่าในขั้นกว่า รวมถึงทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข อยู่กับสิ่งนั้นได้นาน และมีประโยชน์กับประเทศไปตลอดได้

“ถ้าความฝันคือการได้ไปจากที่นี่ เด็กรุ่นเราก็เป็นแบบนี้กันหลายคน การเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงได้ช้าได้เร็วเท่าไหร่ คุณภาพผู้นำก็ลดลง อายุเราก็มากขึ้น เราอาจไปตั้งหลักที่อื่นค่อยกลับมาเคลื่อนไหว หรือจะเลือกสู้อยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ยังตัดสินใจไม่ได้” 

ด้วยความคิดที่ว่าการอยู่จังหวัดชัยภูมิเป็นโอกาสหนึ่งในการมองเห็นเรื่องที่ดูจะห่างไกลจากปัญหาในกรุงเทพมหานคร  นอกจากเป็นนักเรียนที่สนใจการเมืองในระดับชาติ แซนเล่าอีกว่า อยากเป็นประชาชนที่ทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเอง โดยเฉพาะการสื่อสารปัญหาเรื่องที่ดินในชัยภูมิที่ชาวบ้านถูกรุกไล่ที่ทำกินจากอุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่การตั้งโรงงานน้ำตาลในภูเขียว ในแง่หนึ่งทำให้ตัวอำเภอถูกมองว่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่เรากลับไม่ตั้งคำถามถึงผลเสียทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในชุมชน

.

ในค่ายราษฎรออนทัวร์ โรงเรียนการเมืองที่มีครูฝ่ายปกครองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 

ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2564   กลุ่มกิจกรรม Unme of Anarchy  นำโดย ไผ่ จตุภัทร์, อินทิรา เจริญปุระ, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues และนักกิจกรรมอื่นๆ จัดค่ายในชื่อ ‘ราษฎรออนทัวร์’  ให้เยาวชนไปศึกษาพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยเปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.3 – ม.6 ในพื้นที่ภูเขียว แซนไม่พลาดที่จะสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้น แต่แล้วก่อนเดินทาง 1 วัน กลับมีเรื่องไม่คาดฝันเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ไปคุกคามถึงบ้านของแซนและเพื่อนนักเรียนที่สมัครไปค่ายอีก 2 คน เพื่อสอบถามรายละเอียด หนำซ้ำครูฝ่ายปกครองก็ไปพบผู้ปกครองนักเรียนบางรายที่จะไปค่าย ทั้งกล่าวหาว่า ค่ายนี้เป็นค่ายล้างสมอง หลังจากนั้น นักเรียนส่วนหนึ่งที่ลงชื่อเข้าร่วมก็มาขอถอนตัวออก 

ภาพกิจกรรมค่ายราษฎรออนทัวร์ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จากเพจ Unme Of Anarchy

“หนูเจอหนักสุดคือตำรวจมาบ้านโดยตรงเลย และมีครูฝ่ายปกครองมาพูดถึงแง่ลบของค่าย แต่เราก็ยังไป ส่วนคนอื่นๆ ถอนตัว เพราะผู้ปกครองไม่อนุญาต สำหรับหนู พ่อแม่ก็ยังกังวลว่า จะมีโอกาสโดนคดีหรือไม่”

 หลังจากค่ายเสร็จ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มจัดค่ายราษฎรออนทัวร์ มุ่งหน้าจากอำเภอวังสะพุงมาที่อำเภอภูเขียว เพื่อจัดชุมนุมหวังเรียกร้องให้ตำรวจที่ไปคุกคามนักเรียนแต่ละบ้าน ออกมาขอโทษต่อพฤติกรรมดังกล่าว การชุมนุมจัดบริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว ต่อเนื่องไปที่หน้า สภ.ภูเขียว ท้ายที่สุดการชุมนุมในวันนั้น นอกจากจะไม่ได้รับการขอโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ยังออกหมายเรียกข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย รวมถึงแซน เยาวชนคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีถึง 4 ข้อหา ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ 

  “เราก็ได้แต่บอกพ่อแม่ว่า ที่หนูโดนหมายคดีนี้ มันไม่ใช่เพราะหนูทำผิด แต่เป็นเพราะตำรวจเขาไม่มีจรรยาบรรณ และหนูไม่ได้ตั้งคำถามกับ 4 ข้อหา ทางการเมืองที่เขาจะเอาผิด  แต่ตั้งคำถามว่าหนูถูกดำเนินคดีได้ยังไงมากกว่า”  

ภาพกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจสภ.ภูเขียวออกมาขอโทษหลังคุกคามเยาวชนที่สมัครเข้าร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ จากเพจ Unme Of Anarchy

สำหรับเรื่องที่ว่า “โดนล้างสมอง” แซนสะท้อนไว้ว่า “การไปค่ายควรเกิดจากการตัดสินใจของผู้ที่จะไป ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าไหน และเขาควรรู้ด้วยว่าแถวบ้านเราไม่ได้มีอะไรให้ศึกษามากมาย การที่มีโอกาสศึกษาเขาควรจะเปิดรับอะไรใหม่ๆ และให้เราตัดสินเองว่าจะดีหรือไม่ดี โดยพื้นฐานหลายๆ อย่าง”

ปลายเดือนมีนาคม 2564 ระหว่างเข้ากรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรมกับกลุ่ม Unme of Anarchy อีกครั้งในกิจกรรม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ก่อนจะมีการสลายหมู่บ้านในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มีนาคม แซนและเยาวชนอีก 5 ราย ถูกรวบตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 ด้วย ครั้งนี้แซนถูกดำเนินคดี 5 ข้อหา ก่อนจะถูกพาตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในช่วงเย็น เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม และยื่นขอประกันตัว โดยเยาวชน 4 ราย มีผู้ปกครองมาประกันตัวไป แต่กับแซนครั้งนี้นับว่าโชคร้ายเพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่ใกล้

“กังวลเรื่องการเข้าไปอยู่ในสถานพินิจมากๆ  เพราะพ่อกับแม่อยู่ภูเขียว เข้ากรุงเทพฯ มาไม่ทัน และไม่มีคนมาประกันตัวออก แต่ที่สุดก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เอาตำแหน่งอาจารย์มาประกัน โดยไม่ได้วางหลักทรัพย์อะไร ตอนนั้นก็โล่ง แต่ระหว่างที่รอว่าศาลจะให้ประกันมั้ย หนูเหลือบเห็นว่ารถบ้านเมตตามาจอดรอ เตรียมมารับตัวเราไปแล้ว แต่ก็ทำใจไว้แล้ว” 

จากวันที่รู้เห็นการเมืองผ่านผู้ปกครอง จนถึงจุดที่มาเผชิญหน้ากับการเมืองเอง  แซนไม่คิดว่าตำรวจจะดำเนินคดีกับเยาวชนได้  “แต่ละคดีคือการจำกัดขอบเขตการแสดงออกของเยาวชน ทั้งที่จริงเราควรที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี การถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งที่หนูคิดไม่ถึง”

.

ในปัจจุบัน แม้จะชอบอยู่ในที่ไม่มีแสง แต่แสงมักจะเพ่งมาหา

ถ้าตัดเรื่องทางการเมืองออกไป แซนเล่าว่าเธอกำลังสนใจศึกษาประวัติศาตร์ ทั้งในกระแสหลักแบบ หนังสือสี่แผ่นดิน ของคึกฤทธิ์ ปราโมช หรือในกระแสรองเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าเพจเฟซบุ๊กต่างๆ 

“ตอนนี้อายุ 16 ปี ในวัยอย่างเราควรได้ไปพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม ไปหาแรงบันดาลใจบ้าง  ไปหอสมุดกรุงเทพ  อย่างที่อยากไปมากกว่าไปที่ศาล สถานีตำรวจ  เพราะนอกจากประวัติศาสตร์ เรากำลังสนใจศิลปะในด้านประติมากรรม และงานวาด งานเชิงแอ็บสแตร็กส์” 

 สำหรับกลุ่มกิจกรรมของนักเรียน แซนรู้จักกลุ่มนักเรียนเลวที่กรุงเทพฯ และคุ้นเคยกับภาคีนักเรียน KKC ของขอนแก่น ด้วยความคิดทางการเมืองพวกเขาอันน่านับถือจิตใจ  ในส่วนบทบาทนักกิจกรรมทางการเมืองของตนเองต่อไปนี้  แซนรับว่า หากให้เธอเป็นแกนนำในการต่อสู้คงไม่ใช่ทางที่ถนัด แต่ถ้าหากขบวนการเคลื่อนไหวไม่มีแกนนำจริงๆ ค่อยว่ากันอีกที

เมื่อให้ประเมินตัวเอง แซนคิดว่าสิ่งที่เธอต้องปรับปรุงคือวางแผนให้ถี่ถ้วนมากขึ้น และเซฟเวลาในการทำอะไรหลายๆ อย่าง ต้องเคลื่อนไหวเร็วมากกว่านี้ให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน  โดยความคิดทางการเมืองของเด็กรุ่นเธอ ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเผด็จการอยู่แล้ว เพียงแต่การแสดงออกอาจจะแตกต่างกัน

“หนูชอบอยู่ในที่ที่ไม่มีแสง แต่แสงชอบมาหาหนู ที่หนูไม่อยากมีแสงเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันด้วย อยากทำค่ายทำงานด้านความคิดมากกว่า แลกเปลี่ยนความคิดกับมวลชน” แซนบอกไว้อีกตอน 

ทุกวันนี้นอกจากแซนผชิญคดีการเมืองอยู่ 2 คดี เป็นผลให้ต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ – ภูเขียว ซึ่งเธอยอมรับว่ายุ่งยาก ยิ่งถ้าเปิดเรียนน่าจะยุ่งยากกว่าเดิม แซนยังกังวลเรื่องเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาตาม หรือมาสร้างสถานการณ์อันน่ากังวล 

“มันมีครั้งหนึ่งที่หนูขับรถอยู่แถวสวนสาธารณะ แล้วตำรวจนอกเครื่องแบบกวักมือเรียก ทำให้ต้องบิดหนีอย่างเดียว หรือไม่ก็มีมาทักว่าหน้าคุ้นๆ นะ คือเป็นตำรวจมาทักเราว่าหน้าคุ้นๆ จะทำให้เราคิดยังไง” 

ถึงอย่างนั้นแซนก็ไม่ได้โดดเดี่ยวหรืออ้างว้างเกินไปสำหรับการต่อสู้ในทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อนๆ ที่โรงเรียนภูเขียวต่างให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือแซนเป็นอย่างดี  ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและเพื่อนในโรงเรียน  ทำให้ด้านหนึ่งอำเภอภูเขียวก็มีนักกิจกรรมอย่างไผ่ จตุภัทร์ หรือแซน ยืนหยัดขึ้นมาได้ ท่ามกลางเมืองที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาและเธอเรียกร้องอยู่ 

“สำหรับหนูไม่ได้รับความคิดเพียงฝั่งเดียว แต่รับความคิดในฝั่งพวกคุณที่อยู่ตรงข้ามด้วย และเอาเก็บมาคิดในบางเรื่อง เราอยากให้เอาสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานในความคิด สำหรับทุกคนที่ออกมาเรียกร้อง ไม่ว่าในยุคไหน วัยไหน หนูคิดว่าเขาทำไม่สมเหตุสมผลที่ดำเนินคดีคนที่ออกมาแสดงความเห็น” 

ส่วนปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นแซนคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมหรืออำนาจนิยมที่ประสบบ่อยๆทำให้คิดได้เอง และทุกคนก็เห็นว่าปัญหามันมีอยู่ตรงหน้า ต่อให้ไม่ได้ฟังความคิดเห็นใคร แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันทำให้เห็นปัญหาอยู่แล้ว 

“ระบอบประชาธิปไตยควรเป็นประชาชนปกครองร่วมกับรัฐบาล แต่ตอนนี้รัฐบาลปกครองประชาชนอยู่ฝ่ายเดียว หนูก็เลยไม่ตัดสินใจว่าพรรคการเมืองไหนดี พรรคการเมืองไหนไม่ดี แต่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แล้วคนรุ่นหนูจะต้องออกมาทำ และสร้างมาตรฐานใหม่” แซนกล่าวทิ้งท้าย 

.

  • นอกจากถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปัจจุบันแซนและเพื่อนๆ ยังไม่ได้รับคำขอโทษจากตำรวจ สภ.ภูเขียว จากกรณีถูกคุกคามที่สมัครไปค่ายราษฎรออนทัวร์แต่อย่างใด
  • วันที่สลายหมู่บ้านทะลุหน้าทำเนียบรัฐบาล แซนถูกตั้ง 5 ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ,พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 
  • ปัจจุบันแซน ยังคงต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ชัยภูมิ และภูเขียว ในการไปตามนัดหมายทั้งสองคดี 
X