หนัก!! ตำรวจดำเนินคดีผู้ชุมนุมแทบทุกราย ไม่เว้นนักเรียน-เยาวชน 15 ปี หลังชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษ 

17 มี.ค. 2564 “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักกิจกรรม “ราษฎร” รวม 10 คน เดินทางไปที่ สถานีตำรวจภูธรภูเขียว (สภ.ภูเขียว) จ.ชัยภูมิ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 หลังนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ถูกคุกคามจากตำรวจและครูไม่ให้เข้าร่วมค่าย

09.45 น. ตำรวจในเครื่องแบบ และชุดควบคุมฝูงชน มากกว่า 50 นาย ยืนคอยเฝ้าระวังทั้งบริเวณทางเข้า สภ.ภูเขียว และลานหน้าทางขึ้นอาคาร โดยไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณ สภ. เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมและทนายความเดินทางมาถึง ตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามไลฟ์สด และแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง  ที่จุดคัดกรองโควิดมี อสม.กว่า 20 คน ให้บริการตรวจวัดไข้และลงทะเบียน โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจำนวนหนึ่งคอยถ่ายรูป พร้อมทั้งมีโดรนของตำรวจบินรอบสถานีตำรวจ 

นอกจากนี้ บริเวณทางขึ้นด้านหลังไปยังศูนย์ปฏิบัติการ สภ.ภูเขียว ซึ่งจัดเตรียมไว้เป็นสถานที่แจ้งข้อกล่าวหา ยังมีการตั้งศูนย์อำนวยการโดยมีทหารในเครื่องแบบ 2-3 นาย นั่งสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณดังกล่าว

นักกิจกรรมที่ได้รับหมายเรียกทั้ง 10 ราย ประกอบด้วย อินทิรา เจริญปุระ นักแสดง, ปนัดดา ศิริมาศกูล นักศึกษา, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์ นักศึกษา, จตุพร สุสวดโม้ นักศึกษา, ทรงพล สนธิรักษ์ นักศึกษา, จิตริน พลาก้านตง, วันชัย สุธงษา, ณัฐพล โชคสวัสดิ์, ณพกิตติ์ มะโนชัย และกิตติภูมิ ทะสา นักศึกษา   

10.30 น. พนักงานสอบสวนเริ่มแจ้งข้อเท็จจริงในคดีแก่นักกิจกรรมแต่ละคน ระบุเหมือนๆ กันว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาซึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎร นําโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวกรวมประมาณ 20-30 คน ได้มารวมกลุ่มชุมนุม ปราศรัย อยู่ที่บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว ซึ่งในการชุมนุมของกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้มีการดําเนินการตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่สวม จนถึงเวลาประมาณ 09.30 น. ก็ยุติการกล่าวปราศรัย

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาเคลื่อนขบวนเดินทางเข้ามาชุมนุมกันที่บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว พร้อมกับขนอุปกรณ์เป็นเต็นท์ เครื่องนอน มาปูและกางบริเวณลานหน้า สภ.ภูเขียว หลังจากนั้นกลุ่มของผู้ต้องหาได้มีการเปิดเครื่องขยายเสียง เปิดเพลง และได้นําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้าสถานีตํารวจ เจ้าหน้าที่ตํารวจไปห้ามปรามไม่ให้ติดป้าย แต่กลุ่มของผู้ต้องหาไม่ยอมปฏิบัติตาม และได้ติดป้ายผ้าดังกล่าวบังป้ายชื่อสถานีตํารวจภูธรภูเขียว นอกจากนั้นกลุ่มของผู้ต้องหายังมีการติดป้ายข้อความว่า “โรงพักต้องไม่ใช่รังโจร” “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปปช.” “หยุดคุกคามประชาชน” อยู่บริเวณรั้วด้านหน้าทางเข้า สภ.ภูเขียว

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. แกนนําและกลุ่มผู้ต้องหาก็ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยสลับกับการเล่นดนตรี กระทั่งเวลาประมาณ 20.40 น. แกนนําอ่านแถลงการณ์เพื่อยุติการชุมนุมดังกล่าว แต่ประกาศว่าจะนอนค้างคืนที่เต็นท์ที่กางไว้ที่ลานหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว และมีผู้ชุมนุมบางส่วนยังนั่งร้องเพลงพูดคุยอยู่บริเวณหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว ต่อมาเวลาประมาณ 23.30 น. กําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ช่วยกันปลดป้ายผ้าทั้งหมดออก และแจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ สภ.ภูเขียวไป 

จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาทรายและนักกิจกรรมทั้งสิบรวม 3 ข้อหา คือ ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15 ข้อ 3) (ฉบับที่ 16 ข้อ 2), ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ภายในเขตพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวังแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคารในลักษณะที่สกปรกรุงรังหรือไม่เป็นระเบียบ และมีสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 15-30 วัน โดยมีบางคนให้การว่า ในคดีนี้ผู้ต้องหามีเหตุโกรธเคืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ ผู้กล่าวหาในคดี   และมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการของตำรวจ

หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหา ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้แต่อย่างใด นักกิจกรรมส่วนหนึ่งจึงเดินทางกลับไปร่วมปักหลักชุมนุมกับ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก

วันเดียวกันนี้ ทนายความยังได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของผู้ที่ได้รับหมายเรียกในคดีนี้อีก 13 ราย โดยแจ้งว่ามีติดภารกิจการอื่นได้นัดหมายไว้หน้าก่อนแล้ว ไม่สามารถมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกได้ อีกทั้งผู้ต้องหาได้รับหมายเรียกในระยะเวลากระชั้นชิด บางคนยังไม่ได้รับหมาย เพียงทราบว่ามีรายชื่อถูกออกหมายเรียก จึงไม่มีโอกาสได้ปรึกษากับทนายความได้อย่างเต็มที่ จึงมีความประสงค์ขอเลื่อนวันนัดพบพนักงานสอบสวนออกไปเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2564    

คดีนี้ยังมี “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ถูกออกหมายเรียก แต่เนื่องจากขณะนี้แอมมี่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี พนักงานสอบสวนจะต้องเข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่แอมมี่ในเรือนจำ แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะต้องแจ้งให้ทนายความเข้าร่วมกระบวนการด้วย

 

นักเรียนอายุ 15 ปี ถูกแจ้งข้อหามากกว่าคนอื่น และให้ศาลควบคุมตัวในสถานพินิจ จนแม่ต้องยื่นประกันตัว

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว ยังออกหมายเรียกแซน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี และเป็นคนหนึ่งที่ถูกตำรวจ สภ.ภูเขียว คุกคามครอบครัว เพื่อไม่ให้ไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จนนำมาสู่การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษ 

     >> ตำรวจภูเขียวคุกคามครอบครัวนักเรียนมัธยม หลังลงชื่อร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์”

หมายเรียกดังกล่าวให้แซนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทนายความได้ประสานขอให้เยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมนักกิจกรรมคนอื่นในวันที่ 17 มี.ค. 2564 แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ปกครองพาแซนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเองในวันที่ 10 มี.ค.  

อย่างไรก็ตาม เมื่อแซนและผู้ปกครองไปถึง สภ.ภูเขียว พนักงานสอบสวนได้จัดหาที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) ไว้ให้ และแจ้งว่า จะต้องนำตัวแซนไปศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิในช่วงบ่าย ทำให้แซนขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากยังไม่ได้ปรึกษาทนายความที่ไว้วางใจ พนักงานสอบสวนขอให้แซนรับทราบข้อกล่าวหาไปก่อน โดยยังไม่ต้องให้ปากคำ และรับว่าจะยังไม่มีการนำตัวไปศาล

จากนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริง โดยมีข้อความเช่นเดียวกับที่แจ้งนักกิจกรรมในภายหลัง  และแจ้งข้อกล่าวหารวม 4 ข้อหา โดย 3 ข้อหา เช่นเดียวกับนักกิจกรรม คือ ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ, แขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และมีข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ที่มากกว่านักกิจกรรมคนอื่นจากการชุมนุมครั้งเดียวกัน 

แซนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือใน 15 วัน หลังพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวกลับ และนัดหมายให้แซนและผู้ปกครองไปศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 16 มี.ค. 2564

16 มี.ค. 2564 เมื่อแซนและผู้ปกครองเดินทางไปที่ศาลเยาวชนฯ จ.ชัยภูมิ พบว่า พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัวแซน โดยระบุว่า แม้ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่ใช่ผู้ถูกจับ และยังไม่ได้มีการขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่า เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงและมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ควบคุมผู้ต้องหานี้ไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิตามที่ศาลเห็นสมควร มีกำหนด 24 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. – 8 เม.ย. 2564 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำการสอบพยานอีก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร แต่ไม่คัดค้านการให้ประกันตัวหากผู้ต้องหายื่นคำร้อง

จากนั้นศาลได้มีคำสั่งให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ แม่ของแซนจึงได้ยื่นประกันตัวโดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 2,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลอนุญาตให้ประกัน และนัดให้มารายงานตัวตามกำหนดผลัดฟ้องของพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 เม.ย. 2564 หลังจากออกจากศาล เจ้าหน้าที่ศาลยังได้ให้แซนไปรายงานตัวและสอบประวัติที่สถานพินิจฯ ซึ่งเมื่อเสร็จกระบวนการสถานพินิจฯ ยังนัดมาพบอีกในวันที่ 23 มี.ค. 2564

กระบวนการดำเนินคดีต่อเยาวชนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกินกว่าเหตุ ไม่เป็นธรรม และสร้างภาระแก่เยาวชนที่ยังเป็นนักเรียน นอกจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง ที่ไม่สมควรถูกดำเนินคดีแล้ว พนักงานสอบสวนยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ในสถานพินิจฯ ทั้งที่แซนเป็นนักเรียน มีหน้าที่ต้องไปเรียนหนังสือ หากผู้ปกครองไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว แซนก็จะต้องขาดเรียนและส่งผลกระทบต่อการศึกษา 

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้พิจารณาว่า การกระทำที่กล่าวหาเยาวชนไม่ได้เป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง  อีกทั้งข้อกล่าวหาก็มีอัตราโทษเพียงโทษปรับ และโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมไว้ในสถานพินิจฯ แต่อย่างใด   

 

ดำเนินคดีผู้ร่วมชุมนุมแทบทุกราย ทั้งยังออกหมายผู้ไม่ได้ร่วมชุมนุมอย่างน้อย 2 ราย หลัง ผกก.ถูกย้าย

การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว  เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม

     >> “ราษฎร” ชุมนุมหน้าโรงเรียน – สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษกรณีคุกคามนักเรียน ตำรวจยอมรับว่าคุกคาม แต่ยังไม่ขอโทษ

หลังการชุมนุมมีรายงานข่าวว่า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 มีคำสั่งลงวันที่วันเดียวกันนั้นย้าย ว่าที่ พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ผกก.สภ.ภูเขียว ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 3 และให้ พ.ต.อ.ปราโมทย์ สิมหลวง รอง ผบก.ภ.จว.ชัยภูมิ รักษาราชการแทน ทั้งยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา จำนวน 11 คน ก่อนยกเลิก 1 หมาย หลังผู้ถูกออกหมายออกมาโพสต์ว่า ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมดังกล่าว 

ต่อมา ตำรวจยังออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 15 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย 2 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย และอีกรายเป็นนักเรียนอายุ 18 ปี สมาชิกภาคีนักเรียน KKC ภายหลังตำรวจได้ยกเลิกหมายเรียกนักกิจกรรมอีก 1 ราย ระบุว่า มีความผิดพลาดในการตรวจสอบภาพผู้ร่วมชุมนุม ทั้งนี้ มีข้อมูลจากตำรวจด้วยว่า จะมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกในส่วนของแกนนำ ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งจะมีข้อกล่าวหามากกว่าผู้ร่วมชุมนุม โดยปัจจุบันไผ่และไมค์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วกว่า 10 วัน

กล่าวได้ว่า การชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ซึ่งเรียกร้องเพียงให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว กล่าวคำขอโทษที่ไปคุกคามเด็กนักเรียน นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวมถึง 27 ราย    

 

X