28 ม.ค. 2565 ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางไปสำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในนัดรายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์ และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม “ราษฎร” บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งให้อรรถพลและทนายความไปที่ศาลเพื่อยื่นฟ้อง และทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป
จิตรปรีดี สกุลเสาวภาค พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จําเลยทั้งสามกับพวกซึ่งได้แยกดําเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว จากนั้นเคลื่อนขบวนนําผู้ชุมนุมดังกล่าวไปหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่รักษาระยะห่าง และไม่มีกระบวนการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ
คำฟ้องระบุต่อเนื่องว่า จตุภัทร์ อรรถพล และภาณุพงศ์ ได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยบนเวทีแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
สำหรับข้อหาตามมาตรา 112 อัยการฟ้องว่า จําเลยที่ 1 (จตุภัทร์) หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยนี้รวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยาม วิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยา ไม่เคยมาดูแลประชาชน”
และ “ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังค์มา… ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องฟังเสียงประชามติของประชาชนก็ไม่ได้เกิดขึ้น หลังจากประชามติเดือนสิงหาคม 2559 ผ่านพ้นแล้ว พระมหากษัตริย์คนใหม่ แก้กฎหมายทั้งที่ไม่ผ่านประชามติ นี้แหละครับคือเหตุผลหนึ่ง ที่เราต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ…”
จําเลยที่ 2 (อรรถพล) ขึ้นกล่าวปราศรัยว่า “ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูกขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขาหายไปเป็นลูก ถ้าไม่ใช่กษัตรย์จะใช่ใคร ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์”
จําเลยที่ 3 (ภาณุพงศ์) ขึ้นกล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และการศึกษาไทยว่า การสอนให้เด็กนักเรียนเทิดทูนกษัตริย์ที่… (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง
คำฟ้องระบุว่า ข้อความที่ทั้ง 3 คนปราศรัยนั้น เป็นความเท็จ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจําเลยทั้งสามมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
โดยขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
นอกจากนี้คำฟ้องยังกล่าวว่า จําเลยทั้งสามกับพวกได้กล่าวคําปราศรัยบนเวที และไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีสาระสําคัญโจมตีการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทําการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
และจําเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธ์ออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการบริหารงานของรัฐบาล ถึงขนาดที่จะไปชุมนุมกดดันให้นายกฯ ลาออก และขู่เข็ญหรือบังคับพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับฟังคําปราศรัยดังกล่าว ตะโกน โห่ร้อง ปรบมือสนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ขอให้เพิ่มโทษจตุภัทร์กึ่งหนึ่ง อ้างเหตุว่าจตุภัทร์เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยพ้นโทษยังไม่ถึง 3 ปี ได้กลับมากระทําผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกันอีก และขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ต่อจากคดีอื่นๆ ทั้งยังขอให้ริบป้ายผ้า 7 ผืน ซึ่งตำรวจยึดไว้เป็นของกลางด้วย
อัยการยังแนบคำปราศรัยของทั้ง 3 คน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถอดเทปมาท้ายคำฟ้องด้วย
เมื่อไปถึงห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษากล่าวย้ำกับอรรถพลว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องแล้ว ก่อนอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง จากนั้นกล่าวว่า ถ้าอยากได้รับการปล่อยตัวก็ให้ทนายไปยื่นประกันตัวมา และให้ตำรวจควบคุมตัวอรรถพลไปไว้ที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาล
ต่อมา พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้ตำแหน่งของ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า เป็นหลักประกันที่มีจํานวนสูงและมีความน่าเชื่อถือว่า จําเลยจะไม่หลบหนีหรือไปก่อภยันตรายประการอื่น อีกทั้งจําเลยมีภูมิลําเนาที่แน่นอน มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง กล่าวคือทําอาชีพเป็นติวเตอร์สอนหนังสือ และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี
ก่อนที่เวลา 14.20 น. ศาลจังหวัดภูเขียวจะมีคำสั่งให้ประกันครูใหญ่ อรรถพล โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.ตามที่ยื่นคำร้อง หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องนี้อีก และในวันที่ 2 ก.พ. 2565 ศาลนัดให้ครูใหญ่ไปที่ศาลอีกครั้ง เนื่องจากจะเบิกตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ซึ่งถูกขังอยู่ในคดีอื่น ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่ออ่านและอธิบายคำฟ้องให้ทั้งสองฟัง พร้อมทั้งยืนยันตัวว่า จตุภัทร์และภาณุพงศ์เป็นบุคคลที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องหรือไม่
ภายหลังได้รับการปล่อยตัว ครูใหญ่กล่าวถึงคดีนี้ว่า เขาถูกฟ้องอย่างไม่สมเหตุสมผล เพียงเพราะต้องการปราศรัยให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวเข้ากับสังคมไทยเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ การชุมนุมในวันดังกล่าว เขาไปเข้าร่วมแค่ในช่วงเย็นที่หน้า สภ.ภูเขียว ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวตามที่ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการกล่าวอ้างในสำนวน
ทั้งนี้ในส่วนคำปราศรัยของอรรถพลที่ถูกหยิบยกมาฟ้อง มีข้อสังเกตว่า อัยการบรรยายในคำฟ้องว่า “ต้องกำจัดงบประมาณของกษัตริย์” แต่ในเอกสารถอดเทปคำปราศรัยที่แนบมาท้ายคำฟ้อง ระบุข้อความในส่วนนั้นว่า “ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันอย่างมาก โดยถ้อยคำในคำฟ้องมีความหมายในทางเป็นโทษต่อจำเลยที่ถูกฟ้อง
สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวม 26 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย และ 18 ปี อีก 1 ราย
ในส่วนของนักกิจกรรมอีก 23 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ คดียังอยู่ในการพิจารณาของอัยการ โดย 11 ราย อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว และนัดรายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเขียวในวันที่ 10 ก.พ. 2565
.
ดูฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “ไผ่-ครูใหญ่-ไมค์” หลังปราศรัยหวังให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หน้า สภ.ภูเขียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจ้ง 112 “ไมค์” คดีที่ 9 หลังปราศรัยหน้า สภ.ภูเขียว วิจารณ์การสอนเรื่องกษัตริย์ในโรงเรียน