คดีการเมืองสั่งฟ้องอีก 4 คดี: คดีชุมนุมปาสีหน้า สตช. ปี 63 – คดีหมิ่นฯ ลูกประยุทธ์ – ทะลุแก๊ส หนึ่งในจำเลยเป็นผู้พิการทางการได้ยิน

ในช่วงวันที่ 8 – 14 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่ภาคกลาง มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องจำนวนอีก 4 คดี ได้แก่ คดีความสืบเนื่องจากแคมเปญตามหาลูกสาว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2563 มีจำเลย 1 ราย เป็นผู้พิการทางการได้ยิน

คดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ ต่อเนื่องจนถึงด้านหน้า สตช. มีจำเลยในคดี 4 ราย คือ อานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, และ อรรถพล บัวพัฒน์

คดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 บริเวณถนนลาดกระบัง มีจำเลย 1 ราย คือ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, และคดีสุดท้าย คือคดีของผู้ชุมนุมกลุ่ม #ทะลุแก๊ส ที่ถูกจับกุมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 มีจำเลย 1 ราย ทางเจ้าหน้าที่ยังอ้างว่า ตรวจพบเจอระเบิดไทยประดิษฐ์ที่ผู้ชุมนุมรายนี้พกมา 4 ลูกด้วยกัน

ในทุกคดี ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งหมด ยกเว้นในกรณีของคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมี ‘ครูใหญ่’ อรรถพล เป็นจำเลยรายเดียวที่ยังไม่ถูกคุมขัง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวครูใหญ่ กำหนดหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท ในขณะที่จำเลยอีก 3 ราย ยังคงถูกคุมขังในคดีอื่นอยู่

+++ สั่งฟ้องหมิ่นฯ ผู้พิการทางการได้ยิน ปมโพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 63 ศาลปล่อยโดยไม่เรียกหลักประกัน +++

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง “สุภาภรณ์” ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเธอถูกกล่าวหาในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” เหตุจากการโพสต์คอมเม้นท์ในเพจเฟซบุ๊ก “คณะอนาคตใหม่” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับลูกสาวฝาแฝดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรื่องของการใช้เงินภาษีเพื่อผลประโยชน์นส่วนตน

>>> 7 ผู้โพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 จำเลยได้ใส่ความ นางสาว นิฏฐา จันทร์โอชา ผู้เสียหายที่ 1 และ นางสาว ธัญญา จันทร์โอชา ผู้เสียหายที่ 2 ต่อประชาชนทั่วไปอันเป็นบุคคลที่ 3 เป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยการคอมเมนต์โพสต์ในเพจของ “คณะอนาคตใหม่” บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นข้อความสาธารณะ

โจทก์อธิบายต่อว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ผู้เสียหายทั้ง 2 คนเป็นคนไม่ดี ร่วมกับพลเอกประยุทธ์ บิดาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี โกงเงินภาษีประชาชนคนไทย แล้วนำเงินที่โกงมานั้นไปให้ผู้เสียหายทั้ง 2 คน ใช้จ่ายส่วนตัวอย่างมีความสุขในต่างประเทศและเรียนต่อในต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และผู้เสียหายทั้ง 2 ไม่ได้ไปอยู่ต่างประเทศ หากแต่อยู่ในเมืองไทยโดยตลอดมา เป็นการใส่ความในประการที่อาจทำให้ผู้เสียหายทั้ง 2 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2563 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ โดยระหว่างสอบสวน จำเลยไม่เคยถูกพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวน

หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องวางหลักประกัน กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน เป็นวันที่ 20 ธันวาคม 2564

+++ สั่งฟ้อง 4 นักกิจกรรม อานนท์ไมค์ไผ่ครูใหญ่ เหตุร่วมม็อบวันที่ 18 .. 63 ครูใหญ่ได้ประกัน ขณะที่คนอื่นยังถูกคุมขังในคดีอื่น +++

10 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรม 4 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ อรรถพล บัวพัฒน์ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีความสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ หรือ #ม็อบ18พฤศจิกา โดยทั้งหมดถูกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับอันตรายต่อกายหรือจิตใจ, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และมาตรา 19, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9, พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มาตรา 10, 15, และ 16, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ของ #กลุ่มคณะราษฎร2563 ชื่อกิจกรรมชุมนุม #ราษฎรล้อมสภา ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อกดดันให้รัฐสภาพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน โดยในวันเดียวกันนั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มเห็นต่าง ชื่อกลุ่มว่า #ไทยภักดี ได้มีการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่บริเวณเดียวกัน ทําให้เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม และกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการฝ่าแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ คฝ. เจ้าหน้าที่จึงใช้น้ำและแก๊สน้ำตาฉีดป้องกัน สกัดกั้น เป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย

>>> ประมวลเหตุการณ์ 7 ชม. #ม็อบ17พฤศจิกา จนท.ตร.ฉีดน้ำแรงดันสูง ใช้แก๊สน้ำตา ขัดขวางการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มราษฎร

>>> เผยวินาที 3 พ่อลูกพากันหนีสารเคมี-แก๊สน้ำตา ขณะพลัดหลงเข้าพื้นที่สลายการชุมนุม 17 พ.ย.

ในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว จําเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งเป็นแกนนําในการชุมนุมได้สลับกันขึ้นปราศรัย ได้พูดชักชวนผู้ชุมนุม ประกาศนัดหมายให้ไปรวมตัวกันอีกครั้ง ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 4 โมงเย็น (ซึ่งเป็นวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้) ที่บริเวณแยกราชประสงค์ พร้อมกับประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ #เยาวชนปลดแอก หรือ FREE YOUTH

>>> ‘ครูใหญ่’ รับทราบ 9 ข้อหา กรณี #ม็อบ18พฤศจิกา ตอบโต้การสลายชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำและแก๊สน้ำตา

>>> รับอีกคดี อานนท์-ไมค์ ถูกตั้ง 9 ข้อหา ‘หัวหน้ามั่วสุมชุมนุมฯ’ เหตุสาดสีหน้า สตช.

ต่อมา วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึงราว 2 ทุ่มครึ่ง ได้มีการชุมนุมทางการเมืองตามที่ได้ประกาศนัดหมายและจําเลยทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. ในระหว่างที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จําเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นแกนนําชุมนุม มีหน้าที่สั่งการ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ พร้อมกับประชาชนที่เข้าร่วมราว 60,000 คน ได้ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ที่บริเวณถนนราชดําริ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องสี่แยกราชประสงค์ และถนนพระราม 1 ด้านหน้าสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล สถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงความไม่พอใจต่อการสลายการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนการนี้

จําเลยทั้ง 4 ได้ขึ้นโดยสารรถยนต์กระบะ และรถสามล้อ (รถซาเล้ง) สับเปลี่ยนกันปราศรัย ประกาศโฆษณาผ่านเครื่องขยายเสียง เคลื่อนที่นําขบวนผู้ชุมนุมไปตามถนนราชดําริ ทิศทางจากแยกราชประสงค์ มุ่งหน้าไปยังสี่แยกปทุมวัน พร้อมกับประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่สัญจรไปมาเข้าร่วมการชุมนุม เป็นการเชิญชวนโดยมีพฤติการณ์ทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจําเลยทั้ง 4 เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น โดยในระหว่างการชุมนุม จําเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นแกนนํา มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางทางสาธารณะ ตลอดจนรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน

แต่จําเลยทั้ง 4 ไม่ดูแล รับผิดชอบการชุมนุม เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ยานพาหนะในช่องทางจราจรบนถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนทั่วไป ทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินเหตุอันควร และเมื่อขบวนการชุมนุมมาถึงยังบริเวณหน้าสํานักงานตํารวจแห่งชาติ จําเลยทั้ง 4 ได้ประกาศ ยุยง และสั่งการผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาถุงพลาสติกหลายถุง และขวดพลาสติกหลายขวด ภายในบรรจุสีน้ำเงิน เข้าไปภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ซึ่งขณะนั้นมี สิบตํารวจเอก ธนายศ งามบ้านผือ ผู้เสียหายที่ 1, สืบตํารวจโท ศิรรุจน์ พรมจีน ผู้เสียหายที่ 2, และสิบตํารวจโท ธีรพัฒน์ พยัคชาติ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นตํารวจประจํา กก.ตชด.31 ซึ่งตั้งแนวบริเวณริมรั้วภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ทำให้ทั้ง 3 ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการระคายเคืองบริเวณตาด้านซ้าย, ผู้เสียหายที่ 2 มีแผลถลอกบริเวณแก้มซ้าย, ส่วนผู้เสียหายที่ 3 เยื่อบุตาด้านซ้ายอักเสบ

2. ในการชุมนุมดังกล่าว จำเลยทั้ง 4 ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรน่า 19 แพร่ระบาด ตามที่ทางราชการได้กำหนดไว้ เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ไม่ได้กระทำในขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อ ผกก.สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็น สน. ที่รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชม. ก่อนหน้ากิจกรรม ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย

นอกจากนั้น ในการชุมนุมยังมีการตั้งวางกองวัตถุใดๆ บนถนน หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะกีดขวางทางจราจร รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจรได้ เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย หรือความสะดวกในการใช้เส้นทางจราจร

3. จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นแกนนำในการชุมนุมยังได้ร่วมกันขูด กะเทาะ ขีดเขียน พ่นสีเป็นข้อความ ภาพ และหลายข้อความมีความไม่เหมาะสมและหยาบคาย แสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ตัวอย่างเช่น #ภาษีกู #พ่อมึงไม่ใช่พ่อกู #พวกชอบเลียตีน #แผ่นดินของราษฎร ฉีดพ่นบริเวณแนวกำแพงรั้วของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทางเท้าด้านหน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงจุดอื่นๆ 

4. ในการชุมนุม จำเลยทั้ง 4 พร้อมทั้งผู้ชุมนุม ยังได้ร่วมกันทำให้เสียหาย เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั้งหมด 11 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณรอบกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันฉีดพ่นสีสเปรย์และสาดสีน้ำใส่กล้องวงจรปิด ทำให้กล้องทั้งหมดดูภาพไม่ได้ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถใช้การได้ ได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 58,850 บาท

ทั้งนี้ในวันที่อัยการมีคำสั่งฟ้องนั้น มีเพียงแค่อรรถพลคนเดียวเท่านั้นที่ไปพบอัยการ ในขณะที่จำเลยอื่นอีก 3 คน ยังถูกคุมขังในเรือนจำ ทำให้ถูกฟ้องโดยไม่มีตัวจำเลย

ทั้งนี้ โจทก์ยังระบุอีกด้วยว่า จำเลยทั้ง 4 มีประวัติการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันกับคดีนี้จำนวนหลายคดี โดยได้มีการแนบประวัติอาชญากรรมของจำเลยทั้งหมดมาด้วย ขอให้ศาลพิจารณาประวัติการกระทำความผิดประกอบดุลยพินิจในการกำหนดโทษด้วย

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 1 ราย คือ อรรถพล บัวพัฒน์ กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 17 มกราคม 2565

+++ สั่งฟ้อง ณัฐวุฒิ เหตุร่วมม็อบ 18 .. 63 ย่านลาดกระบัง ศาลให้วางหลักประกัน 20,000 บาท +++

11 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ต่อศาลอาญามีนบุรี ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง) เป็นคดีความจากการชุมนุมบริเวณแยกกิ่งแก้ว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เพื่อขับไล่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณใต้สะพานยกระดับข้ามแยกกิ่งแก้ว ถนนลาดกระบัง จำเลยยังได้ปราศรัยเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลต่อผู้ชุมนุมโดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม มีคนมาร่วมราว 300 คน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 

ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 จำเลยได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธ โดยคดีนี้ได้ขาดผัดฟ้องแล้ว โจทก์จึงขออนุญาตจากทางรองอัยการสูงสุด (ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด) ขอฟ้อง และได้รับอนุญาตแล้ว 

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เรียกหลักประกันเป็นเงิน 20,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมครั้งต่อไปวันที่ 2 ธันวาคม 2564

+++ สั่งฟ้องผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส ถูกกล่าวหาว่าพกระเบิดเข้าร่วม #ม็อบ22สิงหา ปี 64 ศาลให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์เดิม 110,000 บาท +++

12 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง “กศิเดช” ผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ส ต่อศาลอาญา โดยถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธ มาตรา 38, 78, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 35 เหตุจากการถูกจับกุมในการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 หรือ #ม็อบ22สิงหา หลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจำเลยหลายนี้ได้พกระเบิดเข้ามาร่วมในการชุมนุมด้วย จำนวน 4 ลูก

>>> #ม็อบ22สิงหา จับอีก 42 ราย เด็ก/เยาวชน 19 – เจ็บระนาว 15 เยาวชน 2 รายนำส่ง รพ. ที่เหลือนอนโรงพัก ถูกยึดโทรศัพท์ติดต่อ ผปค.ไม่ได้ ก่อนศาลให้ประกันตัวทั้งหมด

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยพร้อมพวกอีก 3 คน และกลุ่มผู้ชุมนุม ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อเนื่องวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณแยกดินแดง เป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ไม่มีการเว้นระยะห่าง หรือมีมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันรัฐบาล

ทั้งนี้ จำเลยรายนี้ยังมีวัตถุระเบิดชนิดไทยประดิษฐ์จำนวน 4 ลูก มีส่วนประกอบของระเบิดแสวงเครื่อง สามารถทำอันตรายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้ เป็นวัตถุระเบิดตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธฯ ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ โดยจำเลยได้พกระเบิดดังกล่าวติดตัวไปในที่สาธารณะบริเวณกรมการแพทย์ทหารบก และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

ในวันเดียวกับที่มีการชุมนุม เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมตัวจำเลยได้พร้อมกับยึดวัตถุระเบิดที่มีเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวน จำเลยเคยถูกพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวน แต่ศาลได้ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยใช้หลักประกันเดิม เป็นเงิน 110,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมประชุมคดี สอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 มกราคม 2565

X