เผยวินาที 3 พ่อลูกพากันหนีสารเคมี-แก๊สน้ำตา ขณะพลัดหลงเข้าพื้นที่สลายการชุมนุม 17 พ.ย.

สืบเนื่องจากการเข้าสลายการชุมนุม  “17 พ.ย.นี้ ราษฎรล้อมสภา” หรือ “ม็อบ17พฤศจิกา” ที่รัฐสภาเกียกกาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี และแก๊สน้ำตาตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงช่วงหัวค่ำของวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา มีประชาชนหลากหลายเพศ วัย และอาชีพ ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือนักเรียนวัยเตรียมอนุบาล ชื่อ “ไผ่” (นามสมมุติ) ที่มีอาการอาเจียน ระคายผิวและตาจากละอองสารเคมีในอากาศ

ไพรัช (สงวนนามสกุล) พ่อของไผ่เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 พ.ย. 63 เขากำลังพาลูก 2 คนไปทานข้าวตามที่นัดไว้กับพี่สาวซึ่งทำงานอยู่ย่านเกียกกาย แต่เนื่องจากไม่คุ้นกับเส้นทาง จึงหลงผ่านเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ได้ตั้งใจมาเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด หากกลับทำให้ลูกชายคนเล็กได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ 

ส่วนเสื้อคลุม หน้ากาก และเครื่องป้องกันที่ลูกของเขาสวมใส่นั้นเป็นสิ่งที่การ์ดของผู้ชุมนุมนำมาสวมให้ เพื่อป้องกันเด็กจากอันตรายของแก๊ซน้ำตาและสารเคมีจากการฉีดน้ำของเจ้าหน้าที่รัฐ

หลงเข้ามาในที่ชุมนุมขณะพาลูกไปทานข้าวกับคุณป้าแถวแยกเกียกกาย

ไพรัชเล่าให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนฟังถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่า เวลาราว 14.30 น.​ เขาเดินทางไปรับลูกทั้ง 2 คน จากโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กย่านบางกอกน้อย โดยลูกคนโตอายุประมาณ 7 ขวบ ส่วนคนเล็กนั้นอายุ 3 ขวบ หลังจากนั้นจึงขับรถมุ่งหน้าไปที่แยกเกียกกาย เพื่อไปทานข้าวตามนัดกับพี่สาวที่ทำงานอยู่ในละแวกนั้น แต่เนื่องจากเขาไม่คุ้นชินเส้นทางจึงหลงมาในเส้นทางที่มีการชุมนุม 

“วันนั้นผมมีนัดทานข้าวกับป้าของหลานๆ ที่ทำงานอยู่แยกเกียกกาย เขาจะพาหลานไปทานข้าว ผมตัดสินใจเดินทางเส้นถนนราชดำเนิน แล้วเลี้ยวขวาไปบางโพ เพราะคิดว่าเส้นนี้วิ่งได้ ระหว่างที่วิ่งไปก็ถามทางไป เขาชี้ให้ผมไปที่แยกสะพานแดงแล้วเลี้ยวซ้าย

“ผมไม่ชินเส้นทาง คิดว่าเส้นนี้วิ่งได้  แล้วผมก็ขับรถไปถึงเส้นที่มุ่งหน้ามาจากบางซื่อ จนหลุดไปที่ที่มีม็อบในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุลมุนแล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีการดัน [ของกลุ่มมวลชน] เข้ามามากแล้ว

“ถ้าเอะใจสักนิดผมคงไม่เข้ามาตรงนี้หรอก แต่ในใจผมไม่รู้จริงๆ  คิดว่าเขาเปิดทางให้ขับรถออกได้ แต่พอเข้าไปจริงๆ แล้วไม่ใช่ ผมหลุดเข้ามา [ในที่ชุมนุม] เอง ผมไม่รู้ว่าตรงนี้มันจะมีการสลายการชุมนุม คิดไม่ถึงเลย”

ทิ้งรถเพื่อรีบพาลูกออกมา วินาทีตร.ฉีดน้ำสีม่วงใส่ผู้ชุมนุม

เมื่อไพรัชเห็นว่ารถของเขาอยู่ใกล้กับรถน้ำที่กำลังจะฉีดน้ำในระยะ 700 เมตร เขาจึงตัดสินใจทิ้งรถและพาลูกทั้งสองออกจากที่ชุมนุมโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย  ในวินาทีที่ไพรัชลงจากรถนั้น เริ่มมีการฉีดน้ำผสมสารเคมีสีม่วง เพื่อกดดันผู้ชุมนุมให้ถอยออกไปจากแนวปะทะแล้ว 

“ผมจำจุดที่จอดรถได้เลย ติดตาจำได้ดี ผมจอดตรงที่เขาเรียกว่าถนนประชาราษฎร์ ผมจอดที่ริมฟุตบาท ฝั่งซ้ายของถนน ห่างจากจุดที่มีการฉีดน้ำ 5-600 เมตร ซึ่งยังไม่ถึงระยะน้ำ การ์ดผู้ชุมนุมเขาเห็นแล้วบอกให้ผมรีบขับรถออกจากพื้นที่เลย แต่มันเป็นช่วงที่เริ่มมีการดันของคนและรถเข้ามามาก ผมเลยตัดสินใจจอดรถดีกว่า และจะพาลูกเดินออกไปให้ไกลจากจุดที่มีการฉีดน้ำ

“ผมมองเห็นเขาฉีดน้ำสีม่วง ผมดูแล้วคิดว่ามันฉีดน้ำอะไรเนี่ย ผมรีบจอดรถแล้วฝากการ์ดผู้ชุมนุมตรงนั้นให้ดูรถให้หน่อย การ์ดบอกผมว่าไม่ต้องเป็นห่วง ให้เอาน้องออกไปก่อน แล้วเขาก็เอาเสื้อกันฝนมาคลุมให้ เอาแว่นมาแจกให้ใส่ป้องกันไว้ก่อน พร้อมบอกให้ระวังละออง เพราะเด็กเล็กผิวบางโดนละอองไม่ได้ 

“ขนาด [ละออง] โดนตัวผม ผมยังคันยังแสบไปหมด” 

ไผ่อาเจียน-ร้องไห้จากละอองน้ำจากการฉีดน้ำสลายการชุมนุม

ขณะที่เขาพาลูกเดินออกมา ลูกคนโตมีอาการตกใจและดึงเสื้อของไพรัชไว้แน่น ในขณะเดียวกันเขายังต้องอุ้มลูกคนเล็กเอาไว้เพื่อพาไปที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด เมื่อเดินออกมาในระยะหนึ่งแล้ว จึงเจอพื้นที่ที่นักข่าวภาคสนามกำลังนั่งหลบน้ำและแก๊ซน้ำตาอยู่ เขาจึงพาลูกเข้าไปนั่งพักตรงนั้นก่อน แต่ว่าเมื่อไผ่นั่งลง ก็มีอาการอาเจียน ร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล หน่วยอาสาจึงต้องรีบเข้ามาปฐมพยาบาล 

หลังจากที่ไผ่อาการดีขึ้นและสถานการณ์ที่แนวหน้าการชุมนุมหยุดฉีดน้ำแล้ว ไพรัชจึงรีบนำลูกทั้งสองคนกลับมาขึ้นรถ และรีบกลับไปถึงที่บ้านในเวลาประมาณ 16.30 น.​

“ผมไม่ได้เข้าไปด้านหน้าที่มีการฉีดน้ำเลย หลังใส่เสื้อกันฝนให้ลูกเสร็จก็รีบพาเขาออกมา ตอนนั้นคนเยอะมาก ลูกคนโตพอเขาเจอเหตุการณ์นี้เขาตกใจมาก เขาดึงเสื้อผมแน่น คือชั่วโมงนั้นผมก็ไม่รู้จะทำไงแล้ว ลูกคนเล็กผมก็ต้องอุ้ม ลูกอีกคนผมก็ต้องพยายามดึงให้แน่นๆ มันเลยกลายเป็นว่าช่วงนั้นผมไม่ได้ใส่ใจแล้ว ผมต้องการที่จะเอาลูกผมออกไปให้ไกลที่สุดแล้ว เพราะคนโตก็ตกใจหน้าซีดลนลานไปหมด

“พอผมพาลูกเดินออกมาได้ประมาณ 20 ก้าว ก็เดินมาเจอนักข่าวนั่งอยู่ตรงเวิ้ง เขาบอกให้เข้ามาหลบตรงนี้ก่อน ตรงนี้ปลอดภัย ผมก็เลยพาลูกๆ เข้าไปหลบก่อน แต่จังหวะที่ลูกคนเล็กกำลังจะนั่งลงตรงนั้น เขาก็เริ่มอาเจียนออกมา พออาเจียนก็ร้องไห้แสบตาน้ำหูน้ำตาไหล

“หลังจากนั้นก็มีอาสาสมัครวิ่งเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น และอุ้มไปปฐมพยาบาลบริเวณที่มีรถพยาบาลจอดแสตนบายอยู่ ซึ่งตรงจุดนั้นเป็นจุดที่ไกลจากรถน้ำพอสมควรอยู่ พอน้องเขาได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนั่งพักอีกประมาณ 20 นาที เขาก็อาการดีขึ้น

“พอน้องเขาอาการดีขึ้น ผมก็เดินไปดูสถานการณ์ เห็นว่าหยุดฉีดน้ำแล้วเลยรีบกลับดีกว่า เลยพาน้องเดินออกมาจากจุดนั้นและมาเอารถที่จอดไว้ หลังจากนั้นพอการ์ดเห็นว่าเป็นผมและแอมมี่ [The Bottom Blues] ก็ยังอยู่ตรงนั้นก็บอกว่าพี่กลับเลย เอาน้องกลับเลย ถามผมว่าน้องหายดีแล้วใช่ไหม ผมก็บอกว่าโอเคๆ หายดีแล้ว แอมมี่เขาก็มาขอโทษว่าผมขอโทษนะพี่ ผมดูแลน้องไม่ได้

“ผมบอกเขาว่าไม่เป็นไร ผมผิดเอง ผมดันหลุดเข้ามาโดยไม่ได้ดูเลยว่ามีการสลายการชุมนุม คิดไม่ถึงเลย ก็คิดแต่ว่าจะพาไปหาป้าของหลานๆ เพราะป้านัดหลานไปทานข้าว”

ภาพหนีการสลายการชุมนุมของ 3 พ่อลูก กลายเป็นเป้าโจมตีในสังคมออนไลน์-ออฟไลน์

ภาพของเด็กชายทั้ง 2 ที่สวมเสื้อกันฝนและแว่นจากการ์ดผู้ชุมนุมตกเป็นเป้าโจมตีทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หลังภาพข่าวไผ่ที่กำลังได้รับการปฐมพยาบาล และภาพของไพรัชพาลูกทั้งสองคนขณะหาทางออกจากที่ชุมนุมเผยแพร่ออกไป

ไพรัชเล่าว่ามีข้อความแสดงความคิดเห็นตามเพจในโซเชียลมีเดียเข้ามาโจมตีต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่ว่าเขานำลูกมาเป็นเกราะกำบังหรือนำมาเพื่อสร้างสถานการณ์ หรือได้รับค่าจ้างให้นำเด็กมาเข้าร่วมการชุมนุม หรือบรรยายว่าการกระทำของไพรัชเป็นการกระทำที่ “อำมหิต” นอกจากนี้ยังมีการใช้ถ้อยคำผรุสวาทกับไพรัชอีกด้วย เช่น “หน้าตัวเมียเอาเด็กมาหาแดก” และแม้ว่าไพรัชจะชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้ที่เข้ามากล่าวหาแล้ว แต่ก็ยังถูกโจมตีอยู่บนโลกออนไลน์อยู่อย่างต่อเนื่อง

นอกจากที่ครอบครัวของไผ่จะถูกโจมตีทางออนไลน์แล้ว ยังมีบุคคลนิรนามโทรมาข่มขู่ไพรัชเมื่อเช้าวันที่ 18 พ.ย. 63 โดยกล่าวหาว่าไพรัชพาลูกไปเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสร้างสถานการณ์ พยายามสอบถามที่อยู่ปัจจุบันของครอบครัวและขู่ว่าจะไปตามหาที่บ้าน โดยไพรัชไม่ทราบว่าบุคคลที่โทรมาเป็นใคร เนื่องจากไม่ปรากฎเบอร์ขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ และไม่ทราบว่าเขาทราบเบอร์ตนได้อย่างไร

“พอคนเห็นภาพที่น้องใส่เสื้อกันฝนใส่แว่น กลายเป็นว่าคนบางส่วนเขาเห็นว่าพ่อพาเด็กไปร่วมม็อบ แล้วก็กลายเป็นว่าทำให้ม็อบก็ดูไม่ดีไปด้วย

มีคนโทรมาขู่ แต่เขาไม่โชว์เบอร์ ไม่รู้เบอร์อะไร เขาบอกประมาณว่าผมสร้างสถานการณ์ ทำไมต้องเอาเด็กมาเป็นโล่กำบัง สร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรุนแรง จากนั้นก็ข่มขู่ เขาถามว่าบ้านอยู่ไหน เดี๋ยวไปหา 

“ผมก็อธิบายให้ฟังว่าผมไม่ได้มีเจตนานั้นเลย ทำไมไม่คิดถึงบริบทว่าผมก็อายุเยอะแล้ว ลูกเพิ่งจะ 3 ขวบครึ่ง แล้วผมจะเอาลูกไปยืนเป็นโล่กำบังให้ม็อบเพื่ออะไร แล้วเด็กตัวแค่นั้น มันจะไปบังอะไรใครได้”

“[สำหรับบางคนบนโลกออนไลน์] ผมก็เข้าไปอธิบายแล้วส่วนหนึ่ง ผมถือว่าผมต้องขอปกป้องศักดิ์ศรีของผม เพราะผมไม่ได้ทำอะไรตามที่คุณพูด”

นอกจากไผ่จะอาเจียนและมีอาการระคายเคืองจากละอองน้ำขณะเกิดเหตุสลายการชุมนุม ต่อมาในวันที่ 18 พ.ย. 63 ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งจากผู้ปกครองของไผ่ อีกว่าน้องมีอาการอาเจียนหลังทานข้าวเย็น และได้พาไปพบแพทย์แล้ว โดยแพทย์ให้คำแนะนำว่าให้ดูอาการต่อไป

สำหรับการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 บริเวณรัฐสภาเกียกกาย iLaw รายงานว่าตั้งแต่เวลา 14.22-19.22 น. พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำเปล่าแรงดันสูงทั้งหมด 3 ครั้ง ฉีดน้ำผสมสารเคมี 28 ครั้ง ฉีดน้ำผสมสีและสารเคมี 5 ครั้ง และขว้างหรือยิงแก๊ซน้ำตา 38 ครั้ง โดยจำนวนกระสุนแก๊สน้ำตาอาจมากกว่าจำนวนที่ขว้างหรือยิง โดยการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าหรือการเจรจาใดๆ และยังไม่มีการก่อจลาจลหรือการใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้ชุมนุม อันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าสลายการชุมนุม

ไม่ใช่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะเท่านั้น การใช้สารเคมีและแก๊ซน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ยังส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบทางร่างกาย ซึ่งยังไม่มีรายงานถึงจำนวนและภาพรวมของผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพในลักษณะนี้ที่แน่ชัดแต่อย่างใด 

X