จากเรื่องเล่าของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในตอนที่แล้ว (คลิกอ่านที่นี่) นำเสนอเรื่องราวการนำศาลทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของพลเรือนโดยตรง แทนที่จะทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหาร
แม้วันนี้จะมีประกาศยกเลิกพลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหารแล้ว แต่ยังมีคดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอีกมากยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและบางคดีแม้ว่าจะเกิดขึ้นหลังประกาศ แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างที่มีการประกาศใช้ศาลทหารก็ยังถูกนำกลับไปพิจารณาคดีในศาลทหาร และคดีเหล่านี้เป็นคดีการเมืองที่มีเหตุเกี่ยวกับการชุมนุม แสดงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงออกไม่เห็นด้วยเห็นด้วยกับการรัฐประหารและการใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทหาร
เปิดเดือนแรกของปี 2560 ก็มีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ นัดสอบคำให้การคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จำเลยคือ บุรินทร์ อินติน นัดคดีต่อมาคือ นัดสอบคำให้การคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ของ ตูน ธเนตร อนันตวงศ์ และนัดคือ นัดสืบพยานโจทก์คดีครอบครองระเบิดขว้าง RGD5 จำเลยคือณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า และ เจริญ พรมชาติ
ในแง่หนึ่งเราอาจคิดว่า “ศาลทหาร” คงเป็นสิ่งที่ไกลตัวพวกเราในฐานะ “พลเรือน” เพราะหากเราอยู่เฉย ๆ ไม่ต่อต้านคสช. ไม่แสดงความเห็นทางการเมือง เราก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดี อยู่ได้อย่างสงบเรียบร้อยในประเทศต่อไป แล้วเราก็อาจจะเผลอคิดต่อไปว่า เราคงไม่มีทางที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร แล้วอาจคิดต่อไปว่า คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็คงเพราะ “ทำตัวเอง”
แต่จากนี้ไปหากเราได้อ่านบทสัมภาษณ์ของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เล่าปัญหากระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร คงเชื่อได้ว่า เราอาจจะเห็นแจ้งแจ่มชัด หรืออย่างน้อยก็ครุ่นคิดได้เพียงสักหน่อยว่า ศาลทหารกับพลเรือนกำลังสะท้อนปัญหาสถาบันตุลาการ กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดของประเทศ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากเราโตมากับความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นก็คือ “จะอ้างว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้”
“แม้แต่แผ่นเดียวก็ต้องเขียน เขียนคำร้องก็ต้องเสนอต่อศาลทหารก่อนว่า จะอนุญาตไหม ทั้งที่ตามหลักความโปร่งใสแล้วเอกสารเหล่านี้ต้องคัดถ่ายเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่จำเลยในคดีและความสะดวกในการทำงานของทนายความ”
ภาวิณี ชุมศรี
เอกสารต่าง ๆ ในกระบวนการพิจารณคดี ทั้งคำร้อง คำฟ้อง หรือแม้แต่คำพิพากษานั้น ตามหลักศาลยุติธรรมจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เอกสารใดคัดถ่ายได้โดยไม่ต้องเขียนคำร้อง ไม่ต้องให้ศาลอนุญาตแต่อย่างใด สามารถคัดถ่ายได้โดยทันทีเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการทำงานของทนายความ แล้วกระบวนการเหล่านี้ในขั้นตอนของศาลทหารล่ะเป็นอย่างไร
ภาวิณี ชุมศรีสะท้อนปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กลับเป็นปัญหาที่ยุ่งยากและสร้างความลำบาก ล่าช้า ในการทำงานกับศาลทหารว่า เอกสารใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับคดีและทนายจะต้องนำมาประกอบในการทำงานคดีนั้นจะต้องเขียนคำร้องให้กับศาลทหารทุกครั้ง
“แม้แต่แผ่นเดียวก็ต้องเขียน เขียนคำร้องก็ต้องเสนอต่อศาลทหารก่อนว่า จะอนุญาตไหม ทั้งที่ตามหลักความโปร่งใสแล้วเอกสารเหล่านี้ต้องคัดถ่ายเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่จำเลยในคดีและความสะดวกในการทำงานของทนายความ”
ถามต่อว่า กระบวนการเขียนคำร้องเพื่อคัดถ่ายเอกสารนั้น เป็นไปเพียง “พิธีการ” หรือเปล่า เขียนพอเป็นพิธี เพราะอย่างไรเสียก็จะได้เอกสารเหล่านั้นอยู่แล้ว ภาวิณีฟังคำถามเสร็จแล้วก็ส่ายหน้า เธอตอบกลับมาว่า “ไม่เลย” แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล บางคดีก็ให้คัดถ่าย บางคดีก็ไม่ให้คัดถ่าย ไม่รู้เลยว่า เกณฑ์หรือมาตรฐานในการให้คัดถ่ายเอกสารใส่ขั้นตอนพิจารณาคดีอยู่ตรงไหน มีเกณฑ์อย่างไร
สำหรับคนทำงานด้านกฎหมายอ่านถึงตรงนี้แล้วอาจสงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ศาลทหารไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสาร เป็นพยานหลักฐานในคดีเสียด้วย
จากฐานข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ พบว่า กรณีคดีของนายวิชัย(ขอสงวนนามสกุล) ในวันนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 3 ศาลทหารไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา โดยอ้างว่าได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วและคู่ความสามารถตรวจสำนวนได้
หรือคดีของชญาภา(ขอสงวนนามสกุล) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ทนายความยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารต่อศาล ซึ่งมีรายการดังนี้ 1.คำฟ้อง พร้อมเอกสารท้ายคำฟ้อง 2.หมายขังระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา 3.คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1-7 พร้อมเอกสารท้ายคำร้อง 4.บันทึกรับ/ส่งตัวผู้ต้องหา/จับกุม พร้อมด้วยของกลาง 5.หมายจับที่ 2/2558 พร้อมบันทึกตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด 6.บันทึกคำให้การผู้กล่าวหา 7.บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา 8.รายงานพิจารณาคำร้องขอฝากขังที่ ฝพ. 8/2558 แต่ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารเฉพาะหมายเลข 5 และ 8 เท่านั้น ส่วนอื่นไม่อนุญาตให้คัดถ่าย
ตัวอย่างสุดท้ายกรณีคดีจำเลยป่วนงาน Bike for dad ที่ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่อัยการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำฟ้อง แต่ศาลทหารก็ไม่อนุญาตโดยให้เหตุว่าได้ส่งให้แก่จำเลยไปแล้ว
ทั้งหมดสะท้อนปัญหาที่ทนายพลเรือนจะต้องมาเจอ เมื่อต้องว่าความในศาลทหารต่อว่า ถ้าเป็นศาลพลเรือนเพื่อความยุติธรรมแล้ว ขั้นตอนต่าง ๆ มันต้องตรวจสอบได้ โปร่งใส่ มีมาตรฐาน แต่สำหรับศาลทหารนั้นไม่มีมาตรฐานเลย
ฟังถึงตรงนี้เราคงคิดกันว่า แค่เอกสารที่ทนายความจะต้องใช้ก็ได้มาลำบากขนาดนี้เลยหรือ?
คำถามสำคัญก็คือ ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ความปลอดภัยในศาลทหาร ไม่มีหลักการทั้งกระบวนการตามกฎหมาย หรือในทางนิติศาสตร์จะเรียกว่า “มั่นคงทางนิติฐานะ” รวมถึงการที่ “ศาลทหาร” อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานภายใต้ฝ่ายบริหาร แล้วแบบนี้จะส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาคดีอย่างไรนั้น
ภาวิณีตอบว่า ก็ในเมื่อประกาศ คสช.ให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกก็คือ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ดูได้จากการกระทำผิดโดยขัดคำสั่ง คสช. ก็ล้วนมีความคิดทางการเมืองตรงข้ามกับ คสช. แล้วคำฟ้องที่เขียนออกมานั้น ก็ยังระบุชัดเจนว่าจำเลยมีความคิดต่อต้าน คสช. เช่น คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ที่ถูกฟ้องตวามความผิด ม.116 ประมวลกฎหมายอาญา การที่ คสช.เองก็เป็นคู่ขัดแย้งแล้วใช้ศาลทหารที่อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมมาพิจารณาคดีจึงส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม
“เวลาไปศาลทหาร เรารู้สึกว่า เราอยู่ในวงล้อมของทหาร ไม่รู้สึกปลอดภัยเหมือนไปศาลยุติธรรม มันเหมือนไปค่ายทหาร ไม่รู้ว่าเขาจะจับเราไปตอนไหน ใช้ความรุนแรงกับเราเมื่อไร”
อานนท์ นำภา
ประเด็นนี้สอดคล้องกับทนายความที่ตกเป็น “ผู้ต้องหาและจำเลย” ในคดีทางการเมืองอยู่เนืองๆ เพราะอีกสถานะของเขาคือ “นักกิจกรรม” ที่รณรงค์ประชาธิปไตยในยุคที่ทหารครองเมือง “อานนท์ นำภา” เขาสะท้อนประเด็นการคัดถ่ายเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาในชั้นศาลทหารด้วยเช่นกัน
“การเข้าถึงเอกสารของศาลทหารจะยุ่งยากกว่าศาลยุติธรรม แล้วความล่าช้าในเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะระยะเวลาในขั้นตอนการพิจารณาคดีมันสำคัญ จำเลยในคดีเหล่านี้ได้โอกาสในการประกันตัวน้อยมาก ดังนั้นระยะเวลายิ่งช้าโดยไม่จำเป็น การรักษาสิทธิจำเลยก็น้อยลง อย่าลืมว่าจำเลยกำลังโดนขัง ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดจริง ดังนั้นเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่”
เท่านั้นยังไม่พอ อานนท์ นำภายังสะท้อนปัญหาความล่าช้าของขั้นตอนการคัดพิจารณาคดี แล้วความล่าช้านี้ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร
“ขั้นตอนในการเตรียมคดีมันก็ช้าลง กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องในเนื้อความเอกสารก็ช้าลงไปอีก เราไม่สามารถตรวจสอบได้ทันท่วงทีว่า ศาลได้บันทึกข้อความ คำพูดของทุกฝ่ายถูกต้องจริงหรือไม่ เสมียนศาลพิมพ์ตกหล่นจากที่อยู่ในห้องพิจารณาหรือไม่ เหล่านี้มันคือการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสทั้งสิ้น แต่ด้วยความเป็นองค์กรราชการมากกว่าสถาบันยุติธรรม เขาจึงเน้นเรื่องความมั่นคงมากกว่าเรื่องความยุติธรรมและความโปร่งใส ขั้นตอนในการคัดถ่ายเอกสารเพื่อนำออกมาจากภายนอกจึงเป็นเรื่องที่ช้าและยุ่งยากมาก”
ถึงตรงนี้แล้วเราคงตกใจหรือมีความสงสัยเล็ก ๆ ว่า ทำไมศาลทหารจึงต้องยึดหลักความมั่นคงมากกว่าความยุติธรรม ขึ้นชื่อว่าศาล สำนึกแรกจะต้องเป็นความยุติธรรมไม่ใช่หรือ
สิ่งแรกที่เราควรรู้ก็คือ ศาลทหารทั้งหมดอยู่ในค่ายทหาร หรืออย่างน้อยต้องอยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ “ทหาร” มีนายทหารเวร ทำหน้าเครียด สีหน้าดุ ถืออาวุธสงครามอยู่ในมือ แค่ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนความ “มั่นคง” และสร้างความน่ากลัวให้แก่พลเรือนที่ถูกบังคับให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลทหาร
แน่นอนนี่ไม่ใช่แค่เรื่องกล่าวอ้างเท่านั้น อานนท์ นำภา เคยมีประสบการณ์จริงจากเรื่องเหล่านี้อีกด้วย
“เวลาไปศาลทหาร เรารู้สึกว่า เราอยู่ในวงล้อมของทหาร ไม่รู้สึกปลอดภัยเหมือนไปศาลยุติธรรม มันเหมือนไปค่ายทหาร ไม่รู้ว่าเขาจะจับเราไปตอนไหน ใช้ความรุนแรงกับเราเมื่อไร”
จากข้อความข้างต้นของอานนท์ นำภา ในข้อเท็จจริงศาลทหารเองก็อยู่ในพื้นที่ของค่ายทหาร(จะยกเว้นก็แต่ศาลทหารกรุงเทพฯ) เขาจึงรู้สึกเสมอว่า เขากำลังอยู่ใน “พื้นที่ฝ่ายตรงข้าม” เมื่อเขาต้องไปว่าความที่ศาลทหาร แน่นอนมันทำให้เขารู้สึกหวาดหวั่น มันไม่ใช่ความหวาดหวั่นที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นความหวาดหวั่นที่เขาได้รับจากมันโดยตรง
“ผมไปว่าความที่ศาลทหาร จังหวัดเชียงราย พอผู้พิพากษาลงมาก็สั่งให้ทุกคนออกไปนอกห้อง เหลือแค่เจ้าหน้าที่ เสมียนศาลและผม แล้วผู้พิพากษาก็เอากระดาษออกมาแล้วบอกว่า ทนายโพสต์เฟซบุ๊กใช่ไหม แล้วสักพักเขาก็สั่งให้เจ้าหน้าที่เปิดดูเฟซบุ๊กผม ปรากฎว่า เฟซบุ๊กนั้นหายไปแล้ว แต่ผู้พิพากษาก็บอกว่า ไม่รู้ล่ะ โพสต์แบบนี้มันคือการว่าศาล ตอนนั้นผมก็กลัวมากเพราะเหลือแค่ผมที่เป็นพลเรือนคนเดียว แล้วพวกเจ้าหน้าที่ก็คือทหาร”
เมื่อฟังเรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้นึกถึงกรณีที่ศาลทหารไม่สบายใจความเห็นออนไลน์ช่วงที่อานนท์ต้องไปว่าความคดี “รุ่งศิลา” ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลได้แจ้งให้ อานนท์ นำภา ทนายความจำเลย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทราบถึงการนำเอาคำเบิกความ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไปเผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางให้ผู้อื่นมาแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งศาลไม่สบายใจต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่นในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับคำเบิกความของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และโพสต์ที่เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาของศาล บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของทนายอานนท์ นำภา (อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี้)
จากทั้งหมดเราคงเห็นปัญหามากมายที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลทั้งต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยตรง แน่นอนทนายความเองก็หลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เช่นกัน คำถามสำคัญก็คือ ศาลทหารเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมหรือกำลังเป็นเครื่องมือของ คสช. เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ทนายความทั้งสองชวนให้พวกเราขบคิด
ภาวิณีสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า ศาลทหารเป็นเพียงมาตรการที่ คสช. ใช้จัดการกับคนที่ออกมาคัดค้าน หรือต่อต้านการบริหารประเทศโดย คสช. ไม่ได้เป็นไปเพื่อความรวดเร็ว เพื่อความมั่นคงของประเทศตามที่ คสช. กล่าวอ้าง เพราะหากจะอ้างเหตุผลเหล่านั้น ศาลยุติธรรมก็ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ทำไมต้องให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร
ส่วนอานนท์ นำภา บอกเล่าอย่างเผ็ดร้อนว่า หลายคดีไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเลย ตั้งแต่คดีแจกขันแดงที่เชียงใหม่ หรือคดีที่เกิดจากความต้องการให้มีการตรวจสอบการทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่เข้าข่ายความผิดฐานยุยงปลุกปั่นสร้างความกระด้างกระเดื่องตาม ม.116 ด้วยซ้ำ แต่ที่ต้องฟ้องตามมาตรานี้ เพราะต้องการให้คนเหล่านี้ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร
อ่านมาถึงตรงนี้ หากเรายังคิดว่า
“ถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร”
“ศาลทหารเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวข้องกับคนธรรมดาอย่างเราหรอก”
ก่อนจบการสัมภาษณ์ทนายความทั้งสองก็มีความเห็นถึงการใช้ศาลทหารมาพิจารณาคดีกับพลเรือนเอาไว้เพื่อให้เราได้ขบคิดอีกครั้งว่า ศาลทหารเป็นเรื่องไกลตัวจริงหรือไม่ แล้วศาลทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับเราจริงๆ งั้นหรือ
“ข้อหาร้ายแรงที่ทำให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารคืออะไร การวิจารณ์ คสช. คือความผิดร้ายแรงของประเทศใช่ไหม มันกระทบความมั่นคงต่อประเทศอย่างไร การชุมนุมร้ายแรงอย่างไร ไม่ไปรายงานตัวมันร้ายแรงอย่างไร ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเป็นคดีความมั่นคงของประเทศ แล้วถ้ามันเป็นความผิดจริง ๆ ทำไมศาลยุติธรรมถึงพิพากษาคดีเหล่านี้ไม่ได้หรือคะ”
“คุณพร้อมที่จะเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นมาตรฐานหรือเปล่า ศาลหมายถึงความเป็นอิสระ แต่ศาลทหารไม่ได้เป็นอิสระ ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ขึ้นตรงกับรัฐบาลของหัวหน้า คสช. เหตุที่ทุกวันนี้สังคมยังรู้สึกเฉย ๆ กับศาลทหาร ฝ่ายเผด็จการยังรู้สึกดีกับศาลทหาร เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม คุณยินยอมให้ใครก็ไม่รู้มาพิพากษา ตัดสินฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามกับคุณ แต่ถ้าวันหนึ่งเป็นคุณที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเอาใครก็ไม่รู้มาพิพากษาตัดสินคุณบ้าง คุณจะพอใจหรือเปล่า แล้วถ้าเราจะเป็นสังคมแบบนี้จริง ๆ มันจะอันตรายต่อคำว่า ยุติธรรมมากแค่ไหนล่ะครับ”