ทนายสิทธิฯ เล่าเรื่อง : ปัญหาการทำงานของศาลทหาร “การจองจำไม่มีวันหมดอายุ”

ในฐานะพลเรือนที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกระทรวงกลาโหม คำว่า ศาลทหาร ดูจะอยู่ไกลออกไปจากพื้นที่การรับรู้ของพวกเราเพราะคำว่า “ทหาร” กับ “ประชาชน” โดยหลักการต้องอยู่ห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับประเทศไทย ทหารมีบทบาทมากมาย ตั้งแต่มาช่วยเหลือประชาชนช่วงที่เกิดภัยพิบัติ มาช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ใช้อำนาจตามกฎหมายประกาศพื้นที่ใช้กระสุนจริงและสลายการชุมนุม ของประชาชน โดยอ้างเหตุ “รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ”  จนถึงหลาย ๆ ครั้งทหารก็เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพื่อบริหารประเทศ ดังนั้นพื้นที่การรับรู้ระหว่างทหารกับประชาชน  จึง “ใกล้ชิด” กัน จนถึงขั้นนับญาติว่า “ลุง” เลยก็มี

จากตัวอย่างข้างต้น คงไม่แปลกอะไรนักหาก “พลเรือนจะต้องขึ้นศาลทหาร” แม้นี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร  แต่คำถามก็คือ ทำไมศาลทหารจึงเข้ามามีบทบาททางการเมืองและเข้ามาพิจารณาและพิพากษาคดีของพลเรือน

ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยอ้างเหตุ “เพื่อความรวดเร็ว” และ “เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย”  ให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107-112  หรือ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรมาตรา 113-118  ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร  รวมถึงให้คดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ให้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2557

ต่อมาแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะออก “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร โดยอ้างว่า ประชาชนต่างมีเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือที่ดีในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

แต่คำสั่งดังกล่าวกลับไม่ครอบคลุมคดีที่อัยการศาลทหารสั่งฟ้องและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหาร รวมถึงคดีที่มีเหตุเกิดขึ้นจนถึงช่วงก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559  ดังนั้นหากคดีใดมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 12 ก.ย.59 นี้ รวมถึงคดีใดยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 500  คดี คดีเหล่านั้นก็ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารต่อไป ดังเช่นคดีของ “บัณฑิต อานียา” ที่ถูกจับกุมล่าสุด ดังนั้นแม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่ในความเป็นจริงศาลทหารก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องกับพลเรือนอยู่

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คดีที่พลเรือนขึ้นศาลทหารอยู่ในการดูแลของศูนย์ทนายความฯ ทั้งหมด  54 คดี ทุกคดีที่จำเลยต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมและมีการสืบพยานแล้ว ตั้งแต่มีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ศาลทหารมีคำพิพากษาออกมาเพียงหนึ่งคดี

ปัญหาสำคัญของศาลทหารเมื่อต้องพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนมีหลากหลายประการ ทั้งเรื่องการขาดความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีเพราะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม  แล้วปัญหาของศาลทหารเหล่านี้กระทบกับหลักสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมของจำเลยโดยตรง  หลายคดีมีการเลื่อนสืบพยานโจทก์ไปเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อจำเลยที่ไม่ได้รับประกันตัวโดยตรง เป็นการ “จองจำที่ไม่มีวันหมดอายุ” และนี่เป็นเพียงปัญหาเดียวของศาลทหารเท่านั้น หากจะให้เปิดเผยปัญหาของศาลทหาร ใครกันล่ะที่จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด  หากไม่ใช่ “ทนายจำเลย”

อานนท์ นำภา และ ภาวิณี ชุมศรี ทั้งสองคือ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีประสบการณ์ในการว่าความในศาลยุติธรรม และด้วยประกาศคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จึงทำให้ทั้งสองมีประสบการณ์ว่าความในศาลทหารไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้เอง ทั้งสองจึงเห็นปัญหาของศาลทหารในการพิจารณาคดีของพลเรือน

15135949_1166057663429251_1380444169142925494_n

การนัดพิจารณาคดี “เลื่อน-นัด-เลื่อน-นัด” จุดสิ้นสุด? บีบบังคับให้สารภาพ?

“การนัดพิจารณาคดี” เป็นขั้นตอนในการสืบพยานและหลักฐานทั้งจากฝ่ายโจทก์และจำเลยเพื่อให้ศาลฟังจนสิ้นสงสัยว่า จำเลยมีความผิดจริงตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงมีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งเพราะเป็นขั้นตอนที่จะชี้ชะตาพิพากษาจำเลยว่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือจะเป็นนักโทษ

ในมาตรา 8 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุไว้ว่า จำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม และมาตรา 179 ยังระบุอีกว่า  ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้และกฎหมายอื่น ศาลจะดำเนินการพิจารณาตลอดไปจนเสร็จโดยไม่เลื่อนก็ได้ถ้าพยานไม่มาหรือมีเหตุอื่นอันควรต้องเลื่อนการพิจารณา ก็ให้ศาลเลื่อนคดีไปตามที่เห็นสมควร

ภาวิณี ชุมศรีอธิบายวิธีการปฏิบัติของศาลยุติธรรมการนัดพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมว่า การนัดพิจาณาคดีของศาลยุติธรรมจะนัดแบบต่อเนื่อง กำหนดวันเพื่อนัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยไว้ล่วงหน้าแน่นอน หากมีเหตุต้องเลื่อนการพิจาณาคดีของพยานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเท่านั้น เช่น ป่วย และหากพยานปากนั้นศาลเห็นว่าไม่มีความสำคัญต่อคดีมากนัก ศาลก็จะให้สืบพยานลำดับต่อไปเลยก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานปากที่ขอเลื่อนนัด จะเห็นว่าวิธีการนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องนั้นทำให้รู้กำหนดวันแน่นอน พยานคนไหนต้องมาสืบพยานในชั้นศาลวันที่เท่าไร และมีความแน่นอนในการฟังคำพิพากษาคดีหากการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ตรงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

“ถ้าพยานปากสำคัญมาไม่ได้ศาลสามารถออกหมายจับได้เลย คือมันทำให้เห็นว่า ศาลมีความจริงจังเพราะมันเป็นสิทธิของจำเลยที่ถูกคุมขังในกรณีที่ไม่สามารถประกันตัวได้ มันมีกฎหมายที่ระบุไว้ว่า พยานมีหน้าที่มาตามนัด แล้วถ้าไม่มาก็มีโทษ”

แล้วถ้าเป็นการพิจารณาคดีของศาลทหารล่ะ ก็ในเมื่อเหตุผลหนึ่งที่ประกาศ คสช.ระบุให้พลเรือนขึ้นศาลทหารคือ เพื่อให้มีความรวดเร็วในการพิจารณาคดี แต่ความเป็นจริงจากปากของพยานจำเลยในคดีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารก็คือ การพิจารณาคดีในศาลทหารนั้นไม่ได้ระบุเป็นกฎหมายไว้ให้นัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง แต่ใช้นโยบายเป็น “นัดต่อนัด”  เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานลำดับแรก ศาลจึงนัดสืบพยานลำดับที่สอง

ใช่แล้ว…หากพยานลำดับแรกขอเลื่อนการสืบพยานก็จะไม่มีการกำหนดวันนัดสืบพยานลำดับที่สองนั่นเอง แล้วถ้าคิดว่า นี่ยังช้าไม่พอ ภาวิณียังบอกต่ออีกว่า ในศาลยุติธรรมใช้เวลาทั้งวันในการสืบพยาน แต่สำหรับศาลทหารส่วนใหญ่จะให้สืบพยานเพียงครึ่งวันเท่านั้น ถ้าเป็นศาลยุติธรรมส่วนใหญ่ครึ่งวันจะสามารถสืบพยานได้ถึงสามคน ดังนั้นในการพิจารณาคดีของศาลทหาร จากที่ล่าช้าอยู่แล้ว หากในครึ่งวันนั้นไม่สามารถสืบพยานเสร็จได้ก็ต้องมากำหนดวันนัดสืบพยานคนเดิมต่อ แล้วกำหนดวันนัดสืบพยานส่วนใหญ่เกินหนึ่งเดือนแทบทั้งสิ้น

15109583_1166057626762588_5766094158026974405_n

“หลัง ๆ มาทนายก็แถลงต่อศาลว่า นัดทีละปากมันช้าไป ขอนัดล่วงหน้าแบบต่อเนื่องได้ไหม ศาลทหารก็เลยให้นัดเดือนละสองครั้ง แต่ทีนี้ปัญหาความล่าช้ามันก็ไม่ได้แก้ เพราะถ้าพยานคนไหนไม่มาตามนัด ในวันนั้นก็จะไม่มีการสืบพยานเลย อย่างศาลยุติธรรมจะนัดพยานมาวันละสี่ถึงห้าคน ถ้าพยานปากไหนไม่มาก็จะเลื่อนพยานปากต่อไปมาสืบแทน  แต่ของศาลทหารจะนัดสืบพยานวันละปากต่อครึ่งวันด้วยนะ ไม่ใช่ทั้งวัน ถ้าวันไหนพยานไม่มา ศาลก็จะเลื่อนไป ทนายและจำเลยที่มากันก็กลับบ้านมือเปล่าเลย” ภาวิณีเล่าในเชิงตัดพ้อเล็ก ๆ

แล้วผลของการนัดพิจารณาคดีแบบนัดต่อนัดของศาลทหารส่งผลต่อจำเลย…โดยเฉพาะจำเลยที่ประกันตัวไม่ได้และถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีจะเป็นอย่างไรนั้น ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เศร้าลงเล็กน้อยว่า ความล่าช้าในการพิจารณาคดีทำให้จำเลยต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานและไม่มีวันรู้ว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีเมื่อไร จะถูกพิพากษาวันไหน

“ไม่รู้ว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ไหมนั้นแย่อยู่แล้ว แต่ไม่รู้วันพิพากษาว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ไหมนั้นแย่กว่า”  เมื่อได้ฟังประโยคนี้แล้วราวกับ การทำข้อสอบที่ไม่รู้ผลว่าจะประกาศผลสอบเมื่อไร แต่เรื่องนี้หนักกว่าที่ยกตัวอย่างมากนักเมื่อฟังจากที่ภาวิณีให้สัมภาษณ์ นั่นก็เพราะหากจำเลยคนไหนไม่รับสารภาพแต่ต่อสู้คดีและประกันตัวไม่ได้ เขาก็จะไม่รู้วันที่เสร็จสิ้นคดี ก็จะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีไปเรื่อย ๆ แต่หากว่ารับสารภาพก็ยังได้ลดโทษ ได้อภัยโทษ ทำให้พ้นการคุมขังเร็วกว่าสู้คดีเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงมีหลายคนที่ภายหลังกลับรับสารภาพเพราะเขายังได้รู้ว่า จะพ้นโทษออกจากคุกเมื่อไร

ภาวิณีพูดเสร็จก็ทำให้นึกถึงความรู้สึกที่ว่า หากเราต้องรับผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำผิดเพื่ออะไรบางอย่าง เราจะรู้สึกอย่างไร ราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นคือการบีบจำเลยให้ต้องรับสารภาพอย่างไรชอบกล มันก็ตลกเหมือนกันที่หากเรารับสารภาพเราก็ยังมีความหวังที่จะออกจากคุก แต่หากเลือกต่อสู้คดีมันกลับไม่มีความหวังเลยว่าจะออกจากคุกเมื่อไร

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่เข้าใจว่า การนัดต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรม “อานนท์ นำภา” ทนายความและนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจะมาให้ข้อมูลและยกตัวอย่างคดีที่อาจทำให้ตระหนักถึงวิธีปฎิบัติและการทำงานของศาลทหารที่ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในด้านลบอย่างร้ายแรง

15240125_1166049486763402_1748494490_n

“สมมติว่าเป็นคดีลักทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าเป็นศาลยุติธรรมมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะพิจารณากัน 3 ปี แต่นี่เป็นศาลทหาร ถ้าพิจารณาตัดสินเลย โอกาสที่จะจำคุกเกิน 3 ปี มันน้อยมากเพราะมันเป็นศาลทหาร แล้วคดีศาลทหารมันพิจารณาช้ามาก ๆ  จำเลยจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีพอดีกับอัตราโทษอย่างคดีของสิรภพนั่นเอง

(สำหรับใครที่อยากทราบรายละเอียดของคดีสิรภพสามารถอ่านได้ที่นี่และที่นี่)

สิรภพถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1  กรกฎาคม 2557 ถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 และศาลทหารกำหนดวันนัดสืบพยานโจกท์ลำดับแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 แล้วเมื่อถึงวันนัดสืบพยาน อัยการทหารก็แจ้งต่อศาลว่า พยานติดภารกิจไม่สามารถมาสืบพยานได้ ศาลจึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปเป็นวันที่ 22 มกราคม 2558 นับจากนัดแรกที่นัดสืบพยานคนนี้เป็นเวลาถึง 6 เดือน!!! แล้วเมื่อพิจารณาวันที่สืบพยานลำดับแรกเสร็จสิ้นก็คือวันที่  4 พฤศจิกายน 2558 รวมระยะเวลาในการนัดแล้วสืบพยานคนนี้เสร็จสิ้นทั้งหมด 1 ปีเต็ม ๆ ใช่แล้ว นี่เป็นเพียงแค่พยานโจทก์ลำดับแรกเท่านั้นและพยานโจทก์คนนี้คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ตามข่าวการเมืองอีกด้วย

สิรภพถูกขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เกิน 2 ปี แล้ว ทั้ง ๆ ที่อัตราโทษสูงสุดคือ 2  ปี แต่ในคดี          สิรภพนั้นยังมีหมายคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอีกคดีคือ ความผิดตาม ม.112 แต่ปัญหาก็คือหมายขังระหว่างฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ต้องถูกยกเลิกไป แล้วคงไว้แต่หมายขังคดี ม.112 แต่ตอนนี้มันยังมีหมายขังทั้ง 2 คดี

15209077_1166043490097335_911546079_n

“ศาลยุติธรรมใช้ระบบพิจารณาต่อเนื่อง สมมติผมนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ ซี่งอาจจะสืบต่ออีก 7-8 ปาก ศาลยุติธรรมจะนัดสองวันเสร็จ หรืออาจจะอีก 2 เดือนมาสืบกันต่อแต่การสืบพยานก็จะเสร็จในสองเดือนนั้น แต่ถ้าเป็นศาลทหารก็ สมมติสืบพยาน 8 ปาก ก็คือ 8 เดือนเสร็จ นี่ยังไม่รวมว่าอาจต้องมีเลื่อน แล้วศาลยุติธรรมจะเคร่งครัดในเรื่องการเลื่อน ในบางคดีจำเลยจะถูกขังก็จะเสียสิทธิ โดนขังฟรีหากเป็นผู้บริสุทธิ์ เราก็เลยต้องรีบ อย่างบางกรณี พยาน 40 ปาก ก็คือ 10 นัด สองอาทิตย์ก็จบแล้ว แต่ศาลทหารไม่ใช่ถ้าเป็นศาลทหารน่าจะประมาณ 40 เดือนจบก็ราว ๆ 3 ปี เพราะเดือนหนึ่งสืบพยานได้ปากหนึ่ง แต่ถ้าเป็นศาลยุติธรรม 3 เดือนก็เสร็จแล้ว” ทนายอานนท์กล่าวอย่างมีน้ำเสียงแข็งกร้าว

แล้วถ้าทั้งหมดยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นด้วยแสงไฟที่ส่องไปยัง “ตราชั่งถ่วงด้วยด้ามปืน” ภายใต้เงาอันมืดมิดเพื่อให้เห็นปัญหาของศาลทหารเมื่อต้องมาพิจารณาคดีของพลเรือนแล้ว จะขอยกการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาสักตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นถึง “ปัญหา” การทำงานของศาลทหารแล้วส่งผลต่อสิทธิของจำเลยโดยตรง

ถ้ายึดหลัก “ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา” จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในคดี “พลเรือน  14 คน ระเบิดศาลอาญา” นั้น  วันจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาคือวันที่ 15 มีนาคม 2558 จนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เพื่อพิสูจน์ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงนั้นจะมีนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไป ครั้งที่ 9 คือวันที่ 8 ธันวาคม 2559 นับจากวันจับกุมจนถึงวันที่จะมีการสืบพยานครั้งต่อไปมีระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี 8 เดือน กับอีก 7 วัน แล้วถ้านับเฉพาะระยะเวลาการสืบพยานอย่างเดียว วันที่สืบพยานครั้งแรกคือวันที่ 28 มิ.ย. 2559 จนถึงวันนัดสืบพยานครั้งต่อไป มีระยะห่างทั้งหมด  6 เดือน 9 วัน

แล้วระยะเวลานานถึงขนาดนี้ สืบพยานเสร็จไปแล้วกี่คนน่ะหรือ … 2 คน สืบพยานเสร็จไปแล้ว 2 คน เท่านั้น จากรายชื่อพยานของอัยการฝ่ายโจทก์ทั้งหมดโดยประมาณอีก 90 คน แล้วถ้าใช้หลักคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณระยะเวลาคร่าวๆ สำหรับการสืบพยานโจทก์ 6 เดือนสืบพยาน ได้ 2 คน ถ้ามีพยาน 90 คนก็จะใช้ระยะเวลาสำหรับการสืบพยานโจทก์ประมาณ 30 เดือน โดยประมาณ นี่ยังไม่รวมขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากในกระบวนการยุติธรรม และยังไม่รวม “พยานขออนุญาตเลื่อน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะพยานย่อมได้รับหมายเรียกจากศาลแล้วแต่การที่พยานเลื่อนการสืบพยานกำลังจะเป็นเรื่องปกติในศาลแห่งนี้

แน่นอนว่า หากย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสองแล้ว หากคดีเหล่านี้กลับมาพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรม ใช้กระบวนการสืบพยานแบบต่อเนื่อง คดีเหล่านี้คงใช้ระยะเวลาในการสืบพยานน้อยกว่านี้มาก

แล้วปัญหาระยะเวลาการสืบพยานที่ยืดยาวมันส่งผลต่อความยุติธรรมต่อจำเลยในคดีอย่างไรนั้น หากจำเลยได้รับการประกันตัวไม่ต้องอยู่ในคุกก็คงไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน  สามารถทำงาน หาเงินมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่หลาย ๆ คดีในศาลทหาร จำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อประกันตัวไม่ได้ก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีเพื่อให้อัยการพิสูจน์ให้ได้ว่า มีความผิดจริงตามที่มีความเห็นสั่งฟ้อง

อ่านจบถึงตรงนี้แล้วก็ย้อนกลับไปที่คำสัมภาษณ์ของทนายความ

“ไม่รู้ว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ไหมนั้นแย่อยู่แล้ว แต่ไม่รู้วันพิพากษาว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ไหมนั้นแย่กว่า”

อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้ว ก็นึกถึงคำพูดของญาติที่เคยกล่าวให้ฟังขณะไปนั่งฟังการสืบพยานคดีตระเตรียมก่อการร้าย “คดีโอนเงินปาระเบิดศาลอาญา”

“อีกนานเลยนะ กว่าจะนัดสืบพยานครั้งต่อไป น้องชายก็ติดคุกไปเรื่อย ๆ เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า ไม่ยุ่งอีกแล้วการเมือง”

หรือนี่จะเป็นเป้าหมายของศาลทหารกันนะ…

X