ตร.ลุมพินี แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ทนาย-อาจารย์-นศ.” เหตุร่วมม็อบ “12.12 ยกเลิก 112” ที่แยกราชประสงค์

วันนี้ (13 ม.ค. 65) เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ คอรีเยาะ มานุแช ทนายความและนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากกรณีร่วมชุมนุม “12.12 ยกเลิก 112” หรือ ม็อบ #ราษฎรพิพากษามาตรา 112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะราษฎรยกเลิก 112 เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาการใช้มาตรา 112 ที่รุนแรงมากขึ้น เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงรวบรวมรายชื่อของสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 เพื่อเตรียมยื่นต่อรัฐสภาต่อไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นักกิจกรรมและประชาชนรวม 7 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, โชคดี ร่มพฤกษ์ หรือ “อาเล็ก”, รัชนก มหาวรรณ, พริม มณีโชติ, ธนพร วิจันทร์ และโสภณ สุรฤทธิ์ธำรงค์

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้มี พ.ต.ท.ภารดร สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กล่าวหา ตำรวจได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหารวมทั้งหมด 17 คน ซึ่งผู้ต้องหาที่เหลือจะทยอยมารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง 

.

ตร.แจ้ง 3 ข้อหา เหตุร่วมปราศรัยและเสวนาเกี่ยวกับ ม.112 บนเวทีแยกราชประสงค์

เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ทั้งสามคน โดยมีนักสิทธิมนุษยชนที่ทราบข่าวเดินทางมาให้กำลังใจหลายคน

พฤติการณ์ในคดีระบุถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศของนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้บังคับใช้ต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 รวมถึงการประกาศให้เขตพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และออกข้อกําหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งรวมถึงข้อห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน และห้ามกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ดังกล่าว

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี ได้รับแจ้งข้อมูลว่าจะมีการนัดรวมตัวจัดกิจกรรมของกลุ่มราษฎร มีเวทีปราศรัยเพื่อรณรงค์และขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และตั้งโต๊ะล่ารายชื่อจากประชาชนเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 รายชื่อ และเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันทุกฉบับ อันเป็นเงื่อนไขให้คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยต้องถูกคุมขังในเรือนจํา ที่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

ในวันดังกล่าว มีการปิดการจราจรเพื่อตั้งเวทีปราศรัย บริเวณถนนราชดําริ, ตั้งเต้นท์ลงชื่อยกเลิก 112, เล่นดนตรี, อ่านบทกวี, แถลงการณ์ยกเลิกมาตรา 112, เสวนาและปราศรัยเกี่ยวกับคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้มาตรา 112 

พนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนมีพฤติการณ์กระทําความผิดแตกต่างกัน โดยศิวัญชลี ถูกระบุว่าร่วมอ่านบทกวีในกิจกรรม ส่วนคอรีเยาะและอุเชนทร์ ได้ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในเวทีเสวนาวิชาการ #ราษฎรพิพากษามาตรา112 

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร

ด้านผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ก่อนจะปล่อยตัวทั้งหมดไป โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ในส่วนของคอรีเยาะ ซึ่งเป็นทนายความและนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า ระบุว่าตนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในฐานะแขกรับเชิญ ไม่ได้โพสต์เชิญชวนให้ผู้ใดเข้าร่วมกิจกรรม มีการป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงยังได้รับวัคซีน 3 เข็ม ตามนโยบายการควบคุมโรคระบาดของรัฐแล้ว ทั้งบริเวณแยกราชประสงค์เป็นพื้นที่สาธารณะที่อากาศถ่ายเท 

คอรีเยาะตั้งข้อสังเกตว่าการแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (SLAPP) หรือที่เรียกกันว่า“การฟ้องกลั่นแกล้ง” หรือ “การฟ้องปิดปาก” แม้จะอ้างว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่หากเป็นการใช้สิทธิที่มีความมุ่งหมายหรือเจตนาให้บุคคลหรือประชาชนได้รับความเดือนร้อน เสียหายโดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกล่าวหาบุคคลหรือประชาชน การใช้กฎหมายนั้นก็เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลหรือประชาชนได้

X