อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีชุมนุมปี 2564 ที่ถูกกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 3 คดีรวด เห็นว่าไม่ได้ชุมนุมแออัด ไม่เสี่ยงโรค

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงปทุมวัน ในคดีชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 จำนวน 3 คดี ซึ่งล้วนถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ คดีทำกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564, คดีชุมนุม #ม็อบ4กันยา2564 #ถอนรากระบอบปรสิต เดินขบวนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ไปยังแยกราชประสงค์ และคดีชุมนุม #ม็อบ12ธันวา2564 #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ โดยทั้งหมดเห็นว่าการชุมนุมไม่ถึงขนาดแออัด เสี่ยงต่อโรค ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย

.

ไม่ฟ้องคดีแห่เทียนไล่ประยุทธ์ ที่สวนลุมฯ เห็นว่าผู้ชุมนุมมีไม่มาก เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากาก ยังไม่ถึงขนาดแออัดเสี่ยงโรค

สำหรับคดีแรก คดีทำกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 10 คน นำโดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

คดีนี้มี พ.ต.ท.ปรัชญา บุญยืน และ พ.ต.ท.ธนวัฒน์ กมลธรรม เป็นผู้กล่าวหา นักกิจกรรมทั้ง 10 คน ไว้ที่ สน.ลุมพินี ทั้งหมดทยอยเข้ารับทราบข้อหาในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ทั้งกรณีของไผ่ ตำรวจยังเป็นผู้ไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างเขาไม่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่นอีกด้วย

ก่อนตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2566 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดมาถึง สน.ลุมพินี

คำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยสรุปได้ไล่เรียงเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 เริ่มตั้งแต่มีนักกิจกรรมประมาณ 30 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ร้านเซเว่นบนถนนสีลม ก่อนพากันเดินเท้าไปยังสวนลุมพินี และมีการรวมตัวกันกล่าวปราศรัย เล่นดนตรี กันบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สีลม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน และมีทางผู้กำกับการ สน.ลุมพินี ไปประกาศว่ากิจกรรมเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 24), ประกาศกรุงเทพมหานคร และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ 

อัยการเห็นว่า ผู้กล่าวหาทั้งสองกับพวกไม่ได้ให้การยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสิบเป็นผู้ก่อและริเริ่มทำให้มีการชุมนุมในวันเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น แม้ผู้ต้องหาที่ 1 (ไผ่ จตุภัทร์) จะเชิญชวนให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุก็ตาม แต่เพียงการนัดหมายหรือเชิญชวน มิใช่การก่อเพื่อริเริ่มให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นแต่ประการใด

อัยการระบุว่าผู้กล่าวหาไม่มีพยานหลักฐานว่า ผู้ต้องหาทั้งสิบหรือคนใดเป็นผู้จัดกิจกรรม หรือสนับสนุนในการจัดเตรียมสถานที่ จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะใช้บรรทุกอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม พฤติการณ์ที่ว่าผู้ต้องหาทั้งสิบสลับกันร่วมกิจกรรมร้องเพลง แสดงดนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพียงช่วงสั้น ๆ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังโดยแน่ชัดว่าทั้งสิบเป็นผู้จัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุ

อีกทั้ง แม้ในวันเกิดเหตุจะเป็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมากกว่า 5 คน ขึ้นไป แต่บริเวณที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นพื้นที่กว้าง เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และจำนวนผู้เข้าร่วมมีไม่มาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ ทำให้มีระยะห่างจากกันได้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ยังสวมหน้ากากอนามัย และยืนเว้นระยะห่างกันตามสมควร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นกิจกรรมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

นอกจากนั้น การชุมนุมไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงไม่เป็นความผิดในเรื่องการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ ด้วย

.

ภาพการชุมนุม #ม็อบ4กันยา2564 (จาก Mob Data Thailand)

.

ไม่ฟ้องคดีชุมนุม #ม็อบ4กันยา64 ชี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งสิบสองเป็นผู้จัด ชุมนุมไม่ถึงกับแออัด สถานการณ์โควิดลดระดับลงแล้ว

คดีที่สอง เป็นคดีจากการชุมนุม #ม็อบ4กันยา2564 ประกาศจัดโดยเพจ “เยาวชนปลดแอก กิจกรรมมีการเดินขบวนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ไปสวนลุมพินี แต่ถูกเจ้าหน้าที่กีดขวางและฝนตกหนัก ทำให้เปลี่ยนไปที่ราชประสงค์แทน โดยการชุมนุมครั้งนี้เป็นการรณรงค์ในประเด็นเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

คดีนี้มี พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา ต่อนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวม 12 คน โดยตำรวจประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ประมาณ 300 คน แต่กล่าวหาว่าทั้ง 12 คน เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่ว่าเป็นการปราศรัย การเตรียมป้ายข้อความแสดงออกทางการเมือง การประชาสัมพันธ์ หรือการชูป้ายแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ คำสั่งลงวันที่ 18 ม.ค. 2567 โดยเริ่มพิจารณาจากคำว่า “ผู้จัดกิจกรรม” นั้นตามข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นไม่ได้นิยามความหมายไว้โดยเฉพาะ จึงต้องตีความตามหลักกฎหมายอาญา คือตีความตามตัวอักษรโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์กฎหมายและตีความโดยเคร่งครัด เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนผู้อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายจะได้รับความเป็นธรรม หากกรณีเป็นที่สงสัยจะต้องตีความเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหา

ดังนั้น ผู้จัดกิจกรรมจึงควรหมายถึง เป็นผู้ก่อหรือริเริ่มทำให้มีกิจกรรมชุมนุมเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นผู้ควบคุมสั่งการ ดำเนินการ กำกับดูแลในการจัดกิจกรรมชุมนุมดังกล่าว แม้ผู้กล่าวหาจะยืนยันว่าพบผู้ต้องหาทั้ง 12 คน เข้าร่วมกิจกรรมบริเวณสถานทูตสวิตฯ, แยกเพลินจิต, แยกราชประสงค์ โดยมีผู้ต้องหารายหนึ่งแจกป้ายข้อความให้ผู้มาร่วม ผู้ต้องหาอีกรายใช้โทรโข่งเชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุม ผู้ต้องหาอีกสามรายถือป้ายข้อความ ผู้ต้องหาอีกหกรายมีการพูดคุยทักทายกับผู้มาร่วมกิจกรรม แต่กลับไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้ง 12 คน หรือคนใดเป็นผู้จัดกิจกรรม พฤติการณ์ที่ผู้กล่าวหาระบุยังไม่เพียงพอรับฟังได้โดยแน่ชัดว่า ผู้ต้องหาทั้งสิบสองเป็นผู้จัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุแต่อย่างใด

อัยการเห็นว่าแม้การชุมนุมในวันเกิดเหตุ จะเป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 25 คนขึ้นไป แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายประกอบรายงานการสืบสวนแล้ว พบว่าที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มวลชนที่เข้าร่วมก็ไม่ได้แน่นเบียดเสียดเต็มพื้นที่ ทำให้มีระยะห่างจากกันได้ สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ใช่สถานที่แออัด ขณะกิจกรรม ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีการยืนเว้นระยะห่างกันตามสมควร และผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วม

ประกอบกับทางฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่าขณะเกิดเหตุ สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ พบว่าช่วงเวลาเกิดเหตุ มียอดผู้ป่วยลดลงตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้รุนแรงขึ้น 

ในส่วนการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ อัยการเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวนอกจากไม่ได้มีสภาพแออัดแล้ว ยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น เป็นการชุมนุมที่สงบ ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดกระทำความผิดฐานดังกล่าวแต่อย่างใด

.

ภาพกิจกรรมเสวนา #ราษฎรพิพากษามาตรา 112 (จาก Mob Data Thailand)

.

ไม่ฟ้องคดีชุมนุม #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ชี้พยานหลักฐานไม่เพียงว่าผู้ต้องหาทั้ง 17 เป็นผู้จัด การชุมนุมไม่แออัด ไม่เสี่ยงโรค

คดีที่สามที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ12ธันวา2564 #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ จัดขึ้นโดยคณะราษฎรยกเลิก 112 เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาการใช้มาตรา 112 ที่รุนแรงมากขึ้น เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงรวบรวมรายชื่อของสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112

คดีนี้มี พ.ต.ท.ภราดร สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กล่าวหา ต่อนักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว รวม 17 คน โดยตำรวจประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 500 คน แม้กิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีการปิดการจราจรบนถนนราชดำริทุกช่องทาง และไม่มีการจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค จึงแจ้งความดำเนินคดี

อัยการพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี คำสั่งลงวันที่ 26 ธ.ค. 2566 โดยพิจารณาในข้อหากีดขวางการจราจร ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทนั้น คดีมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ ทำให้คดีขาดอายุความไปแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป

ส่วนข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการพิจารณาความหมายของ “ผู้จัดกิจกรรม” ในทำนองเดียวกับ #ม็อบ4กันยา2564 ข้างต้น แล้วเห็นว่าผู้ต้องหา 14 คนในคดีนี้ ผู้กล่าวหาระบุว่าได้ขึ้นเวทีปราศรัย เล่นดนตรี ร่วมเสวนา อ่านแถลงการณ์และบทกวี ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 คน เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสิบเจ็ดหรือคนใดเป็นผู้จัดกิจกรรม พฤติการณ์ของผู้ต้องหา 3 คน เพียงเข้าร่วมชุมนุมอย่างเดียว ส่วนอีก 14 คน ก็ทำกิจกรรมเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้แน่ชัดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม

และแม้การชุมนุมจะเป็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมากกว่า 50 คนขึ้นไป แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายในรายงานการสืบสวน พบว่าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่กว้าง เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มวลชนที่เข้าร่วมไม่ได้แน่นเบียดเสียดเต็มพื้นที่ ทำให้มีระยะห่างจากกันได้ สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ใช่สถานที่แออัด ขณะกิจกรรม ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และมีการยืนกระจายตามจุดต่าง ๆ ในระยะห่างกันตามสมควร อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดจากการร่วมชุมนุม การชุมนุมในวันเกิดเหตุจึงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคแต่อย่างใด

ทั้งการชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงใด ๆ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

.

โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 64 คดี ขณะที่ยังมีคดีชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างต่อสู้ในศาล หรือยังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 427 คดี

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X