อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 7 นักกิจกรรมแห่เทียนไล่ประยุทธ์ ชี้กิจกรรมไม่ขนาดเสี่ยงโรค ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้จัด

เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิต ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ 7 นักกิจกรรม ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” หล่อเทียนพรรษาเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า

คดีมี พ.ต.ต.พิชญะ เขียวเปลื้อง เป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, เอกชัย หงส์กังวาน, ชูเกียรติ แสงวงค์, นวพล ต้นงาม, ทรงพล สนธิรักษ์, ปนัดดา ศิริมาศกูล และ ชนาภา สิทธินววิธ โดยทั้งหมดเข้ารับทราบข้อหาที่ สน.พญาไท ยกเว้นจตุภัทร์ที่ถูกตำรวจไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำระหว่างถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564

ต่อมาหลังตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ลงวันที่ 24 เม.ย. 2566 โดยสรุปความเห็นได้วินิจฉัยถึงความหมายของ “ผู้จัดการชุมนุม” ว่าแม้จะมีบทนิยามตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แต่ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้นการตีความ “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” จึงต้องตีความตามความหมายอย่างทั่วไป คดีนี้ ผู้กล่าวหากับพวกมิได้ให้การยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดเป็นผู้ก่อหรือริเริ่มทำให้มีการชุมนุมในวันเกิดเหตุ และแม้ผู้ต้องหาที่ 3 (ชูเกียรติ) จะโพสต์เฟซบุ๊กในลักษณะชักชวนให้บุคคลอื่นมาเข้าร่วมชุมนุม แต่การนัดหมายหรือเชิญชวน มิใช่การริเริ่มทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นแต่ประการใด อาจเพียงชักชวนผู้อื่นเพราะสนใจการชุมนุมที่มีบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยที่ผู้เชิญชวนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุม 

ทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดมีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อการ หรือมีส่วนร่วมเป็นผู้ริเริ่มทำให้มีการชุมนุมในวันเกิดเหตุขึ้น ประกอบกับไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันได้ว่า รถแห่เทียน, รถเครื่องขยายเสียง และรถอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม หรือไม่ประการใด พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งเจ็ด จึงยังไม่พอรับฟังได้โดยชัดแจ้งว่า เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือจัดการชุมนุมในวันเกิดเหตุ

ในประเด็นเรื่องการร่วมกันทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค อัยการระบุว่าเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว เห็นว่าบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว มีลักษณะเป็นพื้นที่กว้างเปิดโล่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก และในสภาพที่ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถเว้นระยะห่างจากกันได้ ผู้โดยสารบนรถแห่มิได้โดยสารในลักษณะที่แออัด เบียดเสียด จนไม่สามารถเว้นระยะห่างจากกันได้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยขณะร่วมชุมนุมและเคลื่อนขบวน แม้จะไม่ครบทุกคนก็ตาม กรณีจึงยังไม่พอรับฟังว่า การทำกิจกรรมชุมนุมในวันเกิดเหตุดังกล่าว เป็นการชุมนุม ทำกิจกรรมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ลงนามคำสั่งไม่ฟ้องโดย ปริชญา ศรีสมัย อัยการประจำกอง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 24 พ.ค. 2566 มีคดีจากการชุมนุมซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงปี 2563-65 ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 45 คดี และมีคดีที่อัยการสั่งฟ้อง แต่ศาลยกฟ้องหลังต่อสู้คดีไปแล้วอย่างน้อย 67 คดี

ดูสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X