ไม่ฟ้องอีก: อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 8 ประชาชนร่วมชุมนุมดินแดง ชี้เป็นเพียงบุคคลที่ตำรวจตามดูพฤติกรรม ไม่ปรากฏเสี่ยงแพร่โรค

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มีประชาชนรวม 8 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปสังเกตการณ์ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564

คดีมี พ.ต.ต.ประวิทย์ กองชุมพล เป็นผู้กล่าวหาประชาชนรวม 8 ราย ได้แก่ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง, เอกชัย หงส์กังวาน, ชาญชัย ปุสรังษี, วิษณุ อิ่นแก้ว, นันทพร นาคพิทักษ์, ธีรเมธ, ใบบุญ และ โกสินทร์ ว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณใต้ทางแยกดินแดง โดยผู้กล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานที่เข้าติดตามการชุมนุม และได้จัดทำรายงานเหตุการณ์ พร้อมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง

ทั้งนี้ ลำดับเหตุการณ์ที่ผู้กล่าวหาจัดทำระบุว่า วิษณุและนันทพรได้นำรถไปแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว, ชาญชัยได้ไปแจกจ่ายน้ำดื่มและตั้งเตนท์ปฐมพยาบาล, โกสินทร์ได้ขับรถจักรยานยนต์มาจอด พร้อมชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่มีข้อความว่า “ประยุทธ์ออกไป” ขณะที่ป้าเป้าได้เข้าไปไล่ให้โกสินทร์ไปที่อื่น เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม, วิษณุได้ไปยืนไลฟ์สดสถานการณ์การชุมนุม  ในส่วนเอกชัย, ใบบุญ และธีรเมธ ตำรวจระบุเพียงว่าไปยืนอยู่หน้าแคมป์ก่อสร้างใกล้ที่ชุมนุม

กรณีของวิษณุ และนันทพร ยังได้ถูกออกหมายจับและตำรวจจับกุมในคดีนี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย โดยวิษณุให้การไว้ว่า ตนเป็นสื่อมวลชนอิสระที่มาทำข่าวในวันเกิดเหตุเท่านั้น พร้อมทั้งยื่นสำเนาบัตรสื่อมวลชนและหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่ประกอบด้วย

.

ล่าสุดพนักงานอัยการศาลแขวงพระเหนือได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ส่งถึงผู้กำกับการ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 โดยไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดคน

คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการระบุว่า ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เป็นการห้ามบุคคลใดจัดให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้จะต้องเป็นกรณีที่มีผู้จัดให้มีการทำกิจกรรมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ แต่คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งแปดเพียงแค่มาปรากฏตัวในที่ชุมนุม โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหารายใดเป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุม ไม่ปรากฏข้อเรียกร้องในการชุมนุม ไม่มีเวทีปราศรัย และไม่มีบุคคลปราศรัย

ผู้ต้องหาทั้งแปดเป็นเพียงบุคคลที่น่าสนใจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตามดูพฤติกรรมที่ปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น ส่วนรถยนต์ที่ผู้ต้องหา 3 ราย นำอาหารและน้ำเข้ามาแจกให้ผู้ชุมนุมนั้น เป็นเพียงการช่วยเหลือเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับเป็นการแสดงว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด 

และยังปรากฏภาพถ่ายผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากาก และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้ปิดทึบ ประกอบกับผู้ร่วมชุมนุมก็มีจำนวนไม่มาก ยืนกันมีระยะห่าง ไม่เบียดเสียดแน่นใกล้ชิด ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งแปดสร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างไร หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคอย่างไรบ้าง 

ส่วนที่มีผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กมากั้นปิดถนนและมีการวุ่นวายจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ไม่ปรากฏว่าเกิดจากผู้ชุมนุมรายใด หลังจากนั้นปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า ผู้ต้องหาที่ 4 (นันทพร) นำรถยนต์มาจอดช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บที่ตกจากที่สูง ก็เป็นการช่วยเหลือตามปกติวิสัยที่บุคคลจะช่วยเหลือกันได้ ถือว่าเป็นเหตุสมควรและไม่ได้มีเจตนาออกนอกเคหสถานในเวลาที่ต้องห้ามโดยพลการ

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้เพียงว่าผู้ต้องหาทั้งแปดเข้าไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้จัดหรือร่วมชุมนุมดังกล่าว ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการแสดงความไม่พอใจรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชุมนุมเพื่อแพร่เชื้อโรค และไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากเป็นสถานที่โล่ง และผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนมาก

สำหรับพยานปากนักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตดินแดนนั้น ในวันเวลาเกิดเหตุ พยานได้กลับบ้าน และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด จึงไม่อาจยืนยันว่าการชุมนุมที่เกิดเหตุนั้นไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่มีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นรินทร์ นันทิพานิชย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2

.

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 5 ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบริเวณดินแดง ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว ขณะที่ยังคงมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ไปสังเกตการณ์หรืออยู่ร่วมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกมากกว่า 40 คดี โดยมีคดีในลักษณะเดียวกันอย่างน้อย 1 คดี ที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือไปแล้ว 

ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 18 คดี 

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X