สั่งไม่ฟ้องคดี “ชาญชัย-ธีรเมธ” สังเกตการณ์ชุมนุมดินแดงอีก อัยการชี้ไปตั้งเต็นท์พยาบาล เป็นกิจกรรมได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มี ชาญชัย ปุสรังษี อดีตการ์ดเสื้อแดงวัย 55 ปี และธีรเมธ หนุ่มวัย 18 ปี ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการชุมนุมของ #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 ทำให้คดีสิ้นสุดลง

คดีนี้ทั้งสองคนถูก พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ฝ่ายสืบสวนของ สน.ดินแดง กล่าวหาว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันเวลาดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80 คน อันเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีถึงผู้กำกับการ สน.ดินแดง ลงวันที่ 4 ส.ค. 2565 ระบุว่า จากการให้การของผู้กล่าวหาและพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างให้การยืนยันว่าได้รับมอบหมายให้ติดตามสถานการณ์ชุมนุมในพื้นที่รับผิดชอบ ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้กล่าวหากับพวกได้ออกสืบสวนและติดตามเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณทางแยกใต้ทางด่วนดินแดง แนวถนนดินแดง-ถนนวิภาวดีรังสิต-ถนนราชปรารภ ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามารวมตัว จำนวนประมาณ 80 คน

จนเวลาประมาณ 18.40 น. ได้ตรวจพบชาญชัยอยู่บริเวณเต็นท์ปฐมพยาบาลทางเท้าหน้าแคมป์ก่อสร้าง เวลา 21.04 น. ชาญชัยเก็บเต็นท์พยาบาลและเก็บสิ่งของเพื่อเดินทางกลับ ดังนี้ ผู้ต้องหาที่ 1 เพียงเข้าไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นยืนยันว่าผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุมดังกล่าว

สำหรับธีรเมธ ผู้กล่าวหากับพวก อ้างว่าพบผู้ต้องหาเวลา 20.37 น. และ 21.07 น. บริเวณข้างสวนหย่อมเกาะกลางถนนใกล้แยกใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานพบว่า ภาพที่อ้างว่าเป็นผู้ต้องหาที่ 2 นั้น เป็นภาพที่ถ่ายในระยะไกล ไม่ชัดเจน ไม่เห็นหน้า จึงไม่อาจยืนยันตัวบุคคลได้ชัดเจน โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวคือผู้ต้องหาที่ 2 จริง และจากภาพถ่าย ก็ยืนยันได้เพียงว่าบุคคลตามภาพเพียงเข้าไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุมดังกล่าว

การชุมนุมดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชุมนุมเพื่อแพร่เชื้อโรค และไม่มีพฤติกรรมที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่โรค เนื่องจากเป็นสถานที่โล่งและผู้ชุมนุมส่วนหน้ากากอนามัยเป็นส่วนมาก

อีกทั้งการที่ชาญชัยอยู่บริเวณเต็นท์พยาบาลและมีการช่วยเหลือเก็บเต็นท์เมื่อการชุมนุมเลิก แสดงว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไปจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ข้อ 5

สำหรับพยานซึ่งเป็นนักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการนั้น ตามวันเวลาเกิดเหตุก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการชุมนุมที่เกิดเหตุนั้น ไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่ และไม่อาจยืนยันได้ว่าการชุมนุมดังกล่าว มีผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 เป็นผู้จัดกิจกรรมรวมกลุ่ม

พยานหลักฐานในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา คดีจึงมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นายนรินทร์ นันทิพานิชย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2

.

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 6 ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบริเวณดินแดง ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว โดยทั้งชาญชัยและธีรเมธยังคงมีคดีที่ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมที่ดินแดง อีกคนละ 22 คดี และ 17 คดี ตามลำดับ เนื่องจากตำรวจ สน.ดินแดง มีการไล่แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่พบเห็นและจับตาในการชุมนุม ในแต่ละวันระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 โดยแยกคดีไปตามวันเกิดเหตุ

ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 20 คดี 

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X