เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มี กตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ “ป่าน ทะลุฟ้า” และ ธีรเมธ (สงวนนามสกุล) หนุ่มไร้บ้านวัย 18 ปี ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปสังเกตการณ์ในการชุมนุมของ #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564
หลัง ตำรวจ สน.ดินแดง ได้ไล่แจ้งข้อหาผู้เข้าร่วม ผู้สังเกตการณ์ สื่ออิสระ ผู้นำน้ำดื่มไปแจกจ่าย หรือผู้ช่วยปฐมพยาบาล ในการชุมนุมบริเวณดินแดงในแต่ละวันระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ” โดยแยกคดีไปตามแต่วันเกิดเหตุ
กรณีของกตัญญู ถูกแจ้งข้อหาเฉพาะกรณีที่ดินแดนนี้ รวม 7 คดี ส่วนธีรเมธ ถูกแจ้งข้อหารวมถึง 21 คดี จากการไปอยู่ในการชุมนุมแต่ละวันในช่วงดังกล่าว
>> ตร.ดินแดงแจ้งข้อหา “ธีรเมธ” คนไร้บ้าน กรณีชุมนุมทะลุแก๊ซอีก 13 คดีรวด รวมถูกกล่าวหาแล้ว 21 คดี
.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 พนักงานอัยการศาลแขวงพระเหนือได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ในคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่ทั้งสองคนถูก พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ฝ่ายสืบสวนของ สน.ดินแดง กล่าวหาว่าร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เป็นการห้ามบุคคลใดจัดให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้จะต้องเป็นกรณีที่มีผู้จัดให้มีการทำกิจกรรมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ แต่คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งสองแค่มาปรากฏตัวในที่ชุมนุม โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหารายใดเป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุม ไม่ปรากฏข้อเรียกร้องในการชุมนุม ไม่มีเวทีปราศรัย และไม่มีบุคคลปราศรัย
ผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเพียงบุคคลที่น่าสนใจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดูพฤติกรรมที่ปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น และยังปรากฏภาพถ่ายผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากาก และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้ปิดทึบ ประกอบกับผู้ร่วมชุมนุมก็มีจำนวนไม่มาก ยืนกันมีระยะห่าง ไม่เบียดเสียดแน่นใกล้ชิด รายละเอียดปรากฏตามรายงานสถานการณ์การชุมนุม
จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้เพียงว่าผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้จัดหรือร่วมชุมนุมดังกล่าว ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการแสดงความไม่พอใจรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชุมนุมเพื่อแพร่เชื้อโรค และไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากเป็นสถานที่โล่ง และผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนมาก
สำหรับพยานปากนักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตดินแดนนั้น ในวันเวลาเกิดเหตุ พยานได้กลับบ้าน และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด จึงไม่อาจยืนยันว่าการชุมนุมที่เกิดเหตุนั้นไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่มีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นายนรินทร์ นันทิพานิชย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2
.
คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 3 ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม “ทะลุแก๊ส” บริเวณดินแดง ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หลังจากก่อนหน้านี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของชาญชัย-เอกชัย จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 และคดีของชาญชัย-ธีรเมธ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 (อยู่ระหว่างรอคัดถ่ายคำสั่งไม่ฟ้องคดี) ไปแล้ว
แต่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังคงมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ไปสังเกตการณ์หรืออยู่ร่วมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกมากกว่า 40 คดี โดยนับเฉพาะกรณีที่มีการออกหมายเรียกติดตามมาในภายหลัง ไม่รวมคดีจากการจับกุมผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นรายวันในช่วงดังกล่าว
ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 13 คดี (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)
ทั้งนี้ ป่าน ทะลุฟ้า ยังถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา
.