อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีชาญชัย-เอกชัย ไปม็อบดินแดง 23 สิงหา 64 ชี้ไม่เสี่ยงต่อโรค แต่ทั้งคู่ยังเหลือคดีอีกนับสิบ

16 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มี ชาญชัย ปุสรังษี และเอกชัย หงส์กังวาน ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปสังเกตการณ์ในการชุมนุมของ #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ ตำรวจ สน.ดินแดง ได้ไล่แจ้งข้อหาผู้เข้าร่วม ผู้สังเกตการณ์ สื่ออิสระ ผู้นำน้ำดื่มไปแจกจ่าย หรือผู้ช่วยปฐมพยาบาล ในการชุมนุมบริเวณดินแดงในแต่ละวันระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ” โดยแยกคดีไปตามแต่วันเกิดเหตุ

กรณีของชาญชัย ปุสรังษี อดีตการ์ดเสื้อแดงวัย 55 ปี ถูกแจ้งข้อหาคนเดียวถึง 26 คดี ส่วนกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม ถูกแจ้งข้อหา 11 คดี

>> ตร.แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 12 คดีรวด “ชาญชัย” อดีตการ์ดเสื้อแดง หลังกล่าวหาว่าเข้าร่วมม็อบที่ดินแดงตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย.

>> ตร.ดินแดงไล่แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร่วมม็อบทะลุแก๊ซรายวัน บางรายโดนคนเดียว 26 คดี

.

ล่าสุดในคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 พนักงานอัยการศาลแขวงพระเหนือได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ทำให้คดีสิ้นสุดแล้ว โดยนับเป็นคดีแรกในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงดินแดงที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

คดีนี้มี พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ฝ่ายสืบสวนของ สน.ดินแดง เป็นผู้กล่าวหา โดยข้อกล่าวหาระบุเพียงว่าพบเห็นทั้งชาญชัยและเอกชัยอยู่ในที่เกิดเหตุระหว่างการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน อันเป็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จึงมาแจ้งความร้องทุกข์

คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า แม้คดีมีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งสองปรากฏตัวอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่คดีไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ  “เยาวชนทะลุแก๊ส” ที่เชิญชวนให้มีการรวมกลุ่มชุมนุม และไม่มีพยานยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองเป็นแกนนำหรือเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้ ทั้งจุดประสงค์ของการชุมนุมมุ่งเน้นในทางการเมือง มิได้มีเจตนาเพื่อแพร่โรคหรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เนื่องจากสถานที่นัดหมายชุมนุมที่เกิดเหตุ เป็นบริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง ซึ่งเป็นสถานที่โปร่งโล่งแจ้ง ไม่ใช่สถานที่แออัดที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ปรากฏตามภาพถ่ายในสำนวนว่ามีการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายและป้องกันการติดต่อของเชื้อโรค

แม้คดีนี้มีนักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ จะให้ความเห็นว่า เป็นการทำกิจกรรมที่มีความแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่างตามสมควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้ขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าวก่อนก็ตาม แต่นักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการชุมนุมรวมกลุ่มในที่เกิดเหตุนั้น ไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่ พยานหลักฐานในชั้นนี้ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นายนรินทร์ นันทิพานิชย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2

แต่แม้อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ทั้งชาญชัยและเอกชัยยังคงมีคดีที่ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมที่ดินแดงอยู่ในชั้นสอบสวน  อีกคนละ 25 คดี และ 10 คดี ตามลำดับ จึงยังต้องจับตาว่าแนวทางคำสั่งของอัยการในคดีลักษณะนี้ จะส่งผลถึงคดีอื่นๆ หรือไม่อย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ เอกชัยยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าสู่วันที่ 60 แล้ว หลังจากไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกา ระหว่างต่อสู้คดีโพสต์เล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4)

.

อ่านสรุปคดีทางการเมืองทั้งหมดของเอกชัย

สรุป 30 คดีทางการเมืองของ “เอกชัย หงส์กังวาน” ผู้ถูกจองจำในเรือนจำครั้งที่ 4

และดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X