สรุป 30 คดีทางการเมืองของ “เอกชัย หงส์กังวาน” ผู้ถูกจองจำในเรือนจำครั้งที่ 4

หลังเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก เอกชัย หงส์กังวาน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ที่เขาโพสต์ข้อความเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ทำให้เอกชัยต้องถูกบังคับกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 4 ในชีวิตแล้ว

และล่าสุดวันที่ 22 เม.ย. 2565 หลังศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาพิจารณา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเอกชัย โดยเห็นว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี คดียังไม่เห็นสมควรได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา

จากคนเรียนด้านบริหารธุรกิจ มาประกอบอาชีพขายหวยใต้ดิน และได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การสูญเสียการงาน ทำให้เขาผันตัวเองกลายมาเป็นผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมากว่าทศวรรษแล้ว ในวัย 47 ปี เอกชัยเผชิญการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งการถูกดำเนินคดีถึง 30 คดี, ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นครั้งที่ 4, การถูกลอบทำร้ายถึง 6 ครั้ง, การถูกเผารถยนต์ 2 ครั้ง ในช่วงที่เอกชัยเคลื่อนไหวตรวจสอบปัญหาเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเข้มข้น  และยังเคลื่อนไหวติดตามการหายไปของหมุดคณะราษฎร รวมทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกไปคุกคามถึงบ้านนับครั้งไม่ถ้วนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แม้จะเผชิญกับความรุนแรงและแรงเสียดทานอย่างต่อเนื่อง แต่เอกชัยก็ยังคงมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในแบบของตนต่อไป   การเผชิญหน้ากับ “คดีความ” และ “กระบวนการยุติธรรม” กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาไปแล้ว 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกสรุปคดีทางการเมืองของเอกชัย รวม 30 คดีเอาไว้ โดยคดีทั้งหมดนี้เขาเดินหน้าต่อสู้ทุกคดี ชุดคดีเหล่านี้อาจพอให้ภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโชกโชนและไม่หยุดยั้งของเขา ที่ดำเนินตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

.

คดียุคการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จำนวน 1 คดี

1. คดีมาตรา 112 เอกชัยถูกดำเนินคดีนี้ จากการขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC และแจกเอกสารจากวิกิลีกส์ ในการชุมนุมของกลุ่มแดงสยามเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

คดีนี้เขาถูกคุมขังตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก โดยไม่ได้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2556 แต่เขายังต่อสู้คดีไปจนถึงชั้นฎีกา จนวันที่ 9 ต.ค. 2558 ศาลฎีกามีพิพากษาให้เอกชัยต้องโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เขาจึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 หลังถูกจำคุกมาครบกำหนดโทษ

.

.

คดียุค คสช. จำนวน 8 คดี

2-4. คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หลังออกจากเรือนจำ เอกชัยได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในช่วงยุค คสช. โดยเฉพาะการเข้าร่วมชุมนุมกับคนอยากเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2561 ที่เรียกร้องให้ คสช. ในขณะนั้นไม่เลื่อนเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน และไม่สืบทอดอำนาจ ทำให้เขาถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มแกนนำคนอยากเลือกตั้ง รวม 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่หน้าห้างมาบุญครอง (MBK39), คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) และคดีเดินขบวนไปถึงหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62) โดยทั้งหมดมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ในคดีกลุ่มนี้ มีคดี MBK39 ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะที่คดี ARMY57 และ UN62 ยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล ยังไม่สิ้นสุดลง

ในส่วนคดี ARMY57 ระหว่างถูกจับกุม เอกชัยยังถูกตำรวจขอฝากขังในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค. 2561 และต้องติดคุกเป็นระยะเวลา 3 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว

.

5. คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย โดยเป็นการโพสต์เล่าเรื่องเป็นซีรีส์ต่อเนื่องรวม 14 ตอน ในหัวข้อ “ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกของผม” และมีตอนที่โพสต์ช่วงวันที่ 23 เม.ย. 2560 ที่ถูกตำรวจของ บก.ปอท. กล่าวหาว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

การดำเนินคดีนี้เกิดขึ้นหลังการโพสต์ไปนับปี คือล่วงเอาช่วงปี 2561 แล้ว และเกิดขึ้นในบริบทของเอกชัยเคลื่อนไหวตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิด ลงโทษจำคุกเอกชัย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา เป็นที่มาของการถูกคุมขังในปัจจุบัน

.

6. คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 เรื่องไทยแพ้สมรภูมิร่มเกล้า และระบุว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยไม่เคยชนะสงครามแม้แต่ครั้งเดียว คดีนี้มี คสช. มอบอำนาจให้นายทหารฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ไปกล่าวหาเองโดยตรง

แต่ต่อมา พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าการกล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ย่อมอยู่ในวิสัยของประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ และข้อความไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

.

.

7. คดีแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน กรณีแจ้งความเอาผิด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ฐานเป็นกบฏ จากกรณีคำให้สัมภาษณ์ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ แต่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้เป็นผู้เข้ากล่าวหาเอกชัยและเพื่อนกลับ กล่าวหาว่าเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย

คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นข้อความที่แจ้งเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. จริง จึงไม่ใช่การแจ้งความเท็จ  และการที่จำเลยไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะจำเลยทราบข้อเท็จจริงมาเช่นนี้จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอรับฟังได้

.

8. คดีหมิ่นประมาทกองทัพ เหตุเกิดจากเอกชัยเพื่อนได้เดินทางไปที่หน้า บก.ทบ. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 62 เพื่อเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารบกยุติการคุกคามผู้เห็นต่าง-ผู้สมัครรับการเลือกตั้ง และได้กล่าวผ่านไลฟ์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ และวิจารณ์กองทัพว่าไม่เคยรบชนะตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมเรียกร้องไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เช่นเดิม ที่ไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา

คดีนี้ ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพบกตามวิสัยประชาชนทั่วไป ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท

.

ภาพจาก Banrasdr Photo

.

9. คดีไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากกิจกรรมเปิดเพลง “ประเทศกูมี” บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 เมื่อเอกชัยและเพื่อนได้นัดหมายกันไปเปิดเพลงเพื่อคัดค้านการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ของผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

คดีนี้ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับเอกชัยและเพื่อน เป็นเงินคนละ 2,000 บาท ก่อนที่ทั้งคู่จะอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ปรับ 2,000 เช่นกัน

.

คดียุคเยาวชนปลดแอก จำนวน 21 คดี

หลังเริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา เอกชัยยังคงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังถูกตำรวจเพ็งเล็งดำเนินคดี นำไปสู่การถูกกล่าวหาในคดีอีกรวม 21 คดี

10. คดีประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 จากเหตุการณ์ขบวนเสด็จผ่านบริเวณการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า นับได้ว่าเป็นคดีที่รุนแรงที่เอกชัยถูกกล่าวหามากกว่ามาตรา 112 ก่อนหน้านี้เสียอีก และทำให้เขาถูกจำคุกระหว่างถูกฝากขังชั้นสอบสวน ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เป็นระยะเวลา 17 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี

คดีนี้ยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาลในช่วงปลายปีนี้

.

11-19. คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมครั้งต่างๆ ในช่วงปี 2563-64 เอกชัยกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง หากไปปรากฏตัวในการชุมนุม แม้ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ไม่ได้มีบทบาทในการปราศรัย ก็สามารถถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาดำเนินคดีไปด้วย

คดีลักษณะนี้รวมทั้งสิ้น 9 คดี ได้แก่

  • คดีร่วมชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563
  • คดีร่วมชุมนุมครบรอบ 1 ปี เยาวชนปลดแอก วันที่ 18 ก.ค. 2564
  • คดีร่วมกิจกรรมหล่อเทียนพรรษาของกลุ่มทะลุฟ้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2564
  • คดีร่วมคาร์ม็อบ ที่หน้าสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
  • คดีร่วมชุมนุมม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ 2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564
  • คดีร่วมชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช ของกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564
  • คดีร่วมคาร์ม็อบ “ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564
  • คดีร่วมชุมนุม #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564
  • คดีร่วมกิจกรรม “อยู่เป็นเพื่อน ย้ำเตือนความยุติธรรม” เคาท์ดาวน์ปีใหม่ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564

คดีเหล่านี้ ทั้งหมดยังอยู่ในชั้นสอบสวน มีเพียงคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 เท่านั้น ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้เสี่ยงต่อการระบาดของโรค และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.

.

20-30. คดีร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมม็อบดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ในช่วงดังกล่าว เอกชัยได้เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีการปะทะของผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แต่เขาเพียงเข้าไปถ่ายรูปและสังเกตการณ์สถานการณ์

แต่เอกชัยกลับถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง 11 คดี แยกไปตามวันที่พบว่าเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม คดีเหล่านี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

.

จะเห็นได้ว่าแม้เอกชัยจะถูกกล่าวหาดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก แต่หลายคดีมีแนวโน้มที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งคดีจำนวนมากยังไม่สิ้นสุดลง มีเพียงคดีที่ทราบกันดีว่าต่อสู้ได้ยาก อย่างคดีมาตรา 112 ในช่วงยุคก่อนหน้านี้ ที่เอกชัยถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิด

อีกทั้งยังเห็นได้ว่า เอกชัยเลือกจะต่อสู้คดีต่างๆ ทุกคดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน และสู้ไปจนสุดถึงชั้นศาลอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างในคดีมาตรา 112 หรือคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เขาถูกตัดสินจำคุกล่าสุดนี้  แม้ในคดีที่มีโทษรุนแรงที่สุด อย่างคดี “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” เขายังคงเดินทางไปตามนัดเสมอ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

.

X