สั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 11 ประชาชน ถูก คฝ. ปิดล้อมจับกุมที่แฟลตดินแดง ชี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าเข้าร่วมชุมนุมทะลุแก๊ส

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มีประชาชนรวม 11 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนปิดล้อมจับกุมบริเวณแฟลตดินแดง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2564

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการชุมนุมทะลุแก๊ส บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงคืนวันที่ 6 ต.ค. 2564 ได้เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหนึ่งราย ถูกผู้ใช้อาวุธยิงเข้าที่ศีรษะในช่วงกลางดึก ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบริเวณแฟลตดินแดง เพื่อพยายามติดตามหาผู้กระทำผิด  ก่อนมีการจับกุมผู้ชุมนุมและประชาชนที่ผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว ไปยัง สน.ดินแดง และดำเนินคดีรวม 34 ราย โดยมีทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ 18 ราย และกลุ่มเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี รวม 16 ราย โดยตำรวจยังปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกจับกุมพบทนายความในช่วงแรกด้วย

>> #ม็อบ6ตุลา ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ดินแดง 34 คน ตร.ปฏิเสธไม่ให้ทนายพบกว่า 12 ชม. เยาวชน 3 ราย ไม่ได้ประกัน

.

กรณีของกลุ่มผู้ใหญ่ ตำรวจ สน.ดินแดง ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแยกเป็นสองคดี โดยในคดีของประชาชนรวม 11 ราย อายุระหว่าง 18-28 ปี ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 25 คน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยคดีมี พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ฝ่ายสืบสวนของ สน.ดินแดง เป็นผู้กล่าวหา

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าในวันที่ 6 ต.ค. 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมกันบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ถนนดินแดง ใต้แฟลตดินแดง โดยมีการขว้างปาประทัด ระเบิด และลูกแก้ว ใส่เจ้าหน้าที่ ระหว่างตำรวจเข้าปฏิบัติการจับกุม ผู้ชุมนุมได้วิ่งหลบหนีไป ตำรวจจึงใช้กำลังเข้าปิดล้อมไว้ จนถึงเวลา 8.00 น. พบผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ในที่เกิดเหตุ จึงขอทำการตรวจค้น และไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุม 3 คน โดยอ้างว่าได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพในการชุมนุมและใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อนัดหมายชุมนุม

ขณะที่ผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกกล่าวหา ยืนยันว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่ดินแดงแต่อย่างใด อาทิ มีพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) รายหนึ่ง ระบุว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุมใดๆ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาขอตรวจเขม่าดินปืนในขณะจอดรถที่ซอยต้นโพธิ์ในช่วง 7.00 น. โดยไม่พบเขม่าใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ปล่อยตัว และยังมีการดำเนินคดีติดตามมา

.

ต่อมาหลังคดีผ่านไปกว่าครึ่งปี พนักงานอัยการได้มีหนังสือลงวันที่ 31 พ.ค. 2565 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อผู้กำกับการ สน.ดินแดง เนื้อหาคำวินิจฉัยระบุว่า คดีนี้ไม่มีพยานที่เห็นหรือยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 11 ได้เข้าร่วมกับกลุ่มที่เป็นผู้ทำการจัดกิจกรรมชุมนุม หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้กล่าวหากับพวกซึ่งเป็นผู้จับกุมให้การยืนยันเพียงว่า พบเห็นและจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 11 ไว้ในช่วงเวลาและบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุคดีนี้เท่านั้น โดยมิใช่เป็นการจับกุมได้ในขณะที่มีการร่วมชุมนุมในช่วงเวลา 22.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ถึง 04.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม 2564

และจากการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 11 ก็ไม่พบว่าผู้ต้องหาคนใดมีอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในความครอบครอง และไม่ปรากฏภาพถ่ายของผู้ต้องหาทั้ง 11 ว่ามีส่วนร่วมในการขว้างปาประทัด ระเบิด ยิงลูกแก้วหรือของแข็งด้วยหนังสติ๊ก หรืออาวุธอย่างอื่น เข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่มาดูแลควบคุมสถานการณ์ในช่วงเกิดเหตุ

ส่วนภาพพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ก็เป็นภาพที่ถ่ายได้ในระยะไกล ไม่มีความชัดเจนที่จะระบุได้แน่ชัดว่าเป็นภาพผู้ต้องหาคนใดบ้าง ทั้งลักษณะที่ปรากฏในภาพที่มีลักษณะเป็นการเดินไปมาในบริเวณดังกล่าว มิได้แสดงให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นการร่วมชุมนุมกันที่มีจำนวนกันมากกว่า 25 คน

สำหรับโทรศัพท์มือถือที่ผู้กล่าวหากับพวกตรวจยึดจากผู้ต้องหา 3 ราย ที่ผู้กล่าวหาให้การว่า “เจ้าพนักงานผู้จับกุมได้สอบถามผู้ต้องหาทั้ง 3 รับว่าได้ใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวถ่ายภาพในการชุมนุม และใช้ในการติดต่อสื่อสารและนัดหมายมาชุมนุมในที่เกิดเหตุ” ก็ไม่ปรากฏว่ามีการตรวจยึดไว้เป็นของกลาง และไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของโทรศัพท์มือถือทั้งหมดดังกล่าว ว่ามีการใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อนัดหมายมาชุมนุมในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ อย่างไร สามารถนำมาเชื่อมโยงพยานหลักฐานอื่นในคดีให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 11 แต่ละคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร ประกอบกับผู้ต้องหาทั้ง 11 คนให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

.

เท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกี่ยวเนื่องกับการจับกุมในการชุมนุมทะลุแก๊ส ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยก่อนหน้านี้ มีคดีของนักกิจกรรมที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมบริเวณดินแดง และถูกออกตำรวจออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในภายหลัง ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้วจำนวน 3 คดี

ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 17 คดี

>> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X