#ม็อบ6ตุลา ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ดินแดง 34 คน ตร.ปฏิเสธไม่ให้ทนายพบกว่า 12 ชม. เยาวชน 3 ราย ไม่ได้ประกัน

จากกรณีในช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบริเวณแฟลตดินแดง หลังเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหนึ่งราย ถูกยิงเข้าที่ศีรษะในกลางดึกก่อนหน้านั้น

ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 8.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ควบคุมตัวมากกว่า 30 คน อยู่บริเวณแฟลตดินแดง แต่ยังไม่มีการพาตัวไปไหน ต่อมามีรายงานว่าตำรวจพาตัวทั้งหมดไปที่ สน.ดินแดง จนเวลาประมาณ 11.00 น. ทนายความได้ติดตามไปที่สถานีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยในตอนแรกเจ้าหน้าที่อ้างว่าคุมตัวมาสอบถามเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้จะแจ้งข้อกล่าวหา จึงยังไม่ให้ทนายเข้าร่วมกระบวนการซักถาม

เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายความได้พยายามเข้าพบผู้ถูกจับกุมอีกครั้ง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันออกมา ไม่ให้เข้าไปในห้องควบคุม พร้อมกับมีการด่าทนายความด้วยถ้อยคำหยาบคาย และมีการล็อกประตูห้อง ขณะที่ญาติของผู้ถูกจับกุมที่เดินทางมาติดตาม ก็ไม่สามารถเข้าพบผู้ถูกจับกุมได้ ต่อมายังมีการนำเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบวัตถุระเบิดและหน่วยพิสูจน์หลักฐานจำนวนมากมายังสถานีตำรวจ

แม้จนเวลา 13.30 น. เมื่อทนายความแจ้งความจำนงของพบผู้ถูกจับกุมอีกครั้ง แต่รองผู้กำกับ สน.ดินแดง ยังคงปฏิเสธ แจ้งให้รอก่อน ระหว่างนั้นตำรวจได้มีการนำเยาวชน 6 ราย ไปตรวจสอบการจับกุมด้วย ขณะเดียวกันยังมีการนำตัวผู้ใหญ่อีก 7 ราย ไปสั่งฟ้องคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิวที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยทั้งสองกลุ่มนี้ทนายความไม่ได้เข้าร่วมในการสอบสวนแต่อย่างใด กลุ่มที่นำตัวไปฟ้องนี้ ต่อมาทราบว่าให้การรับสารภาพ และศาลเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 2,500 บาท 

นอกจากนั้นทราบว่ายังมีผู้ถูกจับกุม เป็นหญิง 5 ราย ที่ถูกนำตัวเข้าไปสอบสวน ได้รับการปล่อยตัวออกมาตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. โดยไม่ได้ดำเนินคดี ทราบเบื้องต้นว่าตำรวจซักประวัติ เมื่อเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องจึงปล่อยตัว และในช่วงเย็นมีผู้ถูกจับกุมมาอีก 3 คน ถูกปล่อยตัวกลับไป หลังถูกทำประวัติ ซักถามข้อมูล ตรวจเขม่าดินปืน และตรวจดีเอ็นเอ แต่ก็พบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ไล่ให้ผู้สื่อข่าว และทนายความออกจากพื้นที่ภายใน สน.ดินแดง และมีการนำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นทางเข้าออก 

จนเวลาประมาณ 21.30 น. ทนายความได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดงอีกครั้ง และได้รับการแจ้งว่าตำรวจกำลังจะเริ่มทำบันทึกการจับกุมผู้ต้องหา โดยบางส่วนได้เริ่มทำบันทึกไปแล้ว แต่เมื่อทนายแจ้งว่ากำลังจะเดินทางเข้าไปที่สน.ดินแดง ตำรวจกลับแจ้งว่าทำจัดทำบันทึกจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดเสร็จหมดแล้ว  

เมื่อทนายความเดินทางติดตามไปถึง สน. ในเวลาประมาณ 23.00 น. พบว่ามีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ 18 ราย ขณะที่ตำรวจแจ้งว่ามีเยาวชนอีก 16 ราย ถูกนำตัวแยกไปยัง สน.ห้วยขวาง แล้ว โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายทราบก่อนหน้านี้ ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 34 ราย

หากนับตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึง 23.00 น. เป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง ที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ถูกจับกุมได้ ซึ่งขัดต่อสิทธิของผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาในทางกฎหมาย ที่จะสามารถพบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัวได้

.

.

กลุ่มผู้ใหญ่ 18 ราย ดำเนินคดีแยก 2 คดี บางรายไม่ได้ไปชุมนุม เดินไปซื้อหมูปิ้ง ถูกจับ 

สำหรับกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีที่ สน.ดินแดง รวม 18 ราย ถูกแยกเป็นสองคดี

กลุ่มแรก ผู้ต้องหารวม 11 คน อายุระหว่าง 18-28 ปี โดยมีผู้หญิง 1 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 25 คนฯ และเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

บันทึกจับกุมระบุเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมรวม 38 นาย พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่เป็นรายชื่อแนบท้าย  ข้อมูลการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ระบุว่า ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมกันบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ถนนดินแดง ใต้แฟลตดินแดง โดยมีการขว้างปาประทัด ระเบิด และลูกแก้ว ใส่เจ้าหน้าที่ ระหว่างตำรวจเข้าปฏิบัติการจับกุม ผู้ชุมนุมได้วิ่งหลบหนีไป ตำรวจจึงใช้กำลังเข้าปิดล้อมไว้ จนถึง 8.00 น. พบผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ในที่เกิดเหตุ จึงขอทำการตรวจค้น และไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุม 3 คน โดยอ้างว่าได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพในการชุมนุมและใช้ในการติดต่อสื่อสาร เพื่อนัดหมายชุมนุม

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

ในกลุ่มนี้ มีผู้ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) รายหนึ่ง ระบุว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่ดินแดงแต่อย่างใด แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาขอตรวจเขม่าดินปืนในขณะจอดรถที่ซอยต้นโพธิ์ในช่วง 7.00 น. โดยไม่พบเขม่าใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยตัว และยังมีการดำเนินคดีตามมา

กลุ่มที่สอง ผู้ต้องหาชายรวม 7 คน นอกจากถูกกล่าวหาเรื่องฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 25 คนฯ แล้ว ยังถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง เรื่องการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ โดยผู้ร่วมกระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และมีสามรายถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวด้วย

พฤติการณ์การจับกุมระบุคล้ายคลึงกับคดีแรก แต่ระบุว่าผู้ต้องหาทั้งเจ็ด มีส่วนร่วมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดได้ในที่เกิดเหตุ พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาสองราย ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

ขณะที่ในกลุ่มนี้ มีผู้ถูกจับกุมชายวัย 20 ปี ได้รับบาดเจ็บทั้งคางแตก และมีบาดแผลที่ท้องและแขน เขาระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ถีบรถจักรยานยนต์ล้ม พร้อมล็อคตัวกดลงกับพื้น แล้วเหยียบหัว จนคางกระแทกพื้น

ในกลุ่มนี้ ยังมีผู้ต้องหาสองคน ระบุว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด โดยรายหนึ่งเป็นพนักงาน รปภ. ที่พักอาศัยอยู่ในแฟลตดินแดง 1 อยู่แล้ว ขณะที่อีกรายหนึ่ง ระบุว่ามาเยี่ยมเพื่อนที่แฟลตดินแดง แต่กลับถูกจับกุมในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. ขณะกำลังเดินทางไปซื้อหมูปิ้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้ามาขอตรวจดูโทรศัพท์และจับกุม

.

เยาวชน 16 คน ถูกแยกกล่าวหา 5 คดี มีเยาวชนสัญชาติพม่า-หูหนวก ถูกกล่าวหาด้วย

ส่วนกลุ่มเด็กเยาวชน 16 ราย ที่ถูกนำตัวไปที่ สน.ห้วยขวาง พบว่าแยกเป็นกลุ่มเด็กอายุ 13-14 ปี 5 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี 11 คน ในทั้งหมดถูกดำเนินคดีแยกเป็น 5 คดี ได้แก่

1. กลุ่มเด็กเยาวชน 11 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งการฝ่าฝืนเรื่องการชุมนุมฯ และเคอร์ฟิว, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง และข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธ พฤติการณ์ข้อกล่าวหาคล้ายคลึงกับกรณีของคดีกลุ่มผู้ใหญ่กลุ่มที่สอง

2. เยาวชนอายุ 16 ปี ที่มีสัญชาติพม่า และยังเป็นผู้พิการทางหู เจ้าหน้าที่จับกุมโดยอ้างว่าร่วมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และพบว่ามีวัตถุระเบิดในครอบครองด้วย ทำให้นอกจากถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับเยาวชน 11 รายแรกแล้ว ยังถูกแจ้งข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

3. เยาวชนวัย 17 ปี 1 ราย ถูกแจ้งหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งการฝ่าฝืนเรื่องการชุมนุมฯ และเคอร์ฟิว, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง พฤติการณ์ข้อกล่าวหาคล้ายคลึงกับกรณีของคดีกลุ่มผู้ใหญ่กลุ่มที่สอง

4. เยาวชนวัย 15 ปี 2 ราย ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยมี 1 รายถูกแจ้งข้อหาเรื่องมีวัตถุระเบิดในครอบครองด้วย โดยเป็นกรณีที่ทั้งสองคนขับรถจักรยานยนต์ผ่านจุดตรวจของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้า สน.ดินแดง จึงได้ถูกตรวจค้นและจับกุม

5. สุดท้าย เยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมมั่วสุม ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่แจ้งย้อนจากเหตุร่วมกิจกรรมเข้าร่วมชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงในช่วงคืนวันที่ 20 ส.ค. 64 โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้ตรวจยึดรถจักรยานต์ของผู้ชุมนุมไว้ในวันดังกล่าว และเยาวชนรายนี้ได้มาแสดงตัวเป็นเจ้าของรถคันหนึ่ง ทำให้พนักงานสอบสวนจับกุมดำเนินคดี

.

.

กลุ่มผู้ใหญ่ ศาลให้ประกันตัวทั้งหมด ไม่ต้องวางหลักทรัพย์

ในช่วงบ่ายวันที่ 8 ต.ค. 64  ร.ต.อ.พิเชษฐ กัดฟัก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหากลุ่มผู้ใหญ่ทั้ง 18 ราย ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ โดยระบุว่ายังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก ในทั้งสองคดี ต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 

จนเวลา 17.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 18 คน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่หากผิดสัญญาประกันปรับเป็นเงิน 5,000 บาท และกำหนดวันนัดรายงานตัวต่อไปในวันที่ 8 พ.ย. 64 เวลา 9.00 น.

.

กลุ่มเยาวชน ศาลให้ประกันตัว 13 ราย อีก 3 ราย ถูกส่งสถานพินิจฯ ต้องรอผู้ปกครองมาประกันตัว

ส่วนกรณีของเด็กและเยาวชน ได้ถูกนำตัวจากสน.ห้วยขวาง ไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง  โดยทุกคำร้องลงชื่อว่า ร.ต.อ.พิเชษฐ กัดฟัก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เป็นผู้ร้องขอเช่นเดียวกัน ต่อมาศาลเห็นว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และอนุญาตให้ออกหมายควบคุม 

ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา โดยศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหา 13 ราย โดยมีผู้ต้องหาสองรายที่ต้องวางหลักประกันเป็นเงิน ได้แก่ เยาวชนอายุ 15 ปีรายหนึ่ง ที่เคยถูกจับกุมจากการชุมนุมมาครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ ต้องวางหลักประกัน 5,000 บาท และเยาวชนที่ถูกกล่าวหาเรื่องครอบครองระเบิด ต้องวางหลักประกัน 3,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ ที่เหลือไม่ต้องวางหลักประกัน

แต่มีเยาวชน 3 ราย ที่ไม่ได้รับการประกันตัว โดย 2 ราย ไม่มีผู้ปกครองมาศาล ส่วนอีกรายหนึ่งคือเยาวชนสัญชาติพม่า ที่พิการทางหูด้วย ต้องจัดเตรียมเอกสารรับรองต่างๆ มาใหม่ ทำให้ทั้งสามคนต้องถูกส่งตัวไปสถานีพินิจและคุ้มครองเด็ก

ต่อมาในช่วงเย็น ทราบว่ามีผู้ปกครองของเยาวชน 2 ราย เดินทางติดตามมา แต่ไม่สามารถยื่นประกันตัวได้ทันในวันนี้ ทางศาลให้ยื่นประกันตัวในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง

.

X