วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต
.
– เหตุการณ์ที่ตำรวจเรียกให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกแจ้งความไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ทำให้ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหา เช่น สิทธิได้รับการแจ้งว่าจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ สิทธิได้รับการแจ้งว่าคำให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ รวมถึงสิทธิการมีทนายความ
– การหลีกเลี่ยงขั้นตอนปกติในกระบวนการยุติธรรมอาจกระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ต้องหา การถูกเรียกไปสอบปากคำในฐานะพยาน อาจทำให้ง่ายต่อการถูกโน้มน้าวหรือชักจูงให้รับสารภาพ โดยไม่มีทนายความและไม่ทราบถึงสิทธิของตน ทำให้ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม
– ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควรแจ้งข้อหาและสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับสิทธิผู้ต้องหา เพื่อให้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และหากไม่ได้รับสิทธิก็ไม่ควรนำถ้อยคำที่ให้ไว้มาพิจารณาลงโทษ
“คุณมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้”
“คำพูดของคุณอาจถูกใช้เป็นพยานหลักฐานได้”
“คุณมีสิทธิที่จะปรึกษากับทนายความเป็นการเฉพาะตัว และให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้”
“หากไม่มีทนายความ รัฐจะจัดหาทนายความให้”
.
คำพูดที่เรามักคาดหวังว่าจะได้ยินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจเป็นถ้อยคำซ้ำๆ แต่มันถูกสร้างขึ้นมากจากหลักการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในการได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) เป็นสิทธิซึ่งสืบเนื่องมาจากหลักตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทั้งยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้อง “แจ้งสิทธิ” เหล่านี้ให้แก่ผู้ต้องหาทราบ เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีของตนเองได้อย่างเป็นธรรมตั้งแต่แรกเริ่ม ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แจ้งสิทธิเหล่านี้ จะส่งผลทำให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ตำรวจบันทึกไว้ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
.
สถานการณ์เรียกสอบในฐานะ “พยาน” ที่ “ผิดปกติ”
ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ เมื่อมีผู้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐาน จนกระทั่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดอาญาก็จะดำเนินการขอออกหมายจับหรือออกหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อให้มาพบกับพนักงานสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้ต้องมีการ “แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ” เช่น สิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่ให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิการให้ทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมเข้าฟังการสอบสวน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ช่วง พ.ศ. 2563-2564 ตำรวจเริ่มดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
รูปแบบหนึ่งก่อนการดำเนินคดีที่พบ คือมักจะเกิดเหตุการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการเรียกให้บุคคลที่ต้องสงสัย หรือมีผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ ให้ไปที่สถานีตำรวจ อ้างว่า “เพื่อสอบปากคำในฐานะพยาน” โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งกรณีที่มีหมายเรียกพยานและไม่มีหมายเรียกพยาน หรือบางกรณีก็อ้างว่า “เชิญตัว” ไปพูดคุย ทั้งที่เป็นลักษณะการควบคุมตัว และปรากฏว่ากระบวนการดังกล่าว ผู้ถูกเรียกไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างสิทธิที่ผู้ต้องหาพึงมี คือไม่ได้ชี้แจงชัดเจนถึงข้อกล่าวหาที่กำลังถูกสอบปากคำ และสิทธิที่ชัดเจนในกระบวนการสอบปากคำดังกล่าว รวมทั้งบางกรณียังปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าร่วม โดยตำรวจอ้างว่ายังไม่ใช่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา
จากนั้น เมื่อเวลาผ่านไปตำรวจกลับมีการออกหมายเรียกหรือขอออกหมายจับ เพื่อให้ผู้เคยถูกสอบเป็นพยานดังกล่าวไปรับทราบข้อกล่าวหา และดำเนินกระบวนการทางอาญาในฐานะผู้ต้องหาต่อไป โดยที่การให้ปากคำในฐานะพยานในตอนแรก กลับถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีต่อไปด้วย
ส่งผลในลักษณะแปลกประหลาด กลับกลายเป็นว่าผู้ถูกเรียกสอบปากคำในฐานะ “พยาน” ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จำกัดกว่าผู้ถูกเรียกในฐานะ “ผู้ต้องหา” เสียอีก สิ่งเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยิ่ง
.
จากทหารสอบในค่ายทหาร สู่ตำรวจเรียกไปสอบปากคำพยาน
สถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว อาจนับได้ว่าสืบเนื่องมาจากการใช้กระบวนการควบคุมตัวในค่ายทหาร ในยุครัฐประหารของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ซึ่งมีการเรียกตัวหรือควบคุมตัวบุคคลเข้าไปในค่ายทหาร เพื่อสอบสวนได้เป็นระยะเวลา 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้ทนายความ ญาติ หรือบุคคลไว้วางใจเข้าร่วม การสอบสวนที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ยังถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีในภายหลัง ถ้าหากบุคคลนั้นถูกดำเนินคดีตามมา หลังถูกนำตัวออกจากค่ายทหาร
หลังอำนาจในลักษณะดังกล่าวของทหารยุติลง แต่สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองกลับมาเข้มข้นในช่วง พ.ศ. 2563-2564 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้บุคคลที่ถูกแจ้งความหรือบุคคลซึ่งสงสัยว่าเป็น “ผู้กระทำความผิดทางการเมือง” หรือข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปสอบปากคำ “ในฐานะพยาน” โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมาก และต่อมาตำรวจมีการออกหมายเรียกหรือขอออกหมายจับ และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
กรณีตัวอย่างเช่น ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคนที่ สภ.บางแก้ว ส่วนใหญ่พบว่าถูกตำรวจเรียกไปสอบปากคำในฐานะพยานมาก่อนแล้ว หลายคนที่ให้ไปปากคำในตอนแรกคิดว่าเรื่องจะสิ้นสุด และไม่มีอะไร แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่มีการออกหมายเรียกดำเนินคดีตามมา
อาทิ กรณีของ “นคร” ช่างแต่งหน้าในจังหวัดเชียงรายที่เคยได้รับหมายเรียกพยานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 นครได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนและให้การไว้ในฐานะพยาน โดยไม่ทราบว่าเป็นขั้นตอนใด และไม่มีทนายความให้เข้าคำปรึกษา กระทั่งช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 นครได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในข้อหามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ เขาได้ถูกตำรวจฝากขังต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ และถูกขังในเรือนนานถึง 9 วันก่อนได้รับการประกันตัวออกมา
หรือกรณีของธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษา ปวช. อายุ 19 ปี ก็ได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว เพื่อให้ไปสอบปากคำในฐานะพยานประกอบคดีเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 แต่ธีรวัชไม่ได้รับหมายที่ส่งไปที่บ้านต่างจังหวัด เนื่องจากเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาธีรชัยที่บ้านต่างจังหวัด แต่ไม่พบ ตำรวจจึงสอบถามข้อมูลจากย่าของเขา และโทรหาธีรวัชเรียกให้เข้าไปที่สถานีตำรวจ “เพื่อเซ็นเอกสารให้จบคดี” ถ้าหากไม่เข้ามาจะออกหมายจับ เมื่อเขาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพียงลำพัง จึงถูกสอบคำให้การในฐานะผู้ต้องหา โดยไม่มีทนายความและผู้ไว้วางใจอยู่ด้วย และวันต่อมาก็ถูกฝากขังต่อศาล
กรณีล่าสุด ได้แก่ กรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา 3 คน ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรแสนสุข เหตุติดป้ายประท้วงรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์บนระเบียงหอพัก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน โดยอ้างว่าไม่ใช่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา แต่เป็นการสอบถามข้อมูลเท่านั้น จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความ นักศึกษาทั้งสามคนถูกแยกกันสอบสวนคนละห้อง ในขณะเดียวกันยังมีขอตรวจค้นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและขอรหัสผ่านจากนักศึกษา โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากรณีนี้จะนำไปสู่การดำเนินคดีติดตามมาหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่ไม่ได้เผยแพร่ข่าวอีกจำนวนมาก เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การเรียกไปสอบปากคำในฐานะพยาน แต่มักจะมีการใช้คำถามราวกับการสอบคำให้การผู้ต้องหา เช่น เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตำรวจนำมาให้ดูหรือไม่ ได้โพสต์ข้อความตามนั้นหรือไม่ มีผู้ใดที่เกี่ยวข้องบ้าง หรือเหตุใดจึงโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นต้น โดยตำรวจมักอ้างว่าเป็นขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน ผู้ถูกเรียกไปสอบสวนจึงไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย และมักจะไม่ได้รับสิทธิอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิขอพบและปรึกษากับทนายความเป็นการส่วนตัว สิทธิการแจ้งให้ผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวน หรือสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งบางกรณี ตำรวจยังมีการหว่านล้อมในลักษณะว่าไม่ได้มีอะไรมากมาย ให้ปากคำไว้แล้วเรื่องก็จะสิ้นสุดเองอีกด้วย
เมื่อมีการทักท้วง ตำรวจก็มักจะบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา จึงไม่จำเป็นต้องมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนด้วยนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าตำรวจพยายาม “หลีกเลี่ยง” ขั้นตอนกระบวนการตามปกติที่เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่จะต้องแจ้งสิทธิต่างๆ รวมถึงให้สิทธิการมีและปรึกษากับทนายความของผู้ต้องหาก่อนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นสิทธิพื้นฐานเพื่อคุ้มครองผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การสอบปากคำพยานไม่ได้กำหนดสิทธิต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านพยานหลักฐานต่อไปอีก
.
.
ความสำคัญของหลักการ “แจ้งสิทธิ” ผู้ต้องหา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากเป็นหลักประกันว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นวิญญาณของหลักนิติธรรมและพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากสังคมใดไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานอย่างหลักนิติธรรม อาจนำไปสู่การปฏิบัติตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่มีอย่างล้นเกินไม่คำนึงถึงหลักการอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพล หรือซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง
บทบัญญัติตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหามาจากหลักสากล ถูกบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น มาตรา 134 ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาได้ทราบและต้องบอกให้ผู้ต้องหาได้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การ ก็ให้บันทึกไว้
บทบัญญัติมีจุดประสงค์เพื่อรับรองสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้เขาได้รับทราบเสียก่อนว่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาใด เพราะเหตุผลใด อีกทั้งจะต้องทราบว่าตนเองมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาให้ได้รับสิทธิต่อสู้อย่างเป็นธรรม (Fair Trial) บนฐานของหลักศุภนิติกระบวน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจล้นเกินของเจ้าหน้าที่รัฐ การจูงใจให้รับสารภาพ ให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ตลอดจนการซ้อมทรมาน
ดังนั้นจึงมีกลไกทางกฎหมายสำหรับป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจขัดกับสิทธิตามกฎหมายเหล่านี้ อย่างเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83, 84 เกี่ยวกับบทบัญญัติขั้นตอนการจับกุมและรับมอบตัวผู้ถูกจับ กำหนดห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับ ส่วนถ้อยคำอื่นๆ สามารถรับฟังได้ต่อเมื่อมีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมาตรา 134/4 ที่ห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิต่างๆ มาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดบุคคลนั้นไม่ได้
.
ความอันตรายของกระบวนการผิดปกติที่ขัดต่อหลักศุภนิติกระบวน (Due Process of Law)
หลักศุภนิติกระบวน หรือกระบวนการอันถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมาย (Due Process of Law) เป็นหลักที่เกี่ยวพันกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐกระทำกระบวนการใดๆ อันเป็นการลดทอนสิทธิ หรือกระทำการใดๆ ทำให้กระทบกับชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง เป็นหลักที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระทบต่อความยุติธรรมได้
ปัญหาคือกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน ให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจอย่างล้นเกินในการรวบรวมพยานหลักฐานและไม่มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน อันขัดกับหลักนิติธรรมเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกบุคคลไปสอบปากคำในฐานะพยานก่อน โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา แต่กลับไม่ให้สิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหา กล่าวได้ว่าเป็นการขัดต่อหลักศุภนิติกระบวน (Due Process of Law) ส่งผลให้บุคคลผู้ถูกเรียกไปสอบปากคำไม่ได้สิทธิการพบและปรึกษากับทนายความ หรือแม้แต่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบกับทนายความ ไม่มีบุคคลที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวน และไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่คำให้การเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้ในชั้นการพิจารณาคดีต่อไป ทำให้ง่ายต่อการถูกโน้มน้าวหรือกล่าวจูงใจต่างๆ ให้รับสารภาพตั้งแต่ในชั้นสอบปากคำเป็นพยาน
แม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจมักจะอ้างว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่บัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาและเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” แต่ปัญหาคือการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่ได้มีกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ทำให้วิธีการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และไม่ได้ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้กระทำความผิดเป็นพยาน ทำให้เกิดปัญหาในการตีความกระบวนการขั้นตอนในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจมากจนเกินไป กระทั่งกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของผู้ต้องหาที่จะถูกดำเนินคดีติดตามมาอย่างสำคัญ
.
.
การรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ได้แจ้งสิทธิผู้ต้องหา
การใช้วิธีการที่ผิดปกติไปจากกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาโดยทั่วไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและความยุติธรรมของผู้ต้องหา และอาจเป็นการได้พยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการรับฟังพยานหลักฐานในชั้นศาลต่อไปอีกด้วย จะเป็นความอันตรายอย่างยิ่ง หากศาลรับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนเรื่องการห้ามไม่ให้มีการนำถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหามาใช้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความผิดของบุคคลนั้น แต่อย่างไรก็ตามก็เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่รับรอง “กรรมวิธี” ของตำรวจ ในการเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนในฐานะพยานจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และได้รับรองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำการโดยถูกต้องด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถรับฟังบันทึกคำให้การในฐานะพยานเพื่อพิจารณาเอาผิดได้อีกด้วยเพราะเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นเท่านั้น
กล่าวได้ว่าเป็นการวางบรรทัดฐานแนวปฏิบัติทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปสอบปากคำในฐานะพยานก่อน โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งข้อหา แจ้งสิทธิ หรือให้เข้าพบทนายความ อีกทั้งก็ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และยังสามารถนำบันทึกการสอบปากคำในฐานะพยานมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นการพิจารณาคดีของศาลได้อีกด้วย
จากการตีความของศาลและแนวปฏิบัติดังกล่าว น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หลักการห้ามรับฟังคำรับสารภาพหรือถ้อยคำใดๆ ของผู้ต้องหาในปัจจุบันยังถูกจำกัดอยู่เพียงแค่เป็นสิทธิของผู้ถูกจับหรือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเท่านั้น แต่ยังไม่คุ้มครองมาถึงกรณีที่ตำรวจเรียกบุคคลใดไปให้การในฐานะพยานด้วย
.
ข้อเสนอแนะ
แม้ว่าการตีความกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิของผู้ถูกเรียกมาสอบปากคำในฐานะพยาน แต่มักใช้คำถามเสมือนหนึ่งเป็นการถามผู้ต้องหา หากเขาให้ปากคำเป็นผลร้ายเขาก็อาจถูกดำเนินคดีต่อไป ดังนั้นเขาควรได้รับสิทธิอย่างเดียวกันกับสิทธิของผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีทนายความ สิทธิในการทราบว่าคำให้การอาจถูกใช้เป็นพยานหลักฐานได้ หรือสิทธิในการจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ เป็นต้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) ให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และถูกต้องเป็นธรรมตามหลักศุภนิติกระบวน (Due Process of Law) และยิ่งกว่านั้นคำให้การในฐานะพยาน โดยไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหาเหล่านี้ ก็ไม่ควรถูกรับฟังในการพิจารณาของศาลอีกด้วย
เมื่อหลักการสากลต่างๆ ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้เขามีโอกาสต่อสู้คดีและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ดังนั้น สถาบันตุลาการที่เป็นสถาบันหลักในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรให้ความสำคัญถึงหลักการพิจารณาคดีอย่างถูกต้องตามหลักศุภนิติกระบวน เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการต่อสู้คดี โดยไม่ควรตีความขยายขอบเขตอำนาจของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจนเกินไป จนกระทบกระเทือนถึงสิทธิพื้นฐานและความยุติธรรมของผู้ต้องหา
.
.
อ้างอิง
คมสัน สุขมาก, “หลักนิติธรรมกับการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของพนักงานสอบสวน,” วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย 8 (1), 361-389.
คำพิพากษาฎีกาที่ 3214/2560
ชาติ ไชยเดชสุริยะ, มาตรการคุ้มครองทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา).
ปกป้อง ศรีสนิท, “สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ: สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพ,” 101world, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564, https://www.the101.world/right-to-remain-silent/.
ประชาไท, “ตำรวจคุมตัว นศ.มหาลัยบูรพา เหตุติดป้ายประท้วงรัฐบาล-สถาบันกษัตริย์ บนระเบียงหอพัก,” สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2021/07/93951.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “‘ช่างรับจ้างแต่งหน้าเชียงราย’ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ หลังถูกขังในเรือนจำ 9 วัน เหตุแชร์โพสต์ KonthaiUK พร้อมข้อความ “แชร์ไปอ่านเป็นวิทยาทานอย่างหนึ่ง,” สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/32082.
.