จับ ‘สื่ออิสระ’ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เหตุเข้ารายงานข่าว #ม็อบ11กันยา64 ที่ดินแดง เจ้าตัวยืนยันไม่เคยรับหมายเรียก

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่า วิษณุ อิ่นแก้ว สื่ออิสระ อายุ 35 ปี ถูกจับกุมที่จังหวัดสุพรรณบุรี จากไลฟ์สดในเพจของเขาเอง ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับ ระบุว่า ได้รับการประสานจากตำรวจนครบาลให้สืบสวนภาค 7 และสืบจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าตรวจสอบและจับกุมส่ง สน.ดินแดง โดยวิษณุแจ้งว่า เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนเลย

หลังการจับกุมชุดจับกุมได้ควบคุมตัววิษณุไปทำบันทึกจับกุมที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ระบุรายละเอียดว่า ในการจับกุมครั้งนี้เจ้าพนักงานผู้จับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.เกรียงไกร วุฒิพานิช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีชุดจับกุมเป็นตำรวจสืบสวน ภ.จว.สุพรรณบุรี จำนวน 7 นาย และตำรวจสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 จำนวน 4 นาย รวมทั้งสิ้น 11 นาย เข้าจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 206/2565 ลงวันที่ 18 มี.ค. 2565 โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ชั้นจับกุมซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม วิษณุได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว

จากนั้นวิษณุถูกควบคุมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดำเนินคดีที่ สน.ดินแดง โดยแฟนของวิษณุซึ่งอยู่ด้วยกันขณะถูกจับกุม นั่งรถคนละคันติดตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ราว 21.30 น. ทนายความ รวมทั้งประชาชนและสื่อที่ติดตามไปที่ สน.ดินแดง เพื่อติดตามการจับกุมครั้งนี้ ยังไม่พบตัววิษณุ กระทั่งราว 22.00 น. แฟนของวิษณุที่ไปถึง สน.ดินแดง ได้เข้าสอบถามตำรวจ จึงได้รับแจ้งว่า วิษณุถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี

การสอบปากคำวิษณุที่ บช.ปส.เริ่มขึ้นประมาณเที่ยงคืน หลังทนายความได้เข้าพบวิษณุ พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ในคดีว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 โดยตำรวจได้ตรวจพบวิษณุ ยูทูบเบอร์ ที่บริเวณการชุมนุมในเวลา 17.30 น. จึงแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

วิษณุให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การในเบื้องต้นว่า ตนเองเป็นสื่อมวลชนที่มาทำข่าวในวันเกิดเหตุดังกล่าวเพียงเท่านั้น โดยตนและทีมงานได้เดินทางมาทำข่าวที่บริเวณแยกดินแดง ในเวลาประมาณ 15.00 น. ก่อนจะเดินทางกลับในช่วงเวลาค่ำ พร้อมทั้งยื่นสำเนาบัตรสื่อมวลชนและหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่แนบไปกับคำให้การ วิษณุยังให้การด้วยว่า ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แต่อย่างใด และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 6 พ.ค. 2565 

วิษณุเปิดเผยกับทนายว่า ไม่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือมีทรัพย์สินเสียหายในระหว่างที่ถูกจับกุม

หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนแจ้งกับวิษณุและทนายความว่า จะให้ประกันในชั้นพนักงานสอบสวน ในวงเงินประกัน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเวลาดึกแล้ว พนักงานสอบสวนจึงให้ไปยื่นประกันในวันรุ่งขึ้น ก่อนทนายความจะได้ติดต่อเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์นำไปยื่นประกันวิษณุที่ สน.ดินแดง ในเช้าวันถัดมา (24 เม.ย. 2565) ขณะที่วิษณุถูกคุมขังอยู่ที่ บช.ปส.

แต่แล้วพนักงานสอบสวนกลับแจ้งใหม่ว่า ไม่สะดวกที่จะให้ประกันเอง ให้ไปยื่นประกันที่ศาลแขวงพระนครเหนือในวันจันทร์ (25 เม.ย. 2565) หลังยื่นฝากขังต่อศาลแล้ว

25 เม.ย. 2565 ราว 15.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จึงนำตัววิษณุไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแขวงพระนครเหนือ หลังศาลอนุญาตฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววิษณุระหว่างสอบสวน ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดวงเงินประกัน 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ วิษณุจึงได้รับการปล่อยตัวที่ศาลในช่วงเย็น รวมเวลาถูกควบคุมตัวเกือบ 48 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 หรือ #ม็อบ11กันยา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณดินแดง นอกจากมีรายงานว่า คฝ.เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 52 ราย เป็นเยาวชน 9 ราย ผู้อยู่อาศัยละแวกนั้นและประชาชนได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งสื่อที่เข้ารายงานข่าวก็ถูกสั่งให้ออกนอกพื้นที่ ภายหลังการชุมนุมยังมีนักกิจกรรม สื่ออิสระ รวมทั้งอาสาพยาบาล ถูกออกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกอย่างน้อย 7 ราย อาทิ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง, ชาญชัย ปุสรังษี รวมถึงวิษณุที่ถูกจับกุมในครั้งนี้  

>> กวาดจับ 77 ราย ที่ดินแดง! ผู้ชุมนุม – ชาวบ้านพร้อมลูก – คนขายอาหาร อาสาการแพทย์ยังโดน ก่อนปล่อย 25 ราย พร้อมเด็กเล็ก

X