กวาดจับ 77 ราย ที่ดินแดง! ผู้ชุมนุม – ชาวบ้านพร้อมลูก – คนขายอาหาร อาสาการแพทย์ยังโดน ก่อนปล่อย 25 ราย พร้อมเด็กเล็ก

วานนี้ (11 ก.ย. 64) ที่แยกดินแดง เวลาประมาณ 21.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีการจับกุมประชาชนรวมจำนวน 77 ราย เป็นเยาวชน 11 ราย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เยาวชน 9 รายถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.พหลโยธิน กลุ่มที่สอง ผู้ใหญ่ 21 ราย ถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กลุ่มที่สาม ผู้ใหญ่ 22 ราย พร้อมเด็กเล็กที่เป็นลูก 2 คน ถูกนำตัวไปที่ สน.ดอนเมือง ก่อนให้คนมารับเด็กเล็กทั้งสองกลับบ้าน

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมด มีหลายรายที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่เป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ คนขายอาหาร และคนที่เดินทางมารับอาหารที่บริเวณเต๊นท์พยาบาลอาสา รวมทั้งอาสากู้ภัย แต่กลับถูกจับกุมและได้รับบาดเจ็บอีกด้วย 

กลุ่มที่สี่ เป็นแพทย์ พยาบาลอาสา และอาสากู้ภัย 25 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย ถูกควบคุมตัวจากเต๊นท์พยาบาลอาสาที่คอยรักษาผู้บาดเจ็บเบื้องต้นไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก ก่อนนำตัวไป สน.ดินแดง ต่อมา ประมาณ 00.30 น. ทนายความที่ติดตามไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในสถานีตำรวจ จนกระทั่ง 00.50 น. ทนายความจึงเข้าไปพบกับผู้ถูกจับกุมได้ ก่อนที่ตำรวจจะทำการอธิบายเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว รวมถึงตรวจสอบและทำประวัติพยาบาลอาสาทั้งหมด และปล่อยตัวทั้ง 25 ราย เมื่อเวลา 01.40 น. โดยไม่มีการดำเนินคดี

.

ตำรวจกว่า 32 นาย จับกุมเยาวชน 9 ราย ก่อนนำมาที่ สน.พหลโยธิน พบบาดเจ็บ 3 ราย ต่ไม่ได้การตรวจร่างกายทันที

สำหรับเยาวชนที่ถูกจับกุมก่อนถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.พหลโยธิน มีทั้งหมด 9 ราย เป็นเยาวชนอายุ 15-17 ปี ซึ่ง 1 ราย ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ดอนเมือง ก่อนนำตัวมา สน.พหลโยธิน ในภายหลัง ส่วนใหญ่ถูกจับมาจากบริเวณแฟลตดินแดง โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลากหลาย สน. รวมแล้ว 32 นาย

ทั้ง 9 ราย ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันรวม 5 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิว, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป”, มาตรา 216 “ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” และมาตรา 138, 140 “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน”

ทั้งนี้ มี 1 รายถูกแจ้งข้อหา มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย อีก 1 ข้อหา โดยระบุว่า ตรวจค้นพบระเบิดแสวงเครื่อง พันเทปสีขาว 1 ลูก และประทัดทรงกลม 2 ลูก ขณะจับกุมเยาวชนรายนี้

.

.

หลังจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 03.25 น. โดยบันทึกจับกุมระบุว่า ชั้นจับกุม เยาวชน 7 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนอีก 2 รายให้การสารภาพ อย่างไรก็ตาม เยาวชนทั้งเก้าปฏิเสธลงชื่อในบันทึกการจับกุม 

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวเยาวชนทั้งหมดไว้ที่ สน.พหลโยธิน ก่อนจะนำตัวไปตรวจสอบการจับและขออำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางควบคุมตัวในวันนี้ (12 ก.ย. 64) 

ในจำนวนเยาวชนทั้งหมดที่ถูกจับกุม มีเยาวชน 3 รายได้รับการบาดเจ็บจากการจับกุมของตำรวจ คฝ. โดยที่รายหนึ่งมีแผลบนศีรษะจากการถูกชกและถูกเหยียบที่บริเวณแผ่นหลัง หัวไหล่และต้นแขน รายที่สองถูกยิงด้วยกระสุนยางที่บริเวณหลังด้านขวา และรายที่สามถูกตำรวจ คฝ.กดทับลงกับพื้นและใช้กระบองตีที่แขน แต่ทั้งสามรายกลับไม่ได้รับการตรวจร่างกายอย่างทันที โดยตำรวจแจ้งว่า จะนำตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลหลังจากการตรวจสอบการจับและขออำนาจฝากขังที่ศาลเยาวชนฯ

นอกจากนี้ เยาวชนทั้งเก้าระบุว่า ขณะถูก คฝ.จับกุมตนเองไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด มีรายหนึ่งระบุด้วยว่า ตนเลิกงานเวลา 21.30 น. จึงขับรถไปดูรถที่ซ่อมไว้ที่อู่แถวรัชดา ขณะกลับบ้านพบ คฝ.ที่สามเหลี่ยมดินแดน เขาได้แสดงหลักฐาน คฝ.ชุดแรกปล่อยให้เขาไปต่อ แต่ชุดที่ 2 ที่สะพานข้ามทางแยกไปอนุสาวรีย์ กลับไม่เชื่อหลักฐานของเขาและจับกุมตัว

ในวันนี้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เวลา 13.15 น. เยาวชนที่ถูกจับกุม 9 ราย ถูกนำตัวมาศาล โดยพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบการจับ ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งว่า การจับเยาวชนทั้งเก้าเป็นไปโดยชอบ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ก็ตาม และให้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากไม่มาศาลให้ปรับผู้ปกครอง 5,000 บาท ทั้งนี้ 1 ใน 9 ราย ต้องใช้เงินประกันตัว 20,000 บาท เนื่องจากมีระเบิดไว้ในความครอบครอง

จับกุม 21 ราย บริเวณแฟลตดินแดง – สามเหลี่ยมดินแดง ก่อนแจ้ง 6 ข้อหา เจ้าหน้าที่ตรวจเจอหนังสติ๊ก มีดพับ อย่างละอัน ด้านผู้ชุมนุมเจ็บหนัก อาการป่วยกำเริบ ต้องส่ง รพ.

สำหรับกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ บช. ปส. พบว่า ถูกแยกทำบันทึกจับกุมเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก จำนวน 8 คน ถูกจับมาจากบริเวณโดยรอบแฟลตดินแดง ชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลากหลาย สน. รวมแล้ว 28 นาย

ในบันทึกจับกุมระบุว่า ทั้งหมดถูกตั้งข้อหา 6 ข้อหา ได้แก่ จัดกิจกรรมรวมกลุ่มฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิว, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายโดยคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ”, มาตรา 216 “ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน”, มาตรา 138 และ 140 “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ หรือร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป” 

.

.

ชุดจับกุมยังระบุด้วยว่า จากการตรวจค้นได้ยึดสิ่งของ ได้แก่ ลูกแก้ว 52  ลูก, พลุควัน 2 แท่ง, ปากกาเลเซอร์ 1 ด้าม จากผู้ถูกจับกุม 3 ราย ทั้งยังยึดโทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง ของผู้ต้องหาที่ 1 – 6 ไว้เป็นวัตถุพยาน หลังจากทำบันทึกจับกุมเสร็จ ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ลงชื่อในท้ายของบันทึกจับกุม

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ถูกจับกุมกลุ่มนี้ พบว่ามี 3 ราย ที่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม เพียงแค่มารับแจกอาหารเท่านั้น รายหนึ่งกำลังกลับบ้าน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมมาด้วย นอกจากนี้ พบว่า 5 ราย มีอาการบาดเจ็บจากปฎิบัติการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยผู้ถูกจับกุมให้ข้อมูลว่า ถูก คฝ. ชก เตะ หรือตีด้วยกระบอง 

รายที่บาดเจ็บหนักที่สุด ถูกเจ้าหน้าที่ต่อยที่หน้าอกซ้าย 1 ครั้ง ไม้กระบองตีที่หลัง 2 ครั้ง ขณะที่โดนจับให้นั่งคุกเข่า ก็ถูกเตะที่กกหูข้างซ้ายอีก 3 ครั้ง และมีอีก 1 ราย มีอาการหอบหืดกำเริบระหว่างถูกจับกุม เนื่องจากป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องนำตัวส่ง รพ. ตำรวจ ไม่ได้นำตัวไปที่ บช.ปส.

ในส่วนของผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ที่ถูกจับกุมอีก 13 ราย ในบันทึกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเป็นคนละชุดกันกับที่จับกุมกลุ่มแรก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 18 นาย  เข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ไปจนถึงหน้าโรงเรียนพิบูลย์

ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมดในชุดนี้ มี 1 ราย ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยเขาถูกจับกุม พร้อมกับกลุ่มอาสาทางการแพทย์ โดยถูก คฝ.ตรวจสอบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่กู้ภัยแล้ว ก่อนถูกส่งตัวยังกรมดุริยางค์ทหารบกพร้อมคนอื่น หลังจากนั้นเขาถูกเจ้าหน้าที่ยึดบัตรดังกล่าวไปพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ และถูกส่งไป บช.ปส. เพียงคนเดียว ทำบันทึกจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหา  แม้จะยืนยันอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม ว่าเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยจริง ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังได้ยึดวิทยุสื่อสารของเขาด้วย

ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเดียวกันกับผู้ที่ถูกจับกุมมาชุดแรก โดยอาสากู้ภัยถูกแจ้งข้อหา มีและใช้วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต อีก 1 ข้อหา, อีก 1 ราย ถูกตั้งข้อหา “พกอาวุธไปในที่สาธารณะ” ด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบมีดพับ หนังสติ๊ก 1 อัน และลูกแก้วจำนวน 10 ลูก ทั้งหมดถูกยึดเป็นของกลาง ขณะที่อีก 2 ราย ถูกตั้งข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าว อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ด้วย

นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ ในกลุ่มผู้ถูกจับกุมชุดนี้ จากการสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีผู้ถูกจับกุม 6 ราย ที่ไม่ได้มาชุมนุม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปด้วย รายแรกระบุว่าตนเพียงแค่เดินทางมาเยี่ยมเพื่อนที่แฟลตดินแดงเท่านั้น และกำลังจะเดินทางกลับบ้าน แต่กลับถูกควบคุมตัว โดยระหว่างถูกจับกุม เขาถูกเหยียบเข้าที่ขาจนเกิดเป็นแผลถลอก ในขณะที่อีกรายซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิง ให้ข้อมูลว่า เธอเป็นพนักงานขับรถส่งอาหาร พักอาศัยอยู่ที่แฟลตดินแดง ระหว่างออกไปตามหาหลานที่ออกไปรับแจกอาหารฟรี เธอได้ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าจับกุมตัว พร้อมทั้งถูกยึดโทรศัพท์มือถือและถูกพันธนาการด้วยเชือกเคเบิลไทร์

ในส่วนของผู้บาดเจ็บ มีกรณีผู้ถูกจับกุม 1 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยาง หลังจากถูกจับกุม เขาถูกนำตัวไปทำแผลยัง รพ. ตำรวจ และถูกส่งตัวกลับมาที่ บช.ปส. อีกครั้งเพื่อดำเนินคดีต่อ 

ทั้งนี้ ในบันทึกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหากลุ่มนี้ เป็นจำนวนทั้งหมด 13 เครื่อง โดยระบุว่า ผู้ถูกจับกุมยอมรับว่า ได้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าวถ่ายรูปและนัดหมายมาชุมนุม ทั้งที่หลายรายไม่ใช่ผู้มาร่วมชุมนุม ทั้งหมดจึงปฏิเสธไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม

ท้ายสุด ผู้ต้องหาทั้ง 21 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การอีกครั้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยในวันนี้ (12 กันยายน 2564) พวกเขาทั้งหมดได้ถูกย้ายจาก บช.ปส. ไปยัง สน.บางเขน และต้องถูกขังที่นี่อีก 1 คืน โดยพรุ่งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะนำตัวทั้งหมดยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญา รัชดาฯ ฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน 

.

จับกุมคนขายอาหาร-วินมอไซค์-คนขับแท็กซี่-คนมารับอาหาร 18 ราย  และผู้ชุมนุม 4 ราย ก่อนพาตัวไป สน.ดอนเมือง

ผู้ถูกจับกุม 23 ราย รวมเยาวชน 1 ราย ถูกนำตัวไปที่ สน.ดอนเมือง ก่อนที่เยาวชนจะถูกนำตัวไปที่ สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหารวมกับเยาวชนรายอื่น  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทำบันทึกการจับกุมแยกเป็น 3 กลุ่มโดยในกลุ่มแรก จำนวน 2 รายถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 คน กลุ่มที่สอง จำนวน 4 นาย ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 5 นาย และ กลุ่มที่สาม จำนวน 16 ราย ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 นาย ทั้งหมดถูกจับกุมบริเณสามเหลี่ยมดินแดงถึงแยกประชาสงเคราะห์ตลอดจนซอยดินแดง 1

.

.

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อหา เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ทั้งยังยึดโทรศัพท์ทั้งหมด 15 เครื่อง ก่อนจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 05.50 น. ของวันที่ 12 ก.ย.  ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและปฏิเสธลงชื่อในบันทึก ก่อนทางผู้กำกับ สน.ดินแดง ไม่ให้ประกันตัว และจะขออำนาจศาลฝากขังวันที่ 13 ก.ย. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ

ในจำนวนของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาทั้งหมด เด็กอายุ 3 ขวบพร้อมพ่อแม่ และ 4 ขวบพร้อมแม่ ที่มารับข้าวที่เต๊นท์พยาบาลอาสา ก็ถูกนำตัวมาที่ สน.ดอนเมือง ด้วย ก่อนที่พ่อของเด็กอายุ 3 ขวบ จะมารับกลับบ้านไปและตำรวจนำตัวพ่อแม่ที่ถูกจับกุมพร้อมเด็ก 4 ขวบ กลับไปที่แฟลตเพื่อนำตัวเด็กไปฝากไว้กับบุคคลที่สามารถช่วยเลี้ยง ก่อนควบคุมคัวพ่อแม่กลับมาที่ สน.ดอนเมือง

>> คฝ. จับคนต่อคิวรับข้าวแจก ไม่ได้ร่วมชุมนุม พร้อมเด็ก 3 และ 4 ขวบ ไป สน.ดอนเมือง ก่อนให้คนมารับเด็กกลับ

ทั้งนี้ ได้รับการรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวมาถึงที่ สน.ดอนเมือง แล้ว ทนายไม่สามารถเขาพบผู้ต้องหาได้ทันทีเนื่องจากทางตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบ และหนึ่งในจำนวนผู้ต้องหาทั้งหมด มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องฉีดอินซูลินในเวลาเช้าและเย็น รวมถึงต้องกินยาเป็นเวลา ทำให้มีความเสี่ยงต่อชีวิต 

อีกทั้ง ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมด  มีเพียง 4 รายที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ส่วนอีก 18 ราย เป็นคนขายเฉาก๊วย ไส้กรอก วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่และประชาชนที่มารับข้าวที่เต๊นท์พยาบาลอาสา  ซึ่งไม่ได้มาเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด

ในวันนี้ทนายความยังได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ได้เดินทางมาที่ สน. ดอนเมือง เพื่อขอเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาแต่ละรายที่ถูกยึดไว้ โดยไม่มีคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งบางรายต้องการปฏิเสธการเข้าถึงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ บก.ปอท. พยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อยินยอมในการตรวจค้น ผู้ต้องหาได้แจ้งว่า จะขอรอทนายความก่อน ท้ายสุด เจ้าหน้าที่ บก.ปอท. ได้เดินทางกลับไปโดยไม่ได้ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือผู้ต้องหา แต่ได้ข่มขู่ทิ้งท้ายว่า จะไปขอให้ศาลมีคำสั่งให้เข้าถึงข้อมูล ซึ่งหากใครปฏิเสธ จะต้องเสียค่าปรับ 200,000 บาท และค่าปรับรายวันอีกวันละ 5,000 บาท

.

สลายการชุมนุมอย่างหนัก-สื่อถูกสั่งให้ออกนอกพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยและประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

การชุมนุมของ #ม็อบ11กันยา เจ้าหน้าที่ตำรวจคฝ.ใช้กำลังสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยก่อนเวลา 21.00 น. มีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุมอิสระที่รวมตัวกันที่บริเวณหน้ากองโรงงานช่างกลพร้อมกับประกาศให้เลิกการชุมนุม และประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเวลาเคอร์ฟิว 21.00 น. มีการประกาศให้แยกย้ายอีกรอบโดยให้เหตุผลว่าเป็นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว พร้อมกับมีตำรวจ คฝ.นั่งท้ายรถกระบะเข้ามาจอดหน้าบริเวณสำนักงานเขตดินแดงและประกาศให้นักข่าวนั่งกับพื้น ขอตรวจบัตรสื่อ และขอให้ยุติการไลฟ์สดโดยอ้างว่า เพื่อไม่ให้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ตำรวจ คฝ.เริ่มเข้าสลายการชุมนุม เวลา 21. 30 น.โดยมีการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปในแฟลตดินแดงนานกว่า 40 นาที ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในแฟลตดังกล่าวได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เช่น ฝ้าถูกทำลาย กระจกห้องพักแตก ผนังเป็นรอยกระสุนยาง และยังทำให้ผู้อาศัยได้รับบาดเจ็บ รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายประชาชนที่สัญจรทั่วไปอีกด้วย เช่น หมดสติจากการสูดดมแก๊สน้ำตา และ ศีรษะแตก 8 ซม. เป็นต้น 

.

.

อีกทั้ง ระหว่างการปิดล้อมหน้าบริเวณแฟลตดินแดง ทางตำรวจ คฝ.ได้กันพื้นที่ไม่ให้สื่อเข้าไปถ่ายทอดเหตุการณ์ระบุว่า ยังไม่มีการเข้าเคลียร์พืนที่ให้เรียบร้อยจึงยังไม่สามารถให้เข้าได้พร้อมขอตรวจบัตรสื่อมวลชนและพยาบาลอาสาที่เต๊นท์เพื่อยืนยันตัว

จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. น.พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวชนที่แยกดินแดง ชี้แจงการขอตรวจบัตรกลุ่มดังกล่าวเพื่อป้องกันการซ่อนตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมและการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมโดยอ้างว่า เพื่อยุติเหตุการณ์ที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 1 เดือน พร้อมโชว์ภาพ คฝ.ที่มีบาดแผลที่ใบหน้า โดยอ้างว่าโดนระเบิดของกลุ่มผู้ก่อเหตุ 

ก่อนเวลา 22.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจให้สื่อมวลชนเดินทางกลับเพราะฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและให้ออกจากพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะจับกุมและคุมตัวไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก ในขณะที่ยังมีปฏิบัติการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณแฟลตดินแดง และมีการขอให้สื่อที่ไม่มีสังกัดไปที่กรมดุริยางค์ทหารบกเพื่อตรวจสอบว่าเป็นสื่อจริงหรือไม่ 

.

อ่านเพิ่มเติม

คฝ. จับคนต่อคิวรับข้าวแจก ไม่ได้ร่วมชุมนุม พร้อมเด็ก 3 และ 4 ขวบ ไป สน.ดอนเมือง ก่อนให้คนมารับเด็กกลับ

.

X