วันที่ 11 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 23.30 น. หลังเกิดเหตุกวาดจับประชาชนจากเหตุการณ์ #ม็อบ11กันยา บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ติดตามให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกจับกุมที่ สน.ดอนเมือง พบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้นำตัวเด็กเล็ก 2 คน อายุ 3 และ 4 ปี มาที่สถานีตำรวจด้วย พร้อมกับแม่ของเด็กทั้งสองคน ซึ่งถูกจับกุมเนื่องจากไปเข้าแถวรอรับอาหารแจกในสถานการณ์โควิด
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถกเถียงให้มีคนนำตัวเด็กออกจากสถานีตำรวจ โดยเด็ก 4 ขวบ พ่อได้มารับกลับ ส่วนเด็ก 3 ขวบอยู่ที่สถานีตำรวจจนถึงตี 4 กว่า ก่อนตำรวจพาตัวพร้อมกับแม่ขึ้นรถ นำเด็กไปฝากไว้กับคนเลี้ยง และพาแม่กลับมาควบคุมตัวเพื่อรอฝากขังและประกันตัวต่อพรุ่งนี้ (13 ก.ย.)
ขณะที่เยาวชน 1 คน อายุ 16 ปี ที่ถูกจับมาด้วยถูกควบคุมไว้ในห้องขังกับผู้ใหญ่ ทนายความทักท้วง ตำรวจจึงนำตัวออกจากห้องขังและย้ายตัวเยาวชนไปรวมกับเยาวชนคนอื่นที่ สน.พหลโยธิน เพื่อรอตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ วันที่ 12 กันยายน 2564
ตำรวจปิดกั้นให้ทนายความพบผู้ถูกจับ ก่อนพบเด็กวัย 3 และ 4 ขวบ ถูกจับมาพร้อมแม่ ซึ่งไปรับแจกอาหาร
เวลา 23.30 น. เมื่อทนายความเดินทางไปถึง สน.ดอนเมือง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผู้ถูกจับกุมจากบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ถูกนำตัวเข้าห้องขังบนอาคารชั้นสองหมดแล้ว ตำรวจยังไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบทั้งหมดได้ เพราะยังไม่ได้ทำการสอบสวน ผู้ถูกจับกุมจึงยังไม่ต้องการทนาย ทนายความพยายามสอบถามจำนวนและรายละเอียด แต่ตำรวจไม่ได้สนใจและไม่ได้แจ้งข้อมูลให้ทราบ
ต่อมา เมื่อทนายความสามารถเดินขึ้นไปถึงชั้นบนอาคารแล้ว ได้ทราบว่ามีผู้ถูกจับกุมมาทั้งหมด 23 คน โดยมีเยาวชน 1 ราย และยังพบว่าในจำนวนนั้นมี มาริ (นามสมมติ) และ ศิริ (นามสมมติ) พร้อมเด็กเล็กอีก 2 คน อายุ 3 และ 4 ปี นั่งอยู่ในห้องโถง ภายนอกห้องขัง โดยทั้งหมดเป็นญาติกัน
เจ้าหน้าที่ คฝ. บอกทั้งสองว่าโดนจับมาเพราะเหตุฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มาชุมนุม และจะถูกจับเข้าเรือนจำ ทั้งสองจึงบอกว่าพวกเขาไม่มีเงิน และมีความเดือดร้อน จึงมาเข้าคิวรับแจกอาหารที่เต็นท์แจกอาหารฟรี บริเวณดินแดงเท่านั้น และแฟนของพวกเขาเป็นวินขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยแฟนของมาริ ก็ถูกกวาดจับมาพร้อมกัน ทำให้ครอบครัวมาริ ถูกจับกุมพร้อมกัน พ่อ แม่ และลูกวัย 3 ขวบ
ส่วนครอบครัวศิริ แฟนไม่โดนจับ จึงติดต่อมารับลูกวัย 4 ขวบกลับบ้านในช่วงกลางดึก ตำรวจบอกแฟนของศิริ ว่าให้รีบนำตัวเด็กกลับบ้านไปเลยเพราะเด็กอยู่ในห้องขังไม่ได้ เขากลับมาที่ สน.ดอนเมือง เกือบเช้าอีกครั้งเผื่อมาดูแลศิริ ที่ให้ข้อมูลว่าตนเพิ่งคลอดลูกอีกหนึ่งคนอายุ 1 เดือนอีกด้วย
เด็ก 3 ขวบ ร้องไห้ตกใจเสียงตำรวจดุดัน สงบเพราะได้เล่นมือถือและรถของเล่น ก่อนรุ่งสางตำรวจพาเด็กและแม่เอาไปฝากไว้กับคนเลี้ยง
กรณีครอบครัว มาริ (นามสมมติ) ถูกจับมาพร้อมกัน พ่อ แม่ และลูกวัย 3 ขวบ ทำให้ไม่มีใครสามารถมารับตัวเด็กออกไปจาก สน.ได้ ประกอบกับมีเสียงถกเถียงและดุดันของตำรวจที่ให้ครอบครัวติดต่อใครก็ได้มารับตัวเด็กออกไปจาก สน. ทำให้เด็กตกใจ ร้องไห้ และโวยวาย
ทนายความอาสาจึงตัดสินใจเปิดช่องยูทูปในโทรศัพท์มือถือของตนให้เด็กดู เด็กจึงหยุดร้องไห้และยอมนั่งลงข้างๆ แม่ และเล่นโทรศัพท์ พร้อมรถของเล่น จนในช่วง 01.00 น. ถึง 03.00 น. ถึงจะยอมนอนได้
ต่อมาเวลา 06.00 น. ของวันที่ 12 กันยายน 2564 ทนายความพบว่าเด็กวัย 3 ขวบ ไม่ได้นอนหลับอยู่ที่โซฟาภายในห้องสอบสวนชั้นสองของ สน.ดอนเมือง มาทราบภายหลังว่า ในช่วงเวลาประมาณ 04.30 น. ถึง 06.00 น. ไม่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำ มาริ พร้อมลูก ขึ้นรถออกไปส่งยังที่พักของคนซึ่ง มาริ สามารถฝากลูกไว้เลี้ยงได้ ในช่วงระหว่างเวลาที่ตนจะถูกคุมขังอีกหนึ่งวันหนึ่งคืน เพราะเป็นห่วงลูก โดยมาริกลับมาพร้อมตำรวจ โดยเธอจะต้องรอการขอฝากขัง และประกันตัวต่อศาลในวันที่ 13 กันยายน 2564
นอกจากกรณีดังกล่าว ทนายยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ได้จับกุมเยาวชนอายุ 16 ปี หนึ่งรายมาที่ สน.ดอนเมือง โดยที่ตำรวจเองไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทนายความจึงทักท้วงให้นำเยาวชนออกมาจากห้องขังแยกจากผู้ใหญ่ ตามกฎหมายในกรณีการควบคุมตัวเยาวชน และให้ตำรวจคืนโทรศัพท์ให้กับเยาวชนติดต่อผู้ปกครองมารับกลับ
ต่อมา เมื่อติดต่อผู้ปกครอง/ผู้ไว้วางใจได้เบื้องต้นแล้ว ตำรวจได้นำตัวเยาวชนไปควบคุมไว้ที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งมีการจับกุมตัวเด็กและเยาวชน อีก 8 คน ไว้ที่นั้นอยู่แล้ว
คฝ. จับ 22 คน ส่ง สน.ดอนเมือง 18 คนเป็นประชาชนทั่วไป รับแจกของ-วินรับจ้าง-คนขายอาหารในม็อบ-ทนายความ มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่เข้าข่ายร่วมชุมนุม
ในส่วนของการทำบันทึกจับกุมและการสอบคำให้การ ทนายความให้ข้อมูลว่า มีเพียงตำรวจ 1 นายทำบันทึกจับกุมประชาชน 22 คนที่ถูกนำมาที่ สน.ดอนเมือง บันทึกจับกุมแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 03.30 น. และเกิดความผิดพลาดที่ทำให้ไฟล์บันทึกจับกุมหายไป ตำรวจกู้คืนมาได้ในเวลาเกือบ 04.00 น. และจึงเริ่มอ่านบันทึกจับกุมให้ทั้งหมดฟัง โดยตำรวจไม่นำตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดออกมานั่งในห้องสอบสวน ทำให้ทนายความต้องเข้าไปในห้องขังพร้อมตำรวจ เพื่ออธิบายถึงสิทธิของผู้ต้องหา และสอบข้อเท็จจริงในห้องขังด้วยสภาพที่ห้องขังที่มีเพียงไฟสลัว อากาศร้อนและแออัด ด้วยมีทั้งกลุ่มประชาชนผู้ถูกจับกุม ทีมทนายความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเองมารวมกันอยู่
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ขั้นตอนของการทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำ ยาวนานออกไปตั้งแต่ช่วง 04.00 – 06.00 น. ในส่วนของบันทึกการจับกุมที่เกี่ยวข้องกับมาริและศิริ กลับไม่ได้ระบุเรื่องการควบคุมตัวมาพร้อมกับเด็กอายุ 3 และ 4 ปี แต่อย่างใด
ต่อมา ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนที่ถูกจับมาที่ สน.ดอนเมือง จำนวน 22 คนนี้ เป็นผู้มาร่วมในการชุมนุมจริงๆ เพียง 4 คนเท่านั้น นอกนั้นเป็นประชาชนที่มารับแจกอาหารที่เต็นท์แจกอาหาร, เป็นคนขับวินรถจักรยานยนตร์รับจ้าง, คนขับแท็กซี่, คนขายเฉาก๊วย, คนขายไส้กรอก และอาหารบริเวณม็อบเท่านั้น และมีหนึ่งรายที่เป็นทนายความซึ่งกำลังเดินทางกลับหลังจากการทำงาน
ทนายความยังพบต่อมาอีกว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ชุดจับกุมได้ยึดโทรศัพท์มือถือของประชาชนผู้ถูกจับกุมไว้ทั้งหมด อ้างว่าจะต้องนำไปให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบโดยที่ไม่ได้แสดงหมายตรวจค้นจาก ปอท. เพื่อขอเข้าถึงอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ทำให้ทุกคนไม่สามารถติดต่อผู้ไว้วางใจและทนายความได้ตั้งแต่ถูกจับกุม
สำหรับจำนวนผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ11กันยา บริเวณแยกดินแดง พบว่ามีอย่างน้อย 77 คน ถูกคุมตัวแยกไปตามที่ต่างๆ ได้แก่ ที่ สน.ดินแดง 25 คน ซึ่งเป็นทีมแพทย์พยาบาลอาสา ต่อมาถูกปล่อยตัวกลับโดยไม่แจ้งข้อหาแล้ว, ที่ สน.พหลโยธิน เป็นเยาวชนทั้งหมด 8 คน, ที่ บช.ปส. จำนวน 21 คน โดย 2 คนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บ และที่ สน.ดอนเมือง มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 23 คน โดยเป็นเยาวชน 1 คน ที่ต่อมถูกย้ายไปรวมกับกลุ่มที่ สน.พหลโยธิน