จับผู้ชุมนุม #ม็อบ14กันยา หน้า สน.ดินแดง ก่อนทำร้าย-ข่มขู่ อีกด้านกระทรวงแรงงาน “หมอบูรณ์” โดนจับ “ฝ่าเคอร์ฟิว” ขณะรอพบเจ้าหน้าที่ร้องสิทธิเยียวยา

ค่ำวันที่ 14 ก.ย. 64 มีการชุมนุม #ม็อบ14กันยา ของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำเช่นทุกวัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ได้มีการปะทะหรือการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด 

หลัง 21.00 น. ซึ่งเข้าช่วงเวลาเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวของทางเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนซึ่งวางกำลังอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบก เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเริ่มเข้าประจำการบริเวณสะพานลอยหน้ากรมดุริยางค์ฯ และได้มีการประกาศจากด้านในกรมดุริยางค์ฯ ให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน และการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พร้อมกันนั้น ยังมีการยิงแสงเลเซอร์ออกมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางมวลชนยังคงรวมตัวกันอยู่บริเวณถนนมิตรไมตรี ทางเจ้าหน้าที่ยังประกาศอย่างต่อเนื่อง และได้พูดอีกว่า หากใครที่เป็นสื่อที่เข้ามารายงานข่าว จะต้องมีบัตรประจำตัวสื่อ ไม่เช่นนั้นจะโดนจับดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม พร้อมย้ำให้สื่อที่มีบัตรประจำตัวให้คอยรายงานข่าวในบริเวณที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น การชุมนุมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการปะทะกันบ้างประปราย ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งช่วงเวลาราว 01.00 น. สถานการณ์จึงเริ่มสงบลง

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.42 น. มีผู้ถูกจับกุมเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี จำนวน 2 ราย ทราบภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปล่อยตัวไป โดยมีการตักเตือนถึงการกระทำดังกล่าวว่าอาจทำให้หมดอนาคต

ต่อมา เวลา 00.30 น. บูรณ์ อารยพล อายุ  48 ปี หรือ “หมอบูรณ์” นักกิจกรรมที่เรียกร้องด้านสิทธิและสวัสดิการทางสังคม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง จับกุมที่กระทรวงแรงงาน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม 21.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยผิดกฎหมาย 

ในบันทึกจับกุมระบุว่า ตำรวจ สน. ดินแดง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานว่า นายบูรณ์ อารยพล (ทราบชื่อสกุลจริงภายหลัง) มานั่งอยู่ที่บริเวณใต้อาคารภายในกระทรวงแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ รปภ. ได้เชิญให้ผู้ถูกจับออกจากพื้นที่ทําการ เนื่องจากหมดเวลาทําการ แต่ผู้ถูกจับไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุม 3 นาย จึงเดินทางไปตรวจสอบและได้เชิญตัวผู้ถูกจับมาที่ สน.ดินแดง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ซึ่งช่วงเวลาขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจไปพบตัวผู้ถูกจับคือเวลาประมาณ 22.12 น. อันเป็นเวลาที่ห้ามออกนอกเคหะสถาน 

จากการสอบถาม ปรากฏว่านายบูรณ์ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นให้เดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตํารวจได้สอบถามเพิ่มเติมถึงเหตุจําเป็นในการออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม บูรณ์แจ้งว่า จะรอคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งได้มาเรียกร้องไว้เกี่ยวกับเงินประกันสังคม ซึ่งไม่ใช่เหตุผลความจําเป็นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงได้จับกุมนําตัวส่งพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดี


นอกจากนี้ เช้าวันที่ 15 ก.ย. 64  ทนายความและเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ที่เดินทางไปที่ สน. ดินแดง  พบว่า มีผู้ชุมนุม #ม็อบ14กันยา ถูกจับมื่อเวลาราวตีสี่และถูกขังอยู่ที่ สน.ดินแดง อีก 1 ราย ชื่อ ศราวุฒิ (สงวนนามสกุล) โดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมคือ ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ ศรีส่อง, ร.ต.ต.ณัฐพงษ์ ตรีธนนันท์, ร.ต.ท.สมปอง เกิดกุล รอง.สวป.สน.ดินแดง และ ด.ต. โอภาส สุวรรณดี ผบ.หมู่.ป.สน.ดินแดง

ในบันทึกจับกุม ระบุข้อกล่าวหาคือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยมีพฤติการณ์กล่าวคือ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและจับกุมผู้กระทำความผิด ได้จับกุมผู้ต้องหาคือศราวุฒิในช่วงเวลาเกือบตีสี่ โดยผู้ต้องหากำลังขับรถจักรยานยนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถคันดังกล่าว รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือของศราวุฒิไว้เป็นวัตถุพยาน เพื่อตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบหรือไม่ หลังจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้น พบของกลาง 3 ชิ้น ได้แก่ หนังสติ๊กด้ามจับไม้ 1 อัน, ธงชาติไทย 1 ผืน และกระเป๋าสะพายสีดำ

ชั้นจับกุม นายบูรณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาและไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม ส่วนศราวุฒิให้การรับสารภาพ โดยเมื่อช่วงสายของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้งสองไปยังศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อขอฝากขังหมอบูรณ์ และให้อัยการยื่นฟ้องศราวุฒิ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงศาลหมอบูรณ์ได้ให้การรับสารภาพเช่นเดียวกัน ศาลจึงได้มีคำพิพากษา ราว 17.00 น. ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินรายละ 2,500 บาท ถือเป็นการสิ้นสุดคดี 

.

ปากคำ “ศราวุฒิ” ผู้ชุมนุม #ม็อบ14กันยา ผู้ถูกอุ้มตัวเข้า สน.ดินแดง ก่อนถูกทำร้ายโดยกลุ่มชายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่

ศราวุฒิได้เล่าเรื่องราวของเขาในภายหลัง ระบุว่า ช่วงเวลา 03.00 น. เขาได้เดินทางมาชุมนุมและกำลังจะกลับบ้าน แต่พบคนในที่ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงถูกต่อยหน้าและกระชากสร้อยทอง จึงใช้มอเตอร์ไซค์ของตนเองซึ่งมีกระดาษปิดป้ายทะเบียนอยู่ ขับพาบุคคลดังกล่าวเข้าไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุที่ถูกกระชากสร้อยทองที่ สน.ดินแดง 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตนรออยู่ด้านหน้า สน.ดินแดง ได้ถูกกลุ่มคนประมาณ 4 – 6 คน ใส่เสื้อคล้ายเสื้อเกราะ ลักษณะคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบ ไม่ใช่ตำรวจควบคุมฝูงชน รวบตัวและเตะขาเขาให้ล้มลง เขาถูกมัดแขนด้วยเคเบิ้ลไทร์ หลังจากนั้นถูกกระชากคอเสื้อและลากเข้าไปในพื้นที่ สน.ดินแดง ศราวุฒิเล่าให้ฟังว่าเขาถูกบีบคอและตบหน้า ถูกเตะต่อย และระบุว่ามีชายคนหนึ่งหยิบบางอย่างที่มีลักษณะคล้ายอาวุธปืนขึ้นมาจ่อที่หัวของเขาและบอกว่า “เดี๋ยวกูยิงทิ้งเลย” 

เขาเล่าอีกว่า ตั้งแต่แรกที่ถูกนำตัวเข้ามา เขาไม่ได้ขัดขืนเลยแม้แต่น้อย แต่กลับถูกกระทำอย่างรุนแรงราวกับเป็นอาชญากร เขาเล่าว่า ไม่ว่าจะพยายามอธิบายสาเหตุที่ต้องมาปรากฏตัวบริเวณ สน. อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เชื่อและไม่ได้สนใจฟัง เขาสันนิษฐานว่า เหตุที่ถูกจับและทำร้าย เนื่องจากตำรวจเห็นว่ารถของเขาถูกปิดป้ายทะเบียนไว้ จึงสันนิษฐานว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมและพยายามจับกุมเขา ทั้งที่ในเวลาดังกล่าวการชุมนุมได้ยุติลงไปแล้ว ทั้งนี้ข้อมือของเขาและแขนยังปรากฏบาดแผลขีดข่วนและรอยช้ำหลายแห่ง

.

X