7 – 12 ต.ค.: คดีการเมืองถูกสั่งฟ้องศาลรวม 10 คดี ทั้งคดีชุมนุมหน้าบ้านประยุทธ์-คดีคาร์ม็อบปทุมฯ-คดีชุมนุมหน้าเรือนจำ และคดีเยาวชน 3 คดี

ระหว่างวันที่ 7 – 12 ตุลาคม 2564 ในพื้นที่ภาคกลาง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า มีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลทั้งหมด 7 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบปทุมธานี วันที่ 1 สิงหาคม 2564 คดีนี้มีจำเลย 2 ราย, คดีม็อบ REDEM หน้าบ้านประยุทธ์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลย 19 ราย, คดี #ม็อบ11สิงหา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีจำเลย 4 ราย, คดีประชาชนถูกกล่าวหาว่าพยายามเผาประตูทำเนียบรัฐบาลเพื่อประท้วงมาตรการโควิด จำเลย 1 ราย, คดี #ม็อบ23สิงหา ฟ้องจำเลย 1 ราย เป็นข้อหากัญชาคู่ไปกับข้อหาจากการชุมนุม, คดี #ม็อบ22สิงหา จำเลย 1 ราย เป็นการฟ้องขณะที่จำเลยถูกฝากขังในอีกคดี และคดีชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 คดีนี้มีจำเลย 3 ราย

นอกจากคดีข้างต้นแล้ว ยังมีคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย คือ ‘ภูมิ’ และ ‘มีมี่’ ซี่งเป็นคดีที่สั่งฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในกรณีของภูมิ เขาถูกสั่งฟ้องใน 2 คดี คือคดีที่ฟ้องไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เป็นคดีจากการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 และ 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุม 5 คนขึ้นไป, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย, และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ศาลนัดสอบถาม 14 ธันวาคม 2564

และอีกคดีถูกฟ้องไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เหตุจากการร่วมชุมนุม #ตามหานาย วันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ด้านหน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1ฯ ถูกกล่าวหาว่าไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ทำให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลนัดสอบคำให้การ 21 ธันวาคม 2564

ในกรณีของมีมี่ เป็นคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่แยกราชประสงค์ โดยอัยการสั่งฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 มีข้อกล่าวหาคือ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, และกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ศาลนัดสอบถามอีกครั้งวันที่ 14 ธันวาคม 2564

.

+++ สั่งฟ้อง 2 ผู้จัดชุมนุมคาร์ม็อบ ปทุมธานี ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อมาศาลให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์เดิม +++

7 ตุลาคม 2564 – ศาลจังหวัดธัญบุรีได้นัดสอบคำให้การในคดีที่ กุลวดี ดีจันทร์ และ สุธิลา ลืนคำ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการเข้าร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดปทุมธานี มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยคดีนี้ อัยการได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564

>>> แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 2 ผู้ร่วมคาร์ม็อบปทุมฯ ก่อนส่งฝากขัง-ค้านให้ประกัน แม้ทั้งสองเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องของคดีนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 2 กับพวก ได้ชุมนุมหรือจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง Car mob ที่บริเวณถนนพหลโยธินขาเข้า บริเวณด้านหน้าห้างฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต เป็นการรวมกลุ่มที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 5 คน โดยมีการนำรถจักรยานยนต์และรถยนต์มาร่วมในกิจกรรมจำนวน 65 คัน มีคนเข้าร่วมราว 80 คน มีประชาชนพูดผ่านเครื่องขยายเสียงในลักษณะยืนใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยไม่ได้รับอนุญาตหรืองดเว้นตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 2 ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิตามกฎหมาย ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ โดยคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังทั้ง 2 ในชั้นสอบสวน และศาลอนุญาต ก่อนที่ต่อมาศาลจะให้ประกันตัว อย่างไรก็ตาม กุลวดีเคยถูกยื่นคำร้องขอฝากขังในคดี ฝ.404/2564 ในขณะที่สุธิลาเคยถูกยื่นคำร้องฝากขังในคดี ฝ.405/2563

ในชั้นพิจารณา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมที่เคยยื่นไว้ในชั้นสอบสวน ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. และกำหนดนัดพร้อมเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น.

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ ออนไลน์

+++ สั่งฟ้องม็อบ REDEM หน้าบ้านประยุทธ์ 28 ก.. 64 รวม 19 ราย ก่อนศาลให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์ถึง 700,000 บาท +++

7 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ กับพวก รวม 19 ราย ต่อศาลอาญา ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138 และ 140 เหตุจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้าบ้านของประยุทธ์ จันทร์โอชา กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

>>> ตร.สน.ดินแดงแจ้ง 6 ข้อหา 16 ปชช. เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องของอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีผู้ชุมนุมประมาณ 600 – 700 คน นัดหมายมาร่วมชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปขับไล่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 จำเลยทั้ง 19 กับพวก ซึ่งยังเป็นเยาวชน (แยกดำเนินคดี) ได้ร่วมกันทำกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการมั่วสุมในสถานที่แออัด สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 ไม่ได้จำกัดทางเข้า – ออก ในการร่วมกิจกรรม ไม่ได้จัดให้ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง

ขณะที่จำเลยทั้งหมดเข้าร่วมในการชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปทางกรมทหารราบที่ 1 มีเจ้าหน้าที่ คฝ. ขัดขวางไม่ให้จำเลยเดินไป ทั้งหมดจึงได้ขู่เข็ญ / ใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการด่าทอ ตำหนิ ขว้างประทัดยักษ์ ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่าง ๆ ใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้สั่งให้ผู้ชุมนุม รวมทั้งจำเลยทั้ง 19 ให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวก และผู้ชุมนุมซึ่งรับทราบคำสั่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมยกเลิกการกระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด 

ในส่วนของจำเลยในคดีที่ 12 ถึง 14 และ 16 ถึง 19 และพวกที่ยังหลบหนี ยังได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กล่าวคือ เมื่อจำเลยกับพวกเคลื่อนขบวนไปถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จำเลยกับพวกได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ คฝ. โดยการขว้างปาก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 29 นายได้รับบาดเจ็บ เป็นการร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย กระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

ในการจับกุมจำเลย 1 – 18 ในคดี อ.884/2564 ซึ่งเป็นจำเลยที่ถูกจับกุมในสถานที่เกิดเหตุเดียวกันกับในคดีนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังได้ยึดหนังสติ๊ก 3 อัน ลูกแก้ว 29 ลูก ก้อนหินพันผ้า 2 ก้อน น็อต 1 ตัว เหล็กดูด 1 ชิ้น พลุประทัด 3 ดอก วัตถุต้องสงสัยทรงกลม 2 ลูก ที่จำเลยกับพวกใช้กระทำความผิด และเปลือกหุ้มประทัด 2 ชิ้น ที่จำเลยใช้กระทำผิดและเป็นของกลาง

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เจ้าพนักงานได้จับกุมตัวจำเลยที่ 19 ในคดีอาญา อ.884/2564 ได้ตามหมายจับของศาลอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 จำเลย 1 – 15 และที่ 19 ในคดีนี้เข้าพบพนักงานสอบสวนรับทราบข้อกล่าวหา ทำการสอบสวนแล้ว และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 จำเลยที่ 16 – 18 ในคดีนี้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จำเลยที่ 1 – 19 ให้การปฏิเสธ ทั้งนี้ ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด

หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาล ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมด กำหนดหลักประกันรายละ 35,000 บาท ในกรณีของจำเลยที่ 18 เคยมีประวัติการกระทำผิด จึงต้องวางหลักประกัน 70,000 บาท เป็นเงินรวมทั้งหมด 700,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน 22 พฤศจิกายน 2564

ขอบคุณภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP

+++ สั่งฟ้องประชาชน 4 ราย ถูกกล่าวหาว่าร่วม #ม็อบ11สิงหา ต่อมาศาลให้ประกัน เรียกเงินประกันรวม 140,000 บาท +++

7 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง เมษา เถื่อนมา และพวก รวมทั้งหมด 4 คน ต่อศาลอาญา กลุ่มผู้ต้องหาถูกจับบริเวณถนนราชวิถี เหตุจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ของกลุ่ม #ทะลุฟ้า บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215 และ 216 

>>> ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา จับกุมอีก 17 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย รอประกันตัวผู้ใหญ่พรุ่งนี้

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้ง 4 กับพวกอีก 1 คน ซึ่งถูกแยกฟ้องไปยังศาลเยาวชนฯ ได้ร่วมกันทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกับผู้ชุมนุมราว 200 คน ซึ่งทราบอยู่แล้วว่ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณที่บริเวณถนนราชวิถี วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยได้นำรถยนตร์พร้อมเครื่องเสียง ปราศรัยทำกิจกรรมที่ชื่อว่า #11สิงหาคมไล่ล่าทรราช ผ่านลำโพงที่ติดตั้งบนรถยนต์ มีเนื้อหาการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลในเรื่องการจัดหาวัคซีน กล่าวโจมตีมาตรการในการจับกุม สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564

ตามวันและเวลาดังกล่าว จำเลยทั้ง 4 ร่วมกับผู้ชุมนุมอีกราว 200 คน ยังได้กระทำการมั่วสุม ประทุษร้าย / ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้ายเจ้าพนักงาน โดยผู้กระทำการบางคนมีอาวุธ ทั้งหมดเดินรวมกลุ่มลงมาบริเวณรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ฯ ปิดกั้นการสัญจรของประชาชน เผาหุ่นฟางบนถนน ปาระเบิดปิงปอง ขวดแก้ว ขวดโซดา ถุงพลาสติกบรรจุสีซึ่งเป็นอาวุธเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ทั้งยังมีการเอาเสาธงตีเจ้าหน้าที่ การกระทำทั้งหมดเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้เลิก จำเลยและผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมเลิก

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ คฝ. 2 รายด้วยกันที่ได้รับบาดเจ็บ กล่าวคือ ขณะที่ ส.ต.ต. ฤทธิไกร ภาคสุโพธิ ผู้เสียหายที่ 1 และ ส.ต.ต. ศุภชัย สีแสง ผู้เสียหายที่ 2 กำลังทำหน้าที่เข้าควบคุมกลุ่มมวลชน จำเลยทั้ง 4 กับพวกได้ทำการตอบโต้ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่โดยการใช้ของแข็งอย่างขวด ก้อนหิน ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 โดยผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขา และแขนทั้ง 2 ข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแขนขวา 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมทั้ง 4 ส่งพนักงานสอบสวน ทั้งหมดให้การปฏิเสธ นอกจากนี้ คดีนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทั้ง 4 ในชั้นสอบสวน และศาลก็ได้อนุญาต ก่อนที่ต่อมาจะอนุญาตให้ประกันตัว

ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด กำหนดหลักประกันรายละ 35,000 บาท รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ จากเดิมที่ในชั้นสอบสวนเคยใช้ตำแหน่งของ ส.ส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดยศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

.

+++ สั่งฟ้อง “จิตรกร” เหตุร่วม #ม็อบ22สิงหา ระหว่างเจ้าตัวถูกคุมขังในอีกคดีความ เหตุครอบครองระเบิด +++

7 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง จิตรกร แจคโคบี จูเนียร์ ต่อศาลอาญา ในคดีความสืบเนื่องจากเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ22สิงหา โดยเขาถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, มาตรา 34 และ 35 ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ และมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. วิทยุคมนาคมฯ ขณะนี้ เขาถูกคุมขังอยู่ในอีกคดีตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุคล้ายระเบิดในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564

>>> #ม็อบ22สิงหา จับอีก 42 ราย เด็ก/เยาวชน 19 – เจ็บระนาว 15 เยาวชน 2 รายนำส่ง รพ. ที่เหลือนอนโรงพัก ถูกยึดโทรศัพท์ติดต่อ ผปค.ไม่ได้ ก่อนศาลให้ประกันตัวทั้งหมด

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 จำเลยกับผู้ชุมนุมราว 200 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง โดยได้เริ่มรวมตัวกันราว 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนเวลาประมาณ 19.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุม

แต่ทางจำเลยกับพวกได้เคลื่อนย้ายด้วยการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปยังบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปจนถึงบริเวณสามแยกฯ และมีการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่พยายามเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งมีผู้ชุมนุมราว 200 คน โดยการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีการประกาศให้ประชาชนรับทราบ และผู้ชุมนุมได้รับทราบคำสั่งแล้ว การจัดการชุมนุมของจำเลยกับพวกเป็นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน ขึ้นไป ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดที่ออกโดยมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

การชุมนุมดังกล่าวยังเป็นการชุมนุมมั่วสุม เป็นกิจกรรมที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ไม่มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามที่ทางรัฐบาลได้กำหนด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจำเลยกับผู้ชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้นใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

ตามวันและเวลาดังกล่าว จำเลยยังได้มีเครื่องวิทยุตามตัว ชนิดมือถือ มีหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม เป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับเครื่องหมายสัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียง ได้ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่วิทยุ ภาครับ/ภาคส่ง 245.0000 – 247.0000 เมกะเฮิตซ์ มีกำลังส่ง 4.2 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

อัยการยื่นฟ้องคดีนี้ขณะจิตรกรถูกฝากขังในอีกคดีหนึ่ง (คดีสืบเนื่องจากการชุมนุม #ม็อบ6ตุลา โดยเขาถูกจับกุมและถูกกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก่อนที่ต่อมา ศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว) 

ในส่วนของคดีนี้ ซึ่งได้ประกันตัวในชั้นฝากขัง เมื่อถึงกำหนดนัดรายงานตัว ทนายความจึงได้ทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่ได้มารายงานตัวต่อศาล ศาลจึงมีคำสั่งไม่ริบเงินประกัน และกำหนดนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 22 พฤศจิกายน 64 เวลา 9.00 น.

+++ ส่งฟ้อง ณัฐวุฒิ ถูกกล่าวหาว่าพยายามเผาประตูทำเนียบ ศาลให้ประกัน เรียกหลักประกัน 37,000 บาท +++

11 ตุลาคม 2564 – ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดหมายให้ ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) เดินทางมาที่ศาลเพื่อสอบคำให้การ โดยเขาถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เทน้ำมันราดประตูทำเนียบรัฐบาล ประท้วงนายกรัฐมนตรี เหตุพ่อติดโควิดหาเตียงไม่ได้ ในคืนวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ก่อนที่ต่อมา ณัฐวุฒิจะถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน และตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ตามลำดับ

สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ในนัดสอบคำให้การวันนี้ (11 ตุลาคม 2564) เขาได้ให้การปฏิเสธ ต่อมา ศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

>>> ศาลให้ประกัน! “ณัฐวุฒิ” ชายราดน้ำมันเตรียมเผาทำเนียบ ประท้วงนายกฯ เหตุพ่อติดโควิดแต่หาเตียงไม่ได้

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง อัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลากลางคืน จำเลยได้เตรียมกระทำความผิด วางเพลิงเผาทรัพย์ กล่าวคือ จำเลยได้เตรียมน้ำมันแก๊สโซฮอล์จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ลิตร บรรจุใส่ถังโลหะสี่เหลี่ยม (ปี๊บ) ขนาดประมาณ 5 ลิตร จากนั้นได้ขับรถจักรยานยนต์พร้อมกับนำปี๊บไปยังที่ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเทน้ำมันบนถนนในบริเวณดังกล่าวจนเกือบหมด อันเป็นการเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือสิ่งอื่นใดบนถนน ทั้งนี้ เพื่อวางเพลิงเผารั้วประตู 3 ทําเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักนายกรัฐมนตรีให้ได้รับความเสียหาย แต่เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่มาตรวจพบเสียก่อน จําเลยจึงได้รีบขับรถฯ หลบหนีไป

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดถังปี๊บโลหะเป็นของกลาง ซึ่งภายในยังมีน้ำมันเหลืออยู่จํานวนไม่มาก ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เจ้าพนักงานได้จับกุมตัวจําเลยส่งพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวน จําเลยให้การรับสารภาพ

ในชั้นสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนได้เคยยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออำนาจศาลฝากขังในชั้นสอบสวน ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังจำเลย ทนายจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว วางเงินสดเป็นหลักประกัน 37,000 บาท และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม

.

+++ สั่งฟ้องผู้ชุมนุม #ม็อบ23สิงหา ถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 5 เหตุครอบครองกัญชา พร้อมทั้งข้อหาจากการชุมนุม +++

11 ตุลาคม 2564 – ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดรายงานตัวและสอบคำให้การ สราวุฒิ (สงวนนามสกุล) ตกเป็นจำเลยสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 หรือ #ม็อบ23สิงหา โดยในระหว่างที่ถูกจับกุมนั้นเอง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า ผู้ต้องหาได้พกกัญชามาด้วยหนึ่งห่อ พร้อมกันนั้นยังตรวจพบบอลประทัด 26 ลูก และลูกแก้ว 30 ลูก โดยเขาถูกกล่าวหาในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครอง, ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว, มาตรา 215 และ 216, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคดีนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องไปตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564

>>> จับไม่เลิก! จับ 5 ปชช. รวม นักเรียน ม.1 หลังชุมนุม #ม็อบ23สิงหา ถูกกระสุนยาง 1 ราย ก่อนศาลให้ประกันทั้งหมด

ในส่วนของคำฟ้องของอัยการนั้น ระบุว่า จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมทางการเมืองอีกหลายคน ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 จำเลยออกจากที่พักในช่วงเวลาเคอร์ฟิว โดยทั้งหมดได้ไปรวมตัวกันที่บริเวณถนนอโศก-ดินแดง เรื่อยไปจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนไปถึงบริเวนแยกใต้ทางด่วน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เป็นการชุมนุมที่มีคนมาร่วมราว 100 คน เพื่อขับไล่รัฐบาล เป็นการชุมนุมที่แออัด สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 

นอกจากนั้น จำเลยและพวก รวมถึงผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันขว้างปาบอลประทัด ยิงหนังสติ๊กและขว้างปาสิ่งของต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้จำเลยและพวก รวมถึงผู้ชุมนุมหยุดการกระทำดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครยอมเลิก ในระหว่างการจับกุม พบว่าจำเลยมีกัญชาในครอบครอง และพบบอลประทัดที่ตัวจำเลย 26 ลูก และลูกแก้ว 30 ลูก

ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ และพนักงานสอบสวนได้เคยยื่นคำร้องต่อศาล ขอฝากขังจำเลยในชั้นสอบสวน และศาลก็ได้อนุญาตให้ฝากขัง กำหนดหลักประกัน 34,000 บาท พร้อมระบุให้สราวุฒิต้องติดกำไลติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) อัยการยังขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี 

หลังจากสอบคำให้การและจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยใช้หลักประกันเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นสอบสวน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น.

.

+++ สั่งฟ้อง ‘ชลธิชา’ ‘ชาติชาย’ และ ‘หมอทศพร’ เหตุร่วมชุมนุมหน้าเรือนจำ 19 ตุลา 63 ต่อมาศาลให้ปล่อยชั่วคราว ไม่เรียกหลักประกัน +++

12 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้มีคำสั่งฟ้องคดี ชลธิชา แจ้งเร็ว, ชาติชาย แกดำ, และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีความสืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่ด้านหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจํากลางคลองเปรม เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มาตรา 10, ข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 109, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4, และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องของอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 จำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังภายในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจํากลางคลองเปรม โดยมีการกล่าวข้อความปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมและเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเราออกจากเรือนจํา ให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกไป และร้องเพลงปลุกระดม โดยแสดงออกต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนประมาณ 300 คน โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อ พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ วงษ์หอมหวล ผู้กํากับการ สน.ประชาชื่น หัวหน้าสถานีตํารวจในท้องที่ที่มีการชุมนุม

ผู้เข้าร่วมในการชุมนุมราว 300 คน ยังยืนกีดขวางบริเวณทางเท้าหน้าเรือนจำ และยืนกีดขวางการจราจรบนถนนงามวงศ์วานขาออก จนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรของประชาชนทั่วไป ทั้งยังมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 

คดีนี้ได้พ้นกำหนดระยะเวลาผัดฟ้อง โจทก์จึงขออนุญาตฟ้องต่ออัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุดซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้ง 3 แล้ว ในส่วนท้าย อัยการระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษของจำเลยทั้ง 3 ในคดีนี้ต่อจากคดีที่ถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ด้วย 

หลังฟังคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้จำเลยสาบานตน และหากผิดนัดศาลจะปรับ 20,000 บาท กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ/นัดพร้อม/ตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น.

.

X