จับไม่เลิก! จับ 5 ปชช. รวม นักเรียน ม.1 หลังชุมนุม #ม็อบ23สิงหา ถูกกระสุนยาง 1 ราย ก่อนศาลให้ประกันทั้งหมด

วานนี้ (23 ส.ค. 64) เวลาประมาณ 21.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีการจับกุมประชาชน 3 ราย บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง หลังผู้ชุมนุมอิสระและกลุ่มทะลุแก๊ซได้นัดหมายชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงในการชุมนุม #ม็อบ23สิงหา 

ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้ง 3 ราย เป็นชายอายุ 23 และ 29 ปี และมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อายุ 13 ปี รวมอยู่ด้วย โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวมาจัดทำบันทึกจับกุมที่ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหาเหมือนๆ กัน ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, มาตรา 216 และฝ่าเคอร์ฟิว  

ด้าน อ้น (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 13 ปี ผู้ปกครองได้มารับกลับ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้นัดให้ผู้ปกครองพาเยาวชนไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันรุ่งขี้น (24 ส.ค. 64) เวลา 13.00 น. พร้อมกับนัดสอบคำให้การกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 ส.ค. 64

ส่วนสราวุฒิ (สงวนนามสกุล) และทิว (นามสมมติ) ประชาชนอีก 2 ราย หลังเสร็จการสอบปากคำได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส.เป็นเวลา 1 คืน 

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันที่ 24 ส.ค. 64 ยังได้รับรายงานกรณีจับกุมวัยรุ่นอายุ 19 ปี อีก 2 ราย ในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพื้นที่การชุมนุม #ม็อบ23สิงหา ทำให้มีผู้ถูกจับกุมหลังการชุมนุม #ม็อบ23สิงหา ทั้งหมดอย่างน้อย 5 ราย 

วันนี้ (24 ส.ค. 64) พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ควบคุมตัวทิวไปขออำนาจศาลแขวงพระนครเหนือฝากขัง ในขณะที่สราวุฒิ พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลอาญา รัชดา ฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากสราวุฒิถูกแจ้งข้อหามียาเสพติด (กัญชา) ไว้ในครอบครองอีก 1 ข้อหา ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า 3 ปี 

โดยต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทิว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมกำหนดนัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 23 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. 

ด้านศาลอาญา หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขังสราวุฒิ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (EM) และวางเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

โดยศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยวางเงินประกันจำนวน 34,000 บาทพร้อมติดกำไลติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (EM) ทั้งนี้ ศาลยังกำหนดเงื่อนไข ห้ามออกนอกเคหะสถานอันเป็นที่อยู่อาศัยระหว่างเวลา 15.00 – 06.00 น. ห้ามกระทำการอันเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วม ยุยง หรือส่งเสริมในกิจกรรมหรือการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก หากทำผิดเงื่อนไข ศาลจะเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  สำหรับสราวุฒิ ศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้ง 11 ต.ค. 64 เวลา 8.30 น.

กรณีของสราวุฒิและทิวนั้น พนักงานสอบสวนได้คัคค้านการปล่อยชั่วคราวด้วยเหตุผลเดียวกัน กล่าวคือ คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์การกระทำความผิดนั้นไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมนั้นไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งยังมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจนได้รับบาดเจ็บ หากได้รับการประกันตัว อาจก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ 

ขณะที่ศาลเยาวชนฯ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวเยาวชนไว้ ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องแถลงประกอบการไต่สวนการตรวจสอบการจับ โดยขอคัดค้านการออกหมายควบคุมหรือหมายขัง หรือถ้าหากศาลมีคำสั่งออกหมายควบคุม ขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

ต่อมา ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งออกหมายควบคุมตัวไว้ แต่มีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน โดยกำหนดนัดพบพนักงานคุมความประพฤติที่สถานพินิจวันที่ 1 ก.ย. 64 และนัดพบผู้ให้คำปรึกษา ที่ศาลเยาวชนกลางวันที่ 5 ต.ค. 64

ในส่วนวัยรุ่น 2 ราย ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว ทั้งสองให้การรับสารภาพ ในวันนี้พนักงานสอบสวนจึงนำตัวส่งพนักงานอัยการ และอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต แต่ไม่มีข้อมูลว่า ศาลพิพากษาอย่างไร  

.

จับประชาชนหลังเวลาเคอร์ฟิว  รวมเยาวชนอายุ 13 ปี 

เวลาราว 21.07 น. สำนักข่าวรายงานกรณีการจับกุมประชาชนอย่างน้อย 3 ราย โดยเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว จากนั้นได้ควบคุมตัวทั้งสามขึ้นรถกระบะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมยึดรถจักรยานยนต์อีก 2 คัน ก่อนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะได้รับแจ้งว่า ประชาชนทั้งสามรายถูกควบคุมตัวไปที่ บช.ปส. 

หลังจากทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความฯ ติดตามไปที่ บช.ปส. จึงพบผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ สราวุฒิ อายุ 23 ปี, ทิว อายุ 28 ปี และเยาวชนอายุ 13 ปี โดยทั้งหมดถูกจับกุมช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ที่บริเวณแยกดินแดง 

สราวุฒิเผยว่า ขณะตนกำลังขับรถจักรยานยนต์ผ่านแยกดินแดง ถูกรถกระบะขับจี้มาด้านท้าย จากนั้นถูกจักรยานยนต์อีกคันขับตัดหน้า ทำให้รถของตนล้มลง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ คฝ.ประมาณ 7-8 นาย ลงจากรถกระบะคันดังกล่าว จับตนกดลงกับพื้น ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ใช้เข่ากดไปที่ต้นคอด้านหลัง และถูกบิดแขนไพล่ไปด้านหลังเพื่อใส่เคเบิลไทร์ โดยสราวุฒิเล่าว่า ระหว่างถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ได้กดทับแขน, ขา และหลังขาก่อนที่จะถูกหิ้วตัวขึ้นรถตำรวจในเวลาต่อมา สำหรับรถจักรยานยนต์ของสราวุฒินั้นถูกยึดเป็นของกลางด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัวบนรถ สราวุฒิได้ยินเจ้าหน้าที่นายหนึ่งกล่าวว่า “มึงขับรถกวนตีนหรอ” พร้อมกับชกเข้าที่แก้มด้านซ้ายของสราวุฒิ 

ส่วนทิวเล่าเหตุการณ์ก่อนจับกุมว่า ถูกจับกุมขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกไปรับน้องกลับบ้านเวลา 20.20 น. เมื่อขับมาถึงแยกดินแดง ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงกระสุนยางเข้าบริเวณกลางอกเยื้องไปทางซ้าย และถูก คฝ. 1 นาย ง้างกระบองทำท่าจะเข้าตี  คฝ.อีกนายดึงกุญแจรถไป ก่อนที่อีกนายจะเข้ามาล็อคแขนทั้งสองข้าง จับไพล่หลัง และรัดข้อมือด้วยเคเบิลไทร์ 

ด้านอ้นระบุว่า ตนไปที่แยกดินแดงเพราะเพื่อนเล่าว่ามีการแจกอาหารฟรี ก่อนที่จะถูก คฝ.เข้าจับกุม โดยสั่งให้นั่งลงและเอามือไพล่หลัง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้นำเคเบิลไทร์มามัดข้อมือไว้ โดยหลังจากไปถึง บช.ปส. ทนายความพบว่า ที่ข้อมือของอ้นมีรอยช้ำ และหัวโนจากการสะดุดล้มบนรถตำรวจ และมีวัตถุกระแทกเข้าที่ศีรษะ

เมื่อทั้งสามมาถึง บช.ปส. พนักงานชุดจับกุมได้จัดทำบันทึกจับกุม โดยบรรยายพฤติการณ์การจับกุมโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนมารวมตัวกันที่ถนนอโศกดินแดงถึงสามเหลี่ยมดินแดงและแยกใต้ทางด่วน ถนนวิภาวดี ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมสถานการณ์และจับกุมตัวผู้กระทำผิด พบมีผู้ชุมนุมที่ไม่เลิกการชุมนุม และขัดขืนโดยการวิ่งหลบหนี ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงได้เข้าควบคุมตัวสราวุฒิและทิวได้ในเวลาประมาณ 21.15 น. เมื่อตรวจค้นตัวทั้งสอง ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดในตัวทิว แต่พบระเบิดปิงปอง กัญชา และลูกแก้วในกระเป๋าเป้ที่สราวุฒิสะพายอยู่ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่า เป็นมือถือที่สราวุฒิใช้ถ่ายภาพในการชุมนุม และติดต่อนัดหมายการชุมนุม จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นวัตถุพยาน เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ของทั้งสอง และแม้สราวุฒิจะไม่ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหาแก่สราวุฒิ อันได้แก่ 

  1. ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความ วุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทําผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ”
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก”
  4. มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครอง
  5. ออกนอกเคหะสถานในเวลาห้าม 21.00 – 04.00 น. ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 22 ก.ค. 64 

ส่วนทิวนั้นถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216, ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 22 ก.ค. 64 ห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลา 21.00 – 04.00 น.

โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน โดยไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป 

ด้านบันทึกการจับกุมอ้น เยาวชนอายุ 13 ปี บรรยายพฤติการณ์การจับกุมคล้ายคลึงกับกรณีของสราวุฒิและทิว โดยในบันทึกการจับกุมในระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แจ้งข้อหาทั้งหมด 4 ข้อหา เช่นเดียวกับทิว โดยอ้นให้การปฏิเสธทุกข้อหา ยกเว้นข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินห้ามออกนอกเคหสถานที่ให้การรับสารภาพ

อย่างไรก็ตาม อ้นไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม โดยที่ปรึกษากฎหมายได้ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ว่า ผู้ต้องหาไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากในขณะการทำจับกุม ผู้จับกุมมิได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าการกระทำผิดตามบันทึกการจับกุมเป็นอย่างใด และไม่ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นผู้เยาว์ทราบ นอกจากนี้ พนักงานชุดจับกุมยังได้นำตัวเยาวชนมาควบคุมไว้ที่ บช.ปส. ซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่จับกุม คือ สน.ดินแดง ตามกฎหมาย อีกทั้งพฤติการณ์ข้อเท็จจริงตามบันทึกจับกุมยังไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง 

นอกจากนี้ ผู้ถูกจับกุมทั้งสามยังได้ยื่นหนังสือขอให้พนักงานสอบสวนนำตัวไปสอบสวนและควบคุมในท้องที่ที่รับผิดชอบ กล่าวคือ สน.ดินแดง อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และมาตรา 84 

.

X