แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 2 ผู้ร่วมคาร์ม็อบปทุมฯ ก่อนส่งฝากขัง-ค้านให้ประกัน แม้ทั้งสองเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก

18 สิงหาคม 2564 ที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี ได้นัดหมาย 2 นักกิจกรรม ได้แก่ สุธิลา ลืนคำ และกุลวดี ดีจันทร์ เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) เหตุเพราะถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยในวันดังกล่าว พบว่ามีเจ้าหน้าที่ คฝ. จำนวนหนึ่งยืนรักษาความปลอดภัยรอบโรงพัก ต่อมาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือในวันที่ 1 กันยายน 2564

ในส่วนของบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของทั้งสองมีเนื้อความ ระบุว่า ในคดีนี้ผู้แจ้งความกล่าวโทษคือ พ.ต.ท.ชาติ แสงวงศ์ สารวัตรสืบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และมีคณะพนักงานสอบสวน ได้แก่ พ.ต.ท.ไพรรัตน์ วรรณี สว.(สอบสวน) สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์, พ.ต.ท. สิทธิชัย สิทธิประภา สว.(สอบสวน)ฯ และ ร.ต.อ.ประพันธ์ เรืองสุวรรณ์ รอง สว.(สอบสวน)ฯ 

โดยมีพฤติการณ์ในคดีกล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตํารวจได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ พบว่า มีการโพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กในเพจที่ใช้ชื่อว่า “ปทุมไม่ทน” ระบุข้อความเกี่ยวกับการนัดรวมพลกิจกรรมคาร์ม็อบเวลา 12.00 น. หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รังสิต เพื่อเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ ในเวลา 12.30 น. เพื่อร่วมกับมวลชนกลุ่มหลักในเมือง ทางผู้บังคับบัญชาจึงได้สั่งการให้ พันตํารวจโท ชาติ แสงวงศ์ พร้อมพวก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตํารวจกองกํากับการสืบสวนตํารวจภูธรจังหวัดปทุมธานี, ตํารวจสันติบาลปทุมธานี และฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.จ.ปทุมธานี นํากําลังเข้าสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. เริ่มมีมวลชนนํายานพาหนะมาจอดเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โดยมวลชนกลุ่มที่ 1 มีกุลวดี ดีจันทร์ เป็นผู้นํา นำยานพาหนะมาจอดหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต โดยมีรถยนต์เข้าร่วมประมาณ 20 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 15 คัน และมีมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน จนถึงเวลาประมาณ 11.20 น. ขบวนกลุ่มมวลชนแดงปทุมธานีจึงได้เริ่มเคลื่อนขบวน มุ่งหน้ายังเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. เริ่มมีมวลชนกลุ่มที่ 2 นํายานพาหนะมาจอดเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม มีสุธิดา ลืนคํา ผู้นํากลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เป็นผู้นำ นํายานพาหนะมาจอดยังหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค โดยมีจํานวนพาหนะที่เข้าร่วม เป็นรถยนต์ประมาณ 20 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 10 คัน จนถึงเวลาประมาณ 12.23 น. ได้มีมวลชนกลุ่มที่ 3 นําโดย ชาติชาย แกดํา (ถูกดําเนินคดีที่ สภ.ปากคลองรังสิต ไว้แล้ว) เป็นผู้นํามวลชนกลุ่มดังกล่าวมาร่วมกับมวลชนกลุ่มที่ 2 โดยมีจํานวนพาหนะที่เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น เป็นรถยนต์ประมาณ 40 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 25 คัน และมีมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 80 คน จนถึงเวลา เวลาประมาณ 12.40 น. มวลชนกลุ่มที่ 2 และ 3 จึงได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ

+++ เปิดบันทึกคำร้องฝากขัง อ้างผู้ต้องหาอาจไป “ก่อเหตุภยันอันตรายประการอื่น” ทั้งยืนยันว่าเรือนจำมีมาตรการป้องกันการะบาด แม้ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสในเรือนจำก็ตาม +++

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสอบปากคำเสร็จ พนักงานสอบสวนในคดีได้แจ้งว่า จะพาตัวทั้งสองไปยังศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน แม้ว่าผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกด้วยตัวเอง ไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี 

พนักงานสอบสวนอ้างเหตุผลในการขอฝากขัง แม้ผู้ต้องหาได้ปรากฏต่อหน้าพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับกุมว่า เนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น โดยที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานอีก 5 ปาก รวมถึงต้องรอผลตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษผู้ต้องหา 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังระบุอีกด้วยว่า หากผู้ต้องหาจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้าน เนื่องจากผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีในลักษณะความผิดเดียวกับในคดีนี้ ได้แก่ คดีของ สน.ทุ่งสองห้อง ในความผิดฐาน “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว อาจทำให้ปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เกิดการแพร่กระจาย โดยได้แนบสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด 19 เป็นตัวเลขตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 มาด้วย

พนักงานสอบสวนยังระบุอีกด้วยว่า การทำกิจกรรมของผู้ต้องหาและมวลชนไม่ได้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ไม่ได้มีการเว้นระยะห่างหรือมีมาตรการอื่นใดในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งกำหนดพื้นที่ควบคุมโรคของทางสาธารณสุขจังหวัด หรือคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด 

พนักงานสอบสวนยืนยันด้วยว่า หากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว ทางสถานที่กักขังก็ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นมาตรฐาน โดยยกแนวทางปฏิบัติมาตรฐานเรือนจำสีขาวมาอ้าง ทั้งระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นแกนนำจัดกิจกรรม หากปล่อยตัวอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคกระจายจากผู้ร่วมกิจกรรมไปยังบุคคลใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องทวีคูณ เป็นความเสียหายร้ายแรงกว่าเมื่อเทียบกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้

พนักงานสอบสวนยังระบุอีกว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว อ้างตามมาตรา 108/1 (3) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งอ้างรายงานการสืบสวนของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ระบุว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้เคยเป็นแกนนำการชุมนุม โดยร่วมกับแกนนำกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยผู้ต้องหายังมีการโพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 และการต่อต้านรัฐบาล จึงเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาอาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตต่อกรณีคำร้องดังกล่าวของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในเรือนจำที่พนักงานสอบสวนอ้างถึง เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ในกรณีของผู้ที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดแล้วตอนนี้ถึง 5 รายด้วยกัน โดยรายล่าสุดคือ แซม ซาแมท จึงน่าตั้งคำถามว่า มาตรการที่พนักงานสอบสวนกล่าวถึงนั้นสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริงหรือไม่

>>> ไม่ให้ประกัน! 9 นักกิจกรรม เหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา หน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ศาลธัญบุรีระบุไม่เกรงกลัวกม.บ้านเมือง

>>> แจ้งข้อหา 4 คดี 5 นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” กรณีสาดสีหน้า สน. ทุ่งสองห้อง-พรรค พปชร.-ภูมิใจไทย-หล่อเทียนพรรษา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน “ไผ่” อ้างจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ต่อมา ทางทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน ระบุเหตุผลหลายประการ ได้แก่ พฤติการณ์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภ่พในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดา ไม่อาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ รายชื่อพยานเอง ตัวผู้ต้องหาก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นใคร การตรวจสอบต่างๆ ก็เป็นกระบวนการภายในของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน ไม่เคยคิดหลบหนี หากพนักงานสอบสวนเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทําการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็สามารถที่จะใช้อํานาจในการจับกุม ออกหมายเรียก หรือดําเนินการตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ ทางผู้ต้องหายังได้ขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนมาเพื่อไต่สวนชี้แจงเหตุผลในการขอฝากขัง และนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบในการไต่สวน

อย่างไรก็ตาม ศาลกลับมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องฝากขังตามที่ทางทนายความร้องขอ และได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้ต้องหา เห็นว่า คดีนี้สามารถวินิจฉัยและมีคำสั่งได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ให้งดการไต่สวน เมื่อพิจารณาคำร้องฝากขังและเอกสารของพนักงานสอบสวน เห็นว่า ผู้ต้องหาน่าจะไปกระทำความผิดทางอาญา น่าจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุร้ายประการอื่น

ท้ายสุด ทางทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องมีประกัน และได้ชี้แจงเหตุผลที่คล้ายกันในคำร้องคัดค้านการฝากขัง มีการเพิ่มประเด็นเรื่องพฤติการณ์ของผู้ต้องหาในคดี ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 108/1 แต่อย่างใด ขอให้ศาลยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหานั้นไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 29 วรรค 2 หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี จะต้องมีข้อเท็จจริงประกอบในการใช้ดุลยพินิจ เช่น ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติการณ์ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ หรือต้องการจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร หากศาลใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้วางหลักประกัน ผู้ต้องหาก็พร้อมยินยอมวางหลักประกันตามที่กำหนด

จนกระทั่งในช่วงเย็นของวานนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน โดยกำหนดให้วางหลักประกันเป็นเงินจำนวนรายละ 20,000 บาท ทนายความได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกันต่อศาล โดยศาลกำหนดนัดให้ทั้งสองไปรายงานตัวในวันที่ 7 ตุลาคม 2564

.

X