นำตัว 2 เยาวชน ร่วม #ม็อบย่างกุ้ง ตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนกลาง รับปีใหม่ 2564

หลังวานนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าจับเยาวชนอายุ 17 ปี 2 ราย จากสนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมประชาชนและนักกิจกรรมกลุ่ม WeVo หรือ  We Volunteer อีก 14 ราย ขณะกำลังเริ่มกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจำหน่ายกุ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หลังตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ. ปทุมธานี ตั้งแต่ช่วงเย็นของวานนี้ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ให้ประกันตัว   

>>> ตร.ไม่ให้ประกันหลังจับ 16 ปชช.ร่วมกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค1 ส่งฝากขัง 2 ม.ค.

วันนี้ (1 ม.ค. 2564) หลังการควบคุมตัวเยาวชนไว้กว่า 17 ชั่วโมง ที่ บก. ตชด. ภาค 1 และเดินทางไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พันตำรวจโทโชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน. ชนะสงคราม นำตัวเยาวชน ภูมิ หัวลำโพง (นามสมมุติ) และปลื้ม (นามสมมุติ) มาถึงศาลเยาวชนฯ ในเวลา 10.30 น. จากนั้นได้ยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ตรวจสอบการจับภูมิและปลื้มว่า การปฏิบัติของพนักงานผู้จับต่อเยาวชนถูกต้องหรือไม่  

 

 

12.00 น. ผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ เริ่มทำการสอบถามเยาวชนทั้งสอง กว่าจะเสร็จสิ้นใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อหาการสอบถามและคำร้องตรวจสอบการจับระบุว่า การจับกุมเยาวชนทั้งสองกระทำไปโดยละมุนละม่อม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, มีการแจ้งเหตุการจับแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย, มีการแสดงตนเป็นพนักงาน และแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ ไม่มีการระบุว่าการจับในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับต่อเยาวชนหรือแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้เยาวชนทั้งสองทราบ และมิได้ใช้วิธีการเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน 

ในวันเดียวกันนี้ พนักงานสอบสวน สน. ชนะสงคราม ยังได้ยื่นคำร้องขอควบคุมตัวเยาวชนทั้งสองจนกว่าจะสรุปสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ทางที่ปรึกษากฎหมายของเยาวชนได้คัดค้านการควบคุมตัวเป็นวาจาต่อศาลเยาวชนฯ โดยแถลงถึงเจตนาของภูมิ หัวลำโพงว่าต้องการไปซื้อกุ้งและกินกุ้ง ส่วนปลื้มไปที่เกิดเหตุเพราะเป็นจิตอาสา กู้ชีพ นอกจากนี้ ทั้งคู่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีผู้ปกครองดูแล 

13.45 น. ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ควบคุมตัวตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ต่อมา ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยให้ทำสัญญาประกันแบบไม่มีหลักประกัน แต่หากผิดสัญญาจะปรับผู้ปกครองของภูมิ จำนวน 6,000 บาท และผู้ปกครองของปลื้ม จำนวน 3,000 บาท ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามทั้งสองกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก 

14.00 น. เยาวชนทั้งสองลงชื่อในสัญญาประกันตามที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเดินทางกลับพร้อมผู้ปกครอง ศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 15 ก.พ. 2564  

 

แจ้งข้อหา 2 เยาวชน ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จัดให้กิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย  

วานนี้ (31 ธ.ค. 2563) พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาภูมิ หัวลำโพง รวม 3 ข้อหา คือ

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 63 ข้อ 3 ประกอบประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 29 ธ.ค. 63 ข้อ 1“ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค”
  2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ”
  3. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ทั้งนี้ ภูมิถูกดำเนินคดีรวมคดีนี้เป็นคดีที่ 4 ทั้ง การชุมนุม #คณะราษฎร 13 ตุลา, #ม็อบ16 ตุลา แยกปทุมวัน, ปาไข่-สาดสี หน้า ม.พัน 4 ทวงถามการลงโทษทหารล็อคคอผู้ชุมนุม และ #ม็อบย่างกุ้ง  

ขณะที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาปลื้ม 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  โดยไม่มี พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ  

ทั้งนี้ประชาชนอีก 14 คน ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ตั้งแต่คืนวาน จะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังในพรุ่งนี้ (2 ม.ค. 2564) เวลา 9.00 น. 

 

ตรวจสอบการจับกุมสิทธิของเยาวชนในชั้นจับกุม

ขั้นตอนการตรวจสอบจับกุม เป็นขั้นตอนในชั้นจับกุม ซึ่งเป็นสิทธิของเยาวชนที่พนักงานสอบสวนตัองนำตัวเยาวชนมาปรากฎตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจ เพื่อ “ตรวจสอบการจับกุม” ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชน หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์กรที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และสั่งให้บุคคลดังกล่าวพาเด็กหรือเยาวชนไปศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 24 ชั่วโมงก็ได้  

การตรวจสอบการจับกุมนี้มีกระบวนการ คือ เมื่อเด็กและเยาวชนเดินทางมาถึงศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะทำการสอบถามเด็กหรือเยาวชนว่า ถูกจับกุมโดยถูกต้องหรือไม่ ตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ศาลจะสอบถามว่าในขณะการจับกุม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนนั้น โดยแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาว่าเขาต้องถูกจับหรือไม่, แจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบหรือไม่, กรณีมีหมายจับได้แสดงต่อผู้ถูกจับหรือไม่, นำตัวไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที (ท้องที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือ สน. ชนะสงคราม) และแจ้งเหตุแห่งการจับกุมให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์กร ซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่

การตรวจสอบการจับกุมจะทำเฉพาะกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม โดยไม่ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น 

 

X