ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกคดี จากชุมนุม #อีสานสิบ่ทน “บอย” ชี้เป็นคดีขัดขาประชาชน

1 ต.ค. 2563 เป็นนัดรายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม และฟังผลการพิจารณาสั่งคดีในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 โดย “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิก “แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย” พร้อมอาจารย์และประชาชนที่มาให้กำลังใจเดินทางเข้าพบอัยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามในเวลา 09.30 น. ตามนัดหมาย

พงศธรณ์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า อัยการอยู่ที่ศาลจังหวัดมหาสารคามแล้ว กำลังยื่นฟ้องคดีต่อศาล และให้พงศธรณ์เดินทางตามไป

หลังจากพงศธรณ์เดินทางถึงศาลจังหวัดมหาสารคามในเวลาประมาณ 10.00 น.  เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังห้องควบคุมตัวสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่รอการประกันตัว ก่อนจะถูกนำตัวไปพบผู้พิพากษาที่ห้องไกล่เกลี่ย ผู้พิพากษาได้อ่านคำฟ้องของอัยการ และถามคำให้การเบื้องต้นของจำเลย พงศธรณ์ให้การปฏิเสธเช่นเดียวกับที่ให้ไว้ในชั้นสอบสวน ศาลนัดสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 2563 พงศธรณ์ถูกนำตัวกลับไปยังห้องควบคุมตัว ขณะทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกัน

เวลาประมาณ 12.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพงศธรณ์โดยมีประกันในวงเงิน 20,000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางเงินประกันในวันนี้ หากผิดสัญญาประกันศาลจึงจะบังคับเงินจำนวนนี้จากจำเลย

หลังได้รับการปล่อยตัว พงศธรณ์ให้ความเห็นต่อการที่อัยการมีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้ว่า คดีแบบนี้เป็นคดีที่ใช้ในการขัดขาการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่า จะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาขัดขวางในทางการเมือง สุดท้ายก็นำมาใช้ พยายามสร้างความกลัวให้คนทั่วไปไม่กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ถึงยังไงก็ไม่ได้มีทีท่าว่าแกนนำหรือคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างผมจะกลัวหรือถดถอย มีแต่จะสู้ไปข้างหน้าเรื่อยๆ

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง คดีที่ 3 ที่มีการยื่นฟ้องต่อศาล ก่อนหน้านี้ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ถูกฟ้องจากกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ และ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย และธนาธร วิทยเบญจางค์ 2 นักศึกษา ถูกฟ้องจากการชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย รวมทั้งยังมีอีก 18 คดี ที่ยังอยู่ในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและอัยการ

ในคดีนี้ ร.ต.อ.บัณฑิต กระโทกนอก พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม ยื่นฟ้องพงศธรณ์ในความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

คำฟ้องของอัยการมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลากลางวันถึงกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายรวม 2 กรรม กล่าวคือ

ก. จำเลยได้จัดให้มีกิจกรรมด้วยการเชิญชวนกลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป หรือผู้มีอุดมการณ์เดียวกันให้ไปร่วมกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” ประชุมประท้วงรัฐบาลในนาม กลุ่มสมัชชานิสิตนักศึกษาภาคอีสาน ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อันเป็นสถานที่แออัด มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากประมาณ 1,800 – 2,000 คน ในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่มีบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 ม. ไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อไม่ให้แออัด และไม่จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งไม่จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 2(2) ของข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558   และข้อ 4.5 ของประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 13/2563 ทั้งนี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยไม่ได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย 

ข. จำเลยได้โฆษณาด้วยการพูดบอกกล่าว แจ้งความ ชี้แจง แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลแก่ประชาชนทั่วไป โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

ซึ่งการกระทำดังกล่าว พนักงานอัยการถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4

ในท้ายคำฟ้องอัยการระบุว่า หากจำเลยขอประกันตัว โจทก์ไม่คัดค้าน

ทั้งนี้ ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

 

 

X