อัยการสั่งฟ้อง 7 ผู้ชุมนุมงานรำลึกเสธฯ แดง ข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลให้ประกันวงเงิน 20,000 บาท

วันนี้ (25 ม.ค. 64) พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 7 ผู้ชุมนุมรำลึกครบรอบ 10 ปีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 ที่บริเวณสวนลุมพินี ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน​ พ.ศ. 2548 

ผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีนี้มีทั้งหมด 8 คน ได้แก่ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, เสาวนีย์​ สมพิชัย​, ธานี​ สะสม​, สมจิตร​ สอนศรี​, ธัญวลัย ฝรั่งทอง​, นวพร​ เจริญ​ลาภ, วลี​ ญานะหงสา และมณฑา​ แสงเปล่ง โดยอนุรักษ์ถูกจับกุมขณะเข้าร่วมกิจกรรมที่สวนลุมพินีและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยวงเงิน 30,000 บาท ขณะที่อีก 7 ผู้ต้องหาที่เหลือได้รับหมายเรียกจากสน.ลุมพินีในวันที่ 8 มิ.ย. 63 ก่อนจะเข้ารับทราบข้อหาเดียวกัน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63

ต่อมา อัยการได้นัดผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมารายงานตัวก่อนหน้านี้รวมทั้งหมด 3 ครั้ง โดยยังไม่มีคำสั่งทางคดี จนกระทั่งอัยการได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้

>> 7 ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึก 10 ปีการเสียชีวิตเสธฯ แดง เข้ารับทราบข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในวันนี้ผู้ต้องหาทั้งหมด ยกเว้น วลี มารายงานตัวและฟังคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการบรรยายคำฟ้อง โดยสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. 63 และได้อาศัยอำนาจตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดซึ่งรวมไปถึง ข้อกำหนดข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้ารับผิดชอบ หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (2) เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด 19 มิให้ขยายไปในวงกว้าง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย. 63 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ​ ที่ใดๆ 

ทั้งนี้ ในประกาศกำหนดห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ได้ระบุให้มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลด้วย ซึ่งประกาศทั้งหมดที่กล่าวถึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบแล้ว

ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีออกประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เม.ย. 63 ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 63 ทำให้ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ​ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอื่น 

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 63 อนุรักษ์ได้นำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยโพสต์เชิญชวนให้ไปจุดเทียนทางดอกไม้ เพื่อคารวะดวงวิญญาณของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ที่บริเวณศาลาแดง เวลา 18.00 น.

ต่อมา วันที่ 13 พ.ค. 63 เวลา 17.00 ถึง 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่อนุรักษ์ได้นัดหมาย จำเลยทั้งหมดได้บังอาจจัดให้มีกิจกรรมแจกดอกไม้ แจกเทียน และดูแลบริเวณพิธีรำลึกและบังอาจชุมนุมทำกิจกรรมถ่ายรูป โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 40 คน รวมถึงมีนักข่าว สื่อมวลชนมาร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ดังนั้น จึงเป็นการจัดกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้ จำเลยผู้เป็นจัดกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมจากหัวหน้าสน.ลุมพินี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นซึ่งเป็นผู้มีอํานาจอนุญาตตามกฎหมาย ทั้งยังไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม นักข่าว และสื่อมวลชนอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย

นอกจากนี้ ยังใช้ระยะเวลาทํากิจกรรมเป็นเวลานาน ที่บริเวณข้างทางลงสถานีรถไฟใต้ดิน สถานีสีลมฝั่งสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ห้ามการชุมนุมและการทํากิจกรรมตามที่ได้มีการประกาศกําหนดสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้โดยไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย 

ดังนั้น จำเลยทั้ง 8 คนจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อที่ 5 “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

หลังจากอัยการยื่นฟ้อง ทนายความและจำเลยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 7 คน โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุน “ราษฎรประสงค์” ซึ่งช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ต่อมา ศาลแขวงปทุมวันอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในวงเงินคนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนวลี ซึ่งติดภารกิจไม่สามารถมาฟังคำสั่งอัยการในวันนี้ จะเดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องต่อไปในวันที่ 27 ม.ค. 64 

สำหรับนัดต่อไป ศาลแขวงปทุมวันนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 27 เม.ย. 64 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

X