7 ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึก 10 ปีการเสียชีวิตเสธฯ แดง เข้ารับทราบข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

9 ก.ค. 63 เวลา 13.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ประชาชน 7 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 10 ปี การถูกยิงเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธฯ แดง” เมื่อเย็นวันที่ 13 พ.ค. 63 บริเวณสวนลุมพินี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

สำหรับกิจกรรมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 ได้มี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ พร้อมกับมวลชนเสื้อแดงประมาณ 40 คน ได้เดินทางมาวางดอกไม้และจุดเทียน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี เพื่อร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ถูกยิงเสียชีวิตของเสธฯ แดง ระหว่างการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

แต่ภายหลังกิจกรรม ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้เข้าจับกุมตัวนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ นักกิจกรรมเสื้อแดงและแกนนำจัดกิจกรรม ไปยังสถานีตำรวจ ก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย แม้อนุรักษ์จะยืนยันว่าผู้เข้าร่วมได้มีการสวมหน้ากากอนามัย และจัดระยะห่างในการทำกิจกรรมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าผู้เข้าร่วมได้มีการจับกลุ่มคุยกัน และถ่ายภาพร่วมกันอย่างแออัด ทั้งผู้เข้าร่วมบางรายยังไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย นายอนุรักษ์ต้องทำการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยวงเงิน 30,000 บาท

 

ภาพกิจกรรมรำลึก 10 ปี การเสียชีวิตเสธฯ แดง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

 

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี กลับได้ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอีก 7 ราย ได้แก่ 1. เสาวนีย์​ สมพิชัย​, 2. ธานี​ สะสม​, 3. สมจิตร​ สอนศรี​, 4. ธัญวลัย ฝรั่งทอง​, 5. นวพร​ เจริญ​ลาภ, 6. วลี​ ญานะหงสา และ 7.​ มณฑา​ แสงเปล่ง ให้มารับทราบข้อกล่าวหาเดียวกันกับนายอนุรักษ์ โดยคดีมี พ.ต.ท.ปภาวิน ห้องพ่วง เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาไว้

ทั้ง 7 คน ได้นัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้ และได้ถูุกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุพฤติการณ์เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเข้าติดตามกิจกรรมได้ให้นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ มาพูดคุยแจ้งเตือนให้ทราบว่ากิจกรรมนี้มีการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 16 จำนวน 2 คน เข้ามาแนะนำนายอนุรักษ์เกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การล้างมือด้วยเจล การให้เข้าจุดตรวจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดไว้ และให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

จากการตรวจวัดไข้ แม้ไม่พบบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส แต่ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรม หากมีบุคคลใดติดเชื้อ ในระหว่างการรวมกลุ่มพูดคุยกันหรือถ่ายภาพ ก็จะสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

ตำรวจระบุว่าระหว่างทำกิจกรรม นายอนุรักษ์ยังได้ชี้แจงกับกลุ่มคนประมาณ 8 คน ซึ่งช่วยกำกับดูแลการทำกิจกรรม เพราะมีการเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น “สตาฟ” และมีการแบ่งหน้าที่ในการแจกดอกไม้และดูแลบริเวณที่ทำพิธีรำลึก ทั้งหลังจากวางดอกไม้และจุดเทียนแล้ว นายอนุรักษ์ได้ให้ผู้เข้าร่วมมารวมตัวกันถ่ายรูป โดยไม่เว้นระยะห่าง และบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย จึงเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ผู้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ทั้ง 7 คน เป็นกลุ่มประชาชนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาเป็นผู้ช่วยกำกับดูแลกิจกรรมดังกล่าว ทั้ง 7 คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพี่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนภายใน 15 วัน พนักงานสอบสวนได้นัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 31 ก.ค. 63 เวลา 9.00 น.

จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการกล่าวหาดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง ต่อประชาชนอย่างน้อย 23 ราย รวมเป็นจำนวนคดีทั้งสิ้น 7 คดีแล้ว ในจำนวนนี้แยกเป็นกรณีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการถูกอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 4 คดี และกรณีทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองจำนวน 3 คดี

 

X