เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สว. (สอบสวน) สน.ลุมพินี และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรี พรวรรณ์ รอง สว. (สอบสวน) สน.ลุมพินี เดินทางไปที่โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ “ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์” นักกิจกรรมอายุ 24 ปี สืบเนื่องจากการร่วมกิจกรรมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ซึ่งเขาถูกกล่าวหามาก่อนหน้านี้
ในคดีนี้เอง ยังมีนักกิจกรรมอีก 5 รายที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ธานี สะสม และนักกิจกรรมเยาวชนอีก 1 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีแยกต่างหาก และตำรวจได้ทยอยแจ้งข้อหาเพิ่มเติม โดยกรณีจตุภัทร์ ยังมีการเข้าไปแจ้งข้อหาถึงในเรือนจำเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 5 ตุลาคม พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้แจ้งทนายความว่าจะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับณัฐวุฒิถึงโรงพยาบาล แม้ว่าผู้ต้องหาจะยังอยู่ในระหว่างรับการรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังทนายความชี้แจงเรื่องสุขภาพของณัฐวุฒิแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยืนกรานที่จะเข้าไปพบณัฐวุฒิเช่นเดิม
ในวันที่ 6 ตุลาคม พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ให้ทนายความของสภาทนายความเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนด้วย อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิไม่ประสงค์จะใช้ทนายความของสภาทนายความ และต้องการใช้ทนายความที่ไว้วางใจ แม้ผู้ต้องหาจะแสดงความประสงค์ชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่ยอมให้ทนายความที่ณัฐวุฒิวางใจเข้าร่วมการสอบสวน
ตร.แจ้ง 2 ข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.จราจร” ย้อนหลังเกือบ 1 ปี
พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปไว้ว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2563 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และประกาศให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ในวันถัดไป เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.
ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม เวลา 16.10 น. จตุภัทร์ เดินทางมาถึงบริเวณแยกราชประสงค์ และแจ้งแนวทางทำกิจกรรมชุมนุมคือการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนั้นจตุภัทร์ได้ให้ประชาชนตะโกนขับไล่ และประกาศยุติการชุมนุมในเวลา ประมาณ 20.30 น. ประกอบกับมีการกล่าวว่า “เราจะมีโทรโข่งกระจายกันอยู่ทั่วไปนะครับ” “กระจายตามจุดๆ ราษฎรคนไหนอึดอัดอยากระบาย อยากจะออกมาพูดได้เลยนะครับ” ในระหว่างนั้นเอง อรรถพล บัวพัฒน์ และ ธานี สะสม ได้ร่วมปราศรัยในประเด็นต่างๆ อาทิ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และการบริหารงานของรัฐบาลยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อเวลา 20.02 น. ณัฐวุฒิได้ขึ้นปราศรัยกับผู้มาร่วมชุมนุมบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล และปัญหาการเป็นอยู่ของประชาชน เขาได้ปราศรัยจนถึงเวลาประมาณ 20.15 น. จึงผลัดเปลี่ยนให้คนอื่นๆ ขึ้นมาทําการปราศรัยต่อไป
จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.15 น. ณัฐวุฒิ หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมดังกล่าว ได้กล่าวประกาศยุติการชุมนุม ประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ฯ ดังกล่าวก็ได้ทยอยเดินทางกลับ
ผู้กล่าวหากับพวกจึงได้ร่วมกันรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ และได้จัดทํารายงานสืบสวนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการ ต่อมาผู้กล่าวหาได้รับมอบหมายจากผู้กํากับการ สน.ลุมพินี ให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับจตุภัทร์กับพวกตามข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และ ไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค” อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ ข้อกําหนดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับหนังสือจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ลงวันที่ 5 กันยายน 2564 โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับณัฐวุฒิ และผู้ต้องหาคนอื่นใหม่ ดังนี้
- “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด”
- “ร่วมกันกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจรจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือ ความสะดวกในการจราจร”
ในชั้นสอบสวน ณัฐวุฒิให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน