นิสิต มมส. ฉีกหมายเรียกหลังเข้ารับทราบข้อหา ย้ำไม่กลัวที่รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลั่นแกล้ง

31 ส.ค. 2563 เวลา 10.20 น. “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิกแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม ซึ่ง สภ.เขวาใหญ่ ออกหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

ภาพกิจกรรมอิสานสิบ่ทน จากประชาไท

ด้านหน้า สภ.เขวาใหญ่ มีการวางแผงเหล็กกั้นทางขึ้น โดยเว้นช่องให้เดินผ่านเข้าได้ พร้อมทั้งมีการจัดเตรียมกำลังตำรวจในเครื่องแบบราว 50 นาย ประจำอยู่ทั้งสองด้านของทางขึ้น เจ้าหน้าที่นอกเครื่องประมาณ 10 นาย กระจายตัวอยู่คอยถ่ายรูปและตั้งกล้องวีดิโอบันทึกภาพ ประชาชน นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เดินทางมาให้กำลังใจพงศธรณ์

หลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและกล่าวปราศรัยบนรถเครื่องเสียงกล่าวถึงการดำเนินคดีเขาในครั้งนี้ว่า เป็นคุกคามประชาชน ด้วยการยัดคดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศบค.บอกว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีเป้าหมายปิดกั้นการชุมนุม และ 1 เดือนที่ผ่านมาไม่มีใครติดโควิด พงศธรณ์พร้อมทนายความจึงเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน โดยมีแม่ อาจารย์ฝ่ายพัฒนานิสิต และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวม 3 ท่าน เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

พ.ต.ท.ไพบูลย์ ฐิติญาณวิโรจน์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองเขวาใหญ่ ในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ได้ชี้แจงกระบวนการในวันนี้และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ก่อนแจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดี และแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ 

กรณีเครือข่ายนักศึกษาจัดกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” โดยมีพยานหลักฐานว่า พงศธรณ์เป็นแกนนำในการประชาสัมพันธ์ทางดฟซบุ๊ก แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อถึงวันดังกล่าวมีการจัดชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาล มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลุ่มผู้ชุมนุมสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากนั่งและยืนเบียดเสียดกันโดยเว้นระยะห่างไม่ถึง 1 ม., ผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย, สถานที่ชุมนุมมีทางเข้าออกหลายทางโดยไม่ได้จัดจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองและจัดให้ผู้ชุมนุมล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้ครบถ้วนตามหลักวิชาการในการป้องกันโควิด-19 อันจะเป็นเหตุให้มีการแพร่ได้

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งห้ามผู้ใดดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามข้อกำหนดมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 5) ข้อ 2(2), พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ มาตรา 34(6), และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4

พงศธรณ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563

หลังพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันและให้พงศธรณ์พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพงศธรณ์โดยไม่ต้องมีการประกันตัวแต่อย่างใด

พงศธรณ์ยังได้แถลงหลังออกมาหน้า  สภ.เขวาใหญ่ อีกว่า เขาจะสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ว่าจะมีการดำเนินคดีเขาอีกกี่คดี แต่การดำเนินคดีจะไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ของเขาและประชาชนได้ และการต่อสู้จะยกระดับเข้มข้นขึ้น โดยประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามจะเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนด้วย จากนั้น พงศธรณ์ได้ฉีกหมายเรียกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และทิ้งลงพื้นพร้อมกระทืบซ้ำ เป็นสัญลักษณ์ว่า กฎหมายที่นำมาใช้กลั่นแกล้งประชาชนไม่ได้ทำให้ประชาชนกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะยิ่งเพิ่มไฟแค้นและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 5 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 19 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 65 คน แทบทั้งหมดยังอยู่ในชั้นสอบสวนหรือผู้ถูกกล่าวหาบางคนยังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม)

เฉพาะการชุมนุมในภาคอีสานซึ่งมีขึ้นแทบทุกจังหวัดหลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.ค. 2563 มีการออกหมายเรียกนักศึกษา 4 ราย ใน 3 คดี จากการชุมนุมใน 3 จังหวัด ได้แก่ การชุมนุม #อีสานสิบ่ทน ที่มหาสารคาม เมื่อ 22 ก.ค. 2563, #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่ขอนแก่น เมื่อ 23 ก.ค. 2563 (2 ราย) และ #อุดรสิบ่ทน ที่อุดรธานี เมื่อ 24 ก.ค. 2563 

นอกจากนี้ มีข้อมูลว่า สภ.เมืองอุดรธานี ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 1 ราย ในข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ คาดว่า จากกิจกรรมในช่วงเดือน ส.ค. 63 ซึ่งรัฐบาลขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 4 และออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ที่ระบุให้การชุมนุมใดๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

โดยผู้ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมในจังหวัดอุดรฯ และขอนแก่น จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 และ 10 ก.ย. 2563 ตามลำดับ 

X