26 มีนาคม ครบระยะเวลาสองปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั่วราชอาณาจักร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เท่ากับเป็นระยะเวลาครบสองปีที่การชุมนุมสาธารณะถูกควบคุมบังคับภายใต้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน พร้อมๆ กับประเด็นการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองที่แหลมคมและเข้มข้นขึ้นตลอดสองปีที่ผ่านมา อันนำไปสู่การดำเนินคดีทางการเมืองที่มากเป็นประวัติการณ์ในสังคมไทย
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 จนถึงวันที่ 25 มี.ค. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,447 คน คิดเป็นจำนวนอย่างน้อย 629 คดี
ภายใต้คดีจำนวนมากดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์ทางคดีเหล่านี้ ดังต่อไปนี้
.
.
1. การดำเนินคดี ตีความกฎหมายไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19
ตั้งแต่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มีความร้ายแรง โดยมีมาตรการควบคุมโรคต่างๆ เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ปิดสถานที่ รวมถึงการห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ฯลฯ โดยมีการออกข้อกำหนดการห้ามการชุมนุมทับซ้อนกันหลายฉบับ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโรคระบาด ไม่ได้ทวีความรุนแรงอยู่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าช่วงกลางปี 2563 มีการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อผู้ชุมนุม แม้ไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดเลย หรือแม้แต่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองเหล่านี้เป็นไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ได้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคในสถานที่รวมกลุ่มอื่นๆ เช่น บางช่วงรัฐเปิดให้มีการจัดกิจกรรมเทศกาลต่างๆ ได้ หรือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ แต่การควบคุมการชุมนุมสาธารณะกลับดำเนินไปในลักษณะเดิมโดยตลอด
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แม้ไม่มีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสแพร่เชื้อโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่เป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์โดยการขับขี่ยานพาหนะไปด้วยกันตามท้องถนน เปิดไฟ บีบแตร ชูสามนิ้ว แสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งมีคดีลักษณะนี้จนปัจจุบันมีจำนวนอย่างน้อย 96 คดีแล้ว
.
2. ใช้อำนาจออกข้อกำหนดหรือประกาศทับซ้อนไปมาในเรื่องเดียวกัน
ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามการชุมนุมฯ ทำกิจกรรม จำนวน 12 ฉบับ โดยมีการเปลี่ยนรายละเอียดแต่ละฉบับ และมีเนื้อหาทับซ้อนสับสนกันไปมา (ดูข้อมูลการสืบค้นโดย iLaw)
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังมีการออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามการชุมนุมฯ จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งมีการเปลี่ยนรายละเอียดเนื้อหาแต่ละฉบับไปมาเช่นกัน (ดูข้อมูลการสืบค้นโดย iLaw)
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ยังอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ในการออกประกาศห้ามทำกิจกรรมรวมตัวกันเป็นจำนวนต่างๆ ตามสถานการณ์โควิดในแต่ละพื้นที่ ทั้งประกาศของแต่ละจังหวัดยังมีการออกเปลี่ยนไปมาหลายครั้งด้วย
รูปแบบการออกข้อกำหนดหรือประกาศเช่นนี้ นำไปสู่สับสนไม่เพียงแต่กับประชาชน ที่ไม่ทราบว่าในแต่ละช่วงเวลามีข้อกำหนดหรือประกาศฉบับใดบังคับใช้อยู่บ้าง แม้แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง พบว่าในบางคดี พนักงานสอบสวนต้องเรียกผู้ต้องหาไปแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ หรือแจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากการแจ้งข้อหาในครั้งแรกนั้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผิดฉบับ เป็นฉบับที่ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือไม่ตรงกับฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
ทั้งแต่ละคดีการชุมนุม ยังถูกกล่าวหาด้วยข้อกฎหมายที่ทับซ้อนไปมาจำนวนมาก ทั้งกล่าวหาด้วยข้อกำหนดที่ออกโดย พล.อ.ประยุทธ์, กล่าวหาตามประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุด และกล่าวหาตามประกาศของจังหวัดนั้นๆ ทำให้แต่ละคดีเต็มไปด้วยรายละเอียดข้อกล่าวหาที่สับสนลักลั่นกัน
อีกทั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา ข้อกำหนดและประกาศต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย หรือฐานอำนาจในการออกประกาศ ดังที่ศาลจังหวัดพะเยาเพิ่งเห็นว่าประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ
.
.
3. แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทับซ้อน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ในจำนวนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่าที่ทราบข้อมูลดังกล่าว พบว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 41 คดี ที่ตำรวจมีการกล่าวหาข้อหานี้ ไปพร้อมกับ ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แม้ตาม มาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะกำหนดมิให้บังคับใช้ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่ทั้งตำรวจและอัยการยังมีการกล่าวหาและสั่งฟ้องคดีทั้งสองข้อหานี้พร้อมกัน
ในขณะที่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้มีคำพิพากษาที่ชี้ถึงประเด็นข้อกฎหมายนี้โดยตรง มีเพียงคดีชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 ที่วงเวียนใหญ่ ที่ศาลแขวงธนบุรีมีคำพิพากษาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม จึงไม่เป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคดีจากการชุมนุมทางการเมือง ที่ตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แม้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อยู่ จำนวนไม่น้อยกว่า 74 คดี โดยผู้ต้องหาในหลายกรณียินยอมให้ตำรวจปรับในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะนี้เพื่อให้คดีสิ้นสุด แต่มีตัวอย่างคดีชุมนุมที่จังหวัดลำพูน 2 คดี ที่อัยการยื่นขอถอนฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หลังจากฟ้องคดีไปแล้ว และกำลังจะเริ่มการสืบพยาน แต่ไม่ได้มีการระบุเหตุผลแน่ชัดในการถอนฟ้อง (ดูคดีที่ 1 และคดีที่ 2)
สถานการณ์การบังคับใช้ “กฎหมาย” ทับซ้อนกันต่อการชุมนุมที่ดูเหมือนจะขัดต่อบทบัญญัติเช่นนี้ จึงยังต้องจับตาการพิจารณาในหลายคดีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไป
.
.
4. อัตราโทษที่สูงกว่า “กฎหมาย” ควบคุมการชุมนุมช่วงหลังรัฐประหาร
ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้มีอัตราโทษที่รุนแรงกว่าการควบคุมการชุมนุม ในช่วงที่บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งโดยมากผู้จัดกิจกรรมมักถูกกล่าวหาในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ขณะที่โทษของการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีอัตราสูงกว่าการควบคุมการชุมนุมในช่วงหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ที่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามการชุมนุมทางการเมือง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต่อมาเมื่อเปลี่ยนมาใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่กำหนดห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ก็กำหนดโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ในยุค คสช. “ความผิด” เหล่านี้ ถูกบังคับให้ต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร
จะเห็นได้ว่า ใน “กฎหมาย” ที่ถูกใช้ควบคุมการชุมนุมสาธารณะของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีอัตราโทษที่สูงกว่าสถานการณ์ในช่วงปกติ และแม้แต่ช่วงหลังการรัฐประหาร ที่คณะรัฐประหารพยายามควบคุมการชุมนุมต่อต้านอย่างเข้มข้นด้วย
.
5. เนื้อหาการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี มีแนวโน้มของการเลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายคัดค้านรัฐบาล
ท่ามกลางจำนวนคดีไม่น้อยกว่า 629 คดีนี้ พบว่ามีรายงานเพียงคดีเดียว ที่ประชาชนผู้ชุมนุมซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะปกป้องรัฐบาลและปกป้องสถาบันกษัตริย์ ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ การชุมนุมแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 ซึ่งต่อมามีผู้ชุมนุม 2 ราย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ปทุมวัน และแม้จะมีการชุมนุมหรือกิจกรรมสาธารณะในประเด็นลักษณะนี้อีกหลายครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่พบรายงานการดำเนินคดีเพิ่มเติม หรือการควบคุมจำกัดที่เข้มข้น ยังไม่นับการรวมตัวจัดกิจกรรมต่างๆ ของทางราชการ ที่มีข้อกำหนดงดเว้นให้ไม่เป็นความผิด
ขณะที่คดีที่เหลือแทบทั้งหมด เป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องในการขับไล่รัฐบาล หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีบางส่วนที่เป็นการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่การเรียกร้องทางการเมืองโดยตรง อาทิ การชุมนุมของกลุ่ม P-move, การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, การชุมนุมของภาคี #Saveบางกลอย, การชุมนุมของกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน ในประเด็นเรื่องประกันสังคม หรือการชุมนุมของเครือข่ายแรงงาน เรียกร้องการแก้ไขปัญหาแรงงาน เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า โดยภาพรวมของการบังคับใช้ข้อหาเรื่องการชุมนุมมั่วสุมฯ นี้ จึงมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติ และมุ่งเน้นต่อการเคลื่อนไหวที่นับได้ว่าเป็นปรปักษ์หรืออยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลและอำนาจรัฐเป็นหลัก ทำให้การบังคับใช้ “กฎหมาย” เช่นนี้ มีความเป็น “การเมือง” อย่างยิ่ง
.
.
6. คดีกระจายตัวใน 46 จังหวัดทั่วประเทศ
คดีจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นในรอบสองปีที่ผ่านมา ยังมีลักษณะกระจายตัวอย่างกว้างขวางไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ไม่ใช่เพียงคดีในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่เท่านั้น
สถานการณ์การดำเนินคดีอาจแบ่งเป็น 2 ระลอกใหญ่ ได้แก่ ระลอกหลังการเริ่มต้นชุมนุมของเยาวชนปลดแอก ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ตามมาด้วยการชุมนุมสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ในจังหวัดต่างๆ และทำให้เกิดการดำเนินคดีกระจายไปในหลายจังหวัด ทั้ง เชียงใหม่, ลำพูน, พะเยา, เชียงราย, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม, สมุทรปราการ, ระยอง เป็นต้น
ระลอกต่อมา คือช่วงการเริ่มต้นชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทำให้ตำรวจมีการกล่าวหาดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ในช่วงแรกยังไม่มีคดีความเกิดขึ้น ก็พบว่ามีคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 16 คดี ใน 9 จังหวัด หรือจังหวัดในภาคกลางอย่างสิงห์บุรี, นครนายก, สระบุรี, ลพบุรี, ฉะเชิงเทรา ก็พบว่ามีคดีจากการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงคาร์ม็อบนี้ (ดูรายงานคดีคาร์ม็อบ)
แม้แต่ในจังหวัดที่ไม่ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็พบว่ามีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในข้อหาอื่นๆ อยู่ด้วย อาทิ ที่จังหวัดนครสวรรค์มีการปรับผู้ร่วมคาร์ม็อบเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมฯ, ที่จังหวัดหนองคาย ยโสธร หรือกาญจนบุรี ตำรวจมีการปรับผู้ทำกิจกรรมคาร์ม็อบในเรื่องใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นการใช้ข้อหานี้ปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เป็นไปในระดับ “นโยบาย” ของรัฐ ทำให้คดีเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่เป็นไปในวงกว้าง ในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจไม่เคยมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน
.
.
7. แจ้งข้อหาเหวี่ยงแห แม้ไม่ใช่ผู้จัดหรือแกนนำก็โดนไปทั่ว
สถานการณ์ของคดีชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกประเด็นหนึ่ง คือมีคดีจำนวนมากที่ตำรวจกล่าวหาแบบเหวี่ยงแหต่อผู้ร่วมชุมนุม แม้ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือมีบทบาทเป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งนั้นๆ เพียงแค่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ร่วมขึ้นปราศรัย หรือผ่านไปเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ถูกกล่าวหาไปด้วย
ทำให้มีหลายคดี ที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก เช่น คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 มีผู้ถูกล่าวหาแยกเป็นสองคดี รวม 30 คน โดยแม้แต่นักดนตรี หรือผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมเฉยๆ ก็ถูกกล่าวหา, คดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน 29 ก.ค. 2563 มีผู้ถูกกล่าวหารวมถึง 38 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมที่เข้าไปร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด, คดีหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมหรือผ่านอยู่บริเวณนั้นถึง 99 คน ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชน 6 รายด้วย หรือคดีชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุมถึง 37 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงถึง 31 ราย หลายคนยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย เป็นต้น
ขณะที่แนวทางการวินิจฉัยของศาลและอัยการนั้น หลายคดีเห็นว่าหากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องดูแลมาตรการป้องกันโรคในระหว่างจัดกิจกรรม หรือมีหน้าที่ต้องแจ้งขออนุญาตจัดกิจกรรมจากเจ้าพนักงาน
.
8. ผู้แจ้งความดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีลักษณะ “เลือก” แจ้งความเจาะจงตัวบุคคล
การดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนใหญ่พบว่าเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่มีการชุมนุม ปรากฏว่าผู้ถูกดำเนินคดีชุมนุมหลายคดีเป็นบุคคลซ้ำ โดยเฉพาะนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ประชาชนที่ออกไปชุมนุมบ่อยครั้ง หรือมีบทบาทสำคัญ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตาม บันทึกภาพใบหน้า ชื่อ-นามสกุล ในการทำกิจกรรมไว้ หรือที่เจ้าหน้าที่มีการใช้ถ้อยคำว่า “บุคคลเป้าหมาย” ทำให้สามารถระบุตัวบุคคลได้ง่าย จะเห็นได้ว่านักกิจกรรม หรือผู้ที่ออกมาชุมนุมบ่อยครั้งมักจะมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ติดตัวเป็นจำนวนมาก
การพิจารณาข้อกำหนดห้ามการชุมนุม รวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคนั้น ในกรณีที่มีผูุ้ชุมนุมรวมตัวกันหลายร้อยไปจนถึงหมื่นคน แต่กลับมีเพียงผู้ร่วมชุมนุมบางคนถูกเลือกดำเนินคดีเท่านั้น จนเป็นที่น่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หลักเกณฑ์ใดในการเลือกแจ้งความแต่บุคคลบางคนเท่านั้น
.
.
9. ระยะการต่อสู้คดีที่ยาวนาน สร้างภาระให้นักกิจกรรมและประชาชน
การถูกดำเนินคดีอาญาใดๆ นั้น ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นผู้มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เริ่มตั้งแต่การเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน พนักงานสอบสวนก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี เพื่อมีความเห็นทางคดี ก่อนจะนำส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีไปให้กับพนักงานอัยการพิจารณา
ระยะการพิจารณาสำนวนคดีว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ของอัยการนั้น ไม่มีกรอบกำหนดที่แน่ชัด แต่หากยังไม่มีคำสั่งทางคดีใดๆ ผู้ต้องหาจะถูกกำหนดให้ต้องเดินทางเข้าไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าอัยการจะมีคำสั่งทางใดทางหนึ่งในคดี
เมื่ออัยการมีความเห็นให้ส่งฟ้องคดีต่อศาล ผู้ต้องหามีภาระที่จะต้องประกันตัว และมีวันนัดหมายสำคัญอย่างน้อย 3 นัดหมาย คือการนัดพร้อมสอบถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน, วันนัดหมายสืบพยานโจทก์และจำเลยมากน้อยตามแต่ลักษณะคดี และวันฟังคำพิพากษาของศาลอีก 1 วัน ยังไม่นับการอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาต่อไป
สรุปรวบยอดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการพิจารณาคดีอาญาหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ไปจนกระทั่งบางคดีใช้เวลากว่า 2 ปีหรือมากกว่านั้น โดยพบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มีการเลื่อนการพิจารณาคดีบางส่วน ทำให้คดียืดเยื้อออกไป
ตลอดระยะเวลานี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลย มีหน้าที่ต้องจัดการเวลาให้ว่างและเดินทางไปรายงานตัวตามวันนัดหมาย เพื่อยืนยันตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งบางคดีที่เกิดขึ้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่เกิดเหตุ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก
สุดท้ายแม้ผลคดีจะออกมาในรูปแบบของคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ตาม แต่ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” มาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ ทั้งยังไม่ปรากฎว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้ออกแบบมาตรการเยียวยาหรือรับรองความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อประชาชนคนหนึ่งในนามของ “ความยุติธรรม” แต่อย่างใด
ภาระทางคดีเช่นนี้ยังส่งผลเป็นการลดทอนการเคลื่อนไหวหรือกลายเป็นอุปสรรคในการแสดงออกของนักกิจกรรมเพิ่มขึ้นด้วย กล่าวได้ว่าการดำเนินคดีเหล่านี้มีลักษณะเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรือการฟ้องปิดปาก (SLAPPs)
.
ดูตารางคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี และรายละเอียดคำวินิจฉัย https://tlhr2014.com/archives/41328
.