คดีชุมนุมไล่รัฐบาลปี 63 อัยการ ‘ถอนฟ้อง’ ข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลลำพูนพิพากษาปรับ 200 บาท ข้อหาเครื่องเสียง-กีดขวางทางเท้า

10 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำพูนนัดสืบพยานในคดีของรตี ช่วงแก้ว ศิลปินงานฝีมือในจังหวัดลำพูน สืบเนื่องจากเหตุการชุมนุมบริเวณประตูท่านาง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ซึ่งรตีถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางเท้า และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเกิดการชุมนุมของประชาชนในจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 บริเวณสะพานท่านาง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน หลังการสลายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 อีกทั้งมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ถูกคุมขังในขณะนั้น และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดี รตีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและพร้อมจะต่อสู้คดีมาตลอดตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ จนกระทั่งชั้นศาล ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด เพียงแต่เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น การกระทำของเธอไม่ควรเป็นความผิดอาญา การแสดงออกทางการเมืองควรเป็นสิ่งที่ทำได้ แม้ข้อหาทั้งหมดจะมีอัตราโทษปรับก็ตาม

คำให้การของจำเลยในชั้นศาล โดยสรุประบุว่า จำเลยเพียงได้รับข่าวสารประชาสัมพันธ์จากสื่อออนไลน์ว่าจะมีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบที่ประตูท่านาง เมื่อจำเลยเห็นจึงแชร์รูปภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแจ้งข่าวสารแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังวิญญูชนทั่วไปย่อมกระทำ การบังคับใช้กฎหมายแก่จำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างมาก ทั้งประชาชนทั่วไปย่อมจะเกิดความระแวงสงสัยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จำเลยเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง โดยสงบปราศจากอาวุธ

สำหรับข้อหากีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ นั้น รตีให้การปฏิเสธว่า ทางเท้าเป็น “ที่สาธารณะ” มีไว้เพื่อประชาชนใช้สอย โดยประชาชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าตนเองมีสิทธิจะยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมใด ๆ บนทางเท้าได้ และ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รตีให้การว่าการใช้โทรโข่งขนาดเล็กในการชุมนุมสาธารณะไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2493 ในปัจจุบันก็สามารถพบเห็นการใช้เครื่องขยายเสียงได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

เดิมคดีมีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในช่วงปี 2564 แต่มีการเลื่อนนัดออกมาถึงสองครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จนกำหนดนัดใหม่ในช่วงวันที่ 10-11 ก.พ. 2565

.

.

อัยการลำพูนยื่นขอถอนฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ – จำเลยรับสารภาพข้อหาที่เหลือ ศาลจึงพิพากษาปรับ 200 บาท

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์เพียง 2 วัน พนักงานอัยการจังหวัดลำพูนได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องบางข้อหาต่อศาล ระบุ “โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลย ในความผิดฐานจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมงตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 4, 10, 14 และ 28 ส่วนความผิดฐานอื่นตามคำฟ้องโจทก์ยังคงประสงค์ดำเนินคดีต่อไป”

วันนี้ เวลา 9.30 นายวรเกียรติ นวลสุวรรณ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลำพูน ออกพิจารณาคดีนี้ สอบถามจำเลยและทนายความว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องเฉพาะข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำเลยจะคัดค้านหรือไม่ ทนายความจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ส่วนข้อหากระทำการใดๆ บนทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จำเลยให้การรับสารภาพ

กระทั่งเวลา 10.30 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำเลยไม่คัดค้าน คงเหลือ พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โจทก์แถลงเมื่อจำเลยรับสารภาพและเป็นคดีลหุโทษ โจทก์ไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ

ศาลพิพากษาจำเลยมีความผิดข้อหากระทำการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะกีดขวางทางจราจร และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ลงโทษจำเลยปรับกระทงละ 100 บาททั้ง 2 กระทง รวมปรับ 200 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับ 100 บาท

.

รตีและประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองลำพูน เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63

.

รตี กับชีวิต ติดคดีความในช่วงปีเศษที่ผ่านมา

“ประเทศชาติก็คือประชาชน ถ้าประชาชนอยู่เงียบๆ ไม่มีเสียง จะเป็นประเทศชาติที่ไร้ทิศทาง

การแสดงออกเป็นสิทธิที่ควรกระทำได้”

หลังจากที่รตีถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ถูกคุมขังใต้ถุนศาลเพื่อรอการปล่อยตัวชั่วคราว และยังมีภาระหน้าที่ในการเดินทางไปรายงานตัวต่อตำรวจ-อัยการ และมาตามนัดของศาลตลอดปีที่ผ่านมา เพียงเพราะเธอเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะ และเลือกที่จะ “ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา” ซึ่งในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวนเสนอว่าหากรับสารภาพในชั้นนี้ จะให้ปรับทั้ง 3 ข้อหา เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่รตีปฏิเสธที่จะรับสารภาพ ขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เนื่องจากเห็นว่าเธอไม่ได้ทำความผิดใดๆ

หลังจากการต่อสู้คดีมา 1 ปีเศษ จนมาถึงวันนี้ที่อัยการถอนฟ้องในหนึ่งข้อหา รตีรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมและได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าด้านการสูญเสียรายได้เพราะต้องมาตามนัดต่างๆ หลายครั้ง จนถึงผลกระทบทางจิตใจที่มีความกังวลทางคดีความ รู้สึกอยู่ตลอดว่าตนเองได้รับ “ความไม่ยุติธรรม” ภายใต้การถูกดำเนินคดีใน “กระบวนการยุติธรรม”

“อัยการไม่ควรฟ้องตั้งแต่แรก เพราะการชุมนุมสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ความผิด มันเป็นสิ่งที่กระทำได้”

รตีเห็นว่า ตำรวจและอัยการควรจะมีมาตรฐาน และทัศนคติต่อการชุมนุมสาธารณะที่ดีกว่านี้ ควรมองว่าสิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้ ไม่ใช่ความผิด ทั้งเธอเองก็ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มจะจัดการชุมนุมในวันที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว เป็นเพียงผู้เข้าร่วม และขึ้นไปร่วมพูดผ่านโทรโข่ง

เธออยากเรียกร้องให้ทั้งตำรวจและอัยการมีการกลั่นกรองคดีต่างๆ ที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง และไม่ควรมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เธอยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า

“โลกไม่เหมือนเดิมแล้วที่คนจะอยู่เงียบๆ ในบ้านไม่ปริปากออกมาพูดจา ตอนนี้เป็นโลกของการแสดงความคิดเห็น”

.

X